21 ตุลาคม 2562

คลาร่า บาร์ตัน ผู้ได้รับสมญานามว่า “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล แห่งอเมริกา”

มารู้จัก คลาร่า บาร์ตัน ผู้ได้รับสมญานามว่า “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล แห่งอเมริกา” เรื่องราวสนุก ๆ เพื่อน้องพี่พยาบาลในวันพยาบาลแห่งชาติครับ
Clarissa Harlowe Barton เกิดที่แมสสาซูเซตต์ สหรัฐอเมริกาในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา ที่มีแต่ความขัดแย้ง ความสับสนและลำบาก ถ้าจำได้ไนติงเกลก็เกิดในยุคสงครามเช่นกัน โดยยุคนั้นคือสงครามไครเมีย ในอดีตนั้นเธอโชคดีที่พ่อแม่เห็นความสำคัญของการศึกษาและการรู้หนังสือ ในยุคที่สุภาพสตรียังไม่มีสิทธิมีเสียงเหมือนในปัจจุบันโอกาสรู้หนังสือมีไม่มาก แต่บาร์ตันกลับได้รับการศึกษาและทำได้ดีเสียด้วย เพียงแต่ว่าสมัยเด็ก ๆ บาร์ตันเป็นเด็กขี้อายและมีปัญหาด้านการเข้าสังคมเอามาก ๆ เลย
แต่ทุกอย่างย่อมมีจุดเปลี่ยนและที่มา ในยุคสมัยนั้น การแพทย์การพยาบาลในอเมริกาไม่ได้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากนัก เมื่อเธออายุ 10 ปีเธอได้มีโอกาสพยาบาลพี่ชายเธอที่ตกหลังคา เธอใฝ่รู้และสอบถามหมอที่รักษาว่าจะทำอย่างไร รักษาอย่างไร รวมทั้งฝึกการรักษาและพยาบาลโดยทำกับพี่ชายของเธอเองภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ที่แม้แต่ยุติการรักษาไปแล้วแต่เธอก็ยังพยาบาลต่อจนพี่ชายเธอหายดี เธอได้เปรียบตรงรู้หนังสือ ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย โอ้...การศึกษามันดีแบบนี้นั่นเอง
นอกเหนือจากนั้นโอกาสที่เธอได้รับ ยังช่วยให้เธอมีจิตใจที่ดีและได้เรียนรู้การพยาบาลครอบครัวด้วย ถ้าจำได้เธอเป็นคนขี้อายและมีปัญหาการเข้าสังคม เธอมีโอกาสได้ไปดูแลเด็ก ๆ หลายคนที่ญาติฝ่ายพ่อของเธอเสียชีวิตจากสงคราม เธอต้องช่วยซ่อมแซมบ้าน ดูแลสอนหนังสือร่วมกับครู จนเธอสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ๆ และกล้าแสดงออก มีความสามารถในการสอน สุดท้ายก็ได้เข้าเรียนในวิทยาลัยครู จบออกมาเป็นครูที่มีชื่อเสียงเสียด้วย
การงานอาชีพเธอน่าจะไปได้ดีแต่ก็ต้องติดขัดเพราะความเป็นสตรี ในยุคนั้นยังมีความไม่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับเพศอีกมาก จนเธอต้องระเห็จไปทำงานในรัฐบาลกลางที่วอชิงตันดีซี ที่นั่นเธอได้ยืนหยัดสู้เพื่อสิทธิสตรีและไม่ยอมให้ชายมาข่มเหง จนเธอได้รับตำแหน่งสูงและเงินเดือนเทียบเท่าชายในสำนักงานของรัฐบาล อย่าลืมว่าแต่ก่อนเธอเป็นเด็กขี้อายและมีปัญหา แต่เธออดทนและพยาบามต่อสู้จนมีสิทธิมีเสียงในสังคมและช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาสด้วย
จนเมื่อสงครามกลางเมืองอเมริกันอุบัติขึ้น วันหนึ่งหน่วยทหารจากแมสสาซูเซตต์บ้านเกิดของเธอที่ทำการรบในสงครามถูกส่งมารักษาตัวที่วอชิงตัน เธอจึงตัดสินใจเข้าช่วย โดยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนำเจ้าหน้าที่พยาบาลมาทำการรักษาและช่วยตั้งแต่สถานีรถไฟไปจนถึงหน่วยพยาบาล ต้องบอกว่าการกระทำแบบนี้สมัยก่อนไม่ง่าย ในสภาพสังคมที่สุภาพสตรีไม่ได้รับหน้าที่ให้ยุ่งเกี่ยวในสงคราม แต่เธอยอมไม่ได้ที่จะให้เพื่อนมนุษย์เสียชีวิต โดยเริ่มจากคนที่เธอรู้จัก เธอจัดการประสานงาน ติดต่อขอความช่วยเหลือยาและเวชภัณฑ์ นำทีมพยาบาลเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสงคราม
ความพยายามของเธอเป็นที่ประจักษ์ของกองทัพ เธอได้รับอนุญาตให้ดำเนินการพยาบาลและจัดหาความช่วยเหลือในกับกองทัพในแนวหน้าเลย ที่เด็ดกว่านั้นคือเธอไม่เลือกข้างสักเท่าไร เธอส่งเวชภัณฑ์ไปช่วยเพื่อนมนุษย์ฝั่งตรงข้าม ไปช่วยทีมผ่าตัดฝั่งตรงข้าม พยาบาลทหารฝั่งตรงข้าม เข้าไปดูแลทหารหน่วยที่ตัวเองต้องรับผิดชอบในทุกเวลา ในทุกสถานที่ของสงคราม เคยมีครั้งหนึ่งกระสุนฝั่งตรงข้ามยิงมาทะลุชุดพยาบาลของเธอไปสังหารทหารบาดเจ็บที่เธอกำลังปฐมพยาบาลอยู่ แต่เธอก็ไม่ย่อท้อและทำต่อไป จนได้รับสมญา Angel of the Battelfield, Florence Nightingale of America
หลังสงครามกลางเมืองยุติ เธอยังช่วยเหลือตั้งศูนย์เพื่อช่วยญาติของทหารสืบค้นหาทหารที่หายไปอีกด้วย งานที่เธอทำในช่วงสงครามและหลังสงครามทำให้เธอได้รับเกียรติให้ไปบรรยายและจัดตั้งหน่วยช่วยเหลือสตรีด้อยโอกาสและรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (สงครามสร้างวีรสตรีจริง ๆ คุณไนติงเกลก็มีต้นเรื่องจากการเข้าร่วมในสงครามไครเมียเช่นกัน)
ปี 1868 เธอได้ไปยุโรปและได้เข้าร่วมกับกาชาดสากลที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เธอได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์สงคราม franco-prussian ในฐานะกาชาด เธอรู้สึกประทับใจและทางกาชาดสากลได้เชิญชวนให้เธอไปทำกาชาดที่อเมริกา
หลังจากเธอกลับมาที่อเมริกา เธอจึงได้รับเกียรติมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงการจัดตั้งกาชาดสากลครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ความเห็นชอบของสภาคองเกรสและประธานาธิบดีสหรัฐให้จัดตั้งกาชาดอเมริกาที่ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือทหารและประชาชนในช่วงสงครามเท่านั้นแต่ยังขยายงานไปถึงการประสบภัยธรรมชาติ ได้เป็นประธานกาชาดอเมริกาในสมัยแรก ๆ
ถือเป็นบุคคลสำคัญทางการพยาบาลอีกหนึ่งท่านที่แม้ไม่ได้จบการพยาบาลโดยตรง แต่ได้รับการยกย่องให้เป็น พยาบาลที่เป็นต้นแบบอีกคนหนึ่งเช่นกันในวงการพยาบาลของอเมริกาและวงการพยาบาลโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น