21 ตุลาคม 2562

เรื่องของผลเลือดในการวินิจฉัยโรคข้อ

เรื่องของผลเลือดในการวินิจฉัยโรคข้อ เคยมีกรณีมาปรึกษาเรื่องผลเลือด rheumatoid factor ว่าออกมาเป็นผลบวกก็คือเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ใช่ไหม หรือปวดข้อมาหาหมอแล้วไปเจอว่าผลเลือดกรดยูริกในเลือดสูง ก็สรุปว่าเป็นโรคข้ออักเสบเก๊าต์ และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีกรณีมารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรควิกฤตโรคหนึ่ง เมื่อถามประวัติย้อนหลังไปผู้ป่วยบอกว่าเป็นโรคข้ออักเสบเก๊าต์ เพราะตอนนั้นผลเลือดกรดยูริกขึ้นสูง แต่เมื่อพยายามซักประวัติย้อนหลังกลับพบว่า ไม่ค่อยเหมือนเก๊าต์นัก (ไม่กล้าฟันธงเพราะตรวจและซักประวัติย้อนหลังไง) เหมือนข้อเสื่อมมากกว่า เพราะเป็นทั้งสองข้อเข่า อาการไม่เท่ากัน ตรวจร่างกายและเอ็กซเรย์ก็เหมือนข้อเข่าเสื่อมมากกว่า
สิ่งที่อยากจะบอกและอยากให้พวกเราใส่ใจในอาการปวดข้อเรื้อรัง หรืออาจจะเฉียบพลันก็ตามแต่ ไม่ใช่ว่าผลเลือดใดบ่งชี้หรือน่าจะเป็นโรคใด แต่คือประวัติการป่วยที่สำคัญต่างหาก
1. ลำดับการเกิดข้ออักเสบเป็นสิ่งสำคัญมาก เริ่มต้นตอนแรกปวดที่ข้อใด หลังจากนั้นใช้เวลานานแค่ไหนจึงเกิดการอักเสบที่ข้ออื่น ลำดับไปเลย เช่น ข้อมือขวา อีกหนึ่งสัปดาห์ตามมาด้วยข้อมือซ้าย อีกสองวันต่อมาตามมาด้วยข้อนิ้วข้อต้นของนิ้วชี้มือขวา และเวลาไล่เลี่ยกันต่อมาด้วยข้อนิ้วข้อต้นของนิ้วหัวแม่มือซ้าย
2. เมื่อเกิดข้ออักเสบข้อใหม่เกิดขึ้น ข้อที่อักเสบเดิมเป็นอย่างไร ยังอักเสบอยู่แล้วเกิดขึ้นเพิ่มที่เรียกว่า addictive หรือข้อเดิมหายไปย้ายไปที่ข้อใหม่ที่เรียกว่า migratory ลักษณะที่เกิดแบบนี้จะช่วยแยกแบบแผนและโรคที่เกิดขึ้นได้
3. ความสมมาตร ซ้าย-ขวา เวลามีข้ออักเสบ มีอาการพร้อม ๆ กันทั้งด้านซ้ายและขวาหรือไม่ ที่ว่าพร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องเวลาเดียวกันเป๊ะ อาจจะเหลื่อมล้ำกันวันหรือสองวันได้ แต่ที่สำคัญคือขณะที่ด้านหนึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งก็ต้องเป็น ความสมมาตรช่วยแยกโรคได้
4. ความสามารถในการขยับข้อ สามารถใช้งานข้อนั้น ๆ ได้มากข้อเพียงใดขณะมีอาการ เช่นขณะปวดข้อเท้านั้น ไม่สามารถลงน้ำหนักได้เลย หรือขณะที่ปวดข้อนิ้วมือแทบจะหยิบช้อนกินข้าวไม่ได้ อันนี้จะช่วยบอกความรุนแรง และใช้ในการคิดแยกโรคได้
5. เวลาที่มีอาการมาก เป็นมากหลังใช้งาน เป็นมากหลังกินอาหารบางชนิด หรือได้รับยาบางอย่าง หรือมีอาการมากตอนเช้า ตอนที่พักข้อเอาไว้นาน ๆ ที่เราชอบเรียกว่า morning stiffness คือขยับข้อไม่ได้ตอนตื่นนอน และใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงกว่าจะดีขึ้น
6. ลักษณะที่ข้ออักเสบ บวมไหม บวมไปหมดทุกส่วนของข้อต่อหรือแค่บางส่วน ตรงไหนที่ผิวหนังแดงร้อนขณะปวด ตรงไหนที่กดเจ็บ หรืออยู่เฉย ๆ พอไหวแต่ขยับแล้วเจ็บมาก อาการเหล่านี้นอกจากบอกความรุนแรง ใข้คำนวณคะแนนต่าง ๆ ของโรค ยังช่วยแยกข้อเจ็บและข้ออักเสบออกจากกันด้วย
7. อาการอื่น ๆ ที่พบร่วมเช่น ผื่นขึ้นที่ใด มีไข้ตัวร้อนหรือไม่ มีอาการเจ็บตามเส้นเอ็น มีอาการปัสสาวะขัด มีหนอง อาการต่าง ๆ เหล่านี้คุณหมอจะถามเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านการวินิจฉัยโรค แต่ถ้าเราช่างสังเกตและจำได้ เราจะช่วยหมอได้เยอะเลยครับ
8. ยิ่งการตรวจย้อนหลังนานเพียงใด ความจำเรื่องลำดับข้อ จำนวนข้อ จะยิ่งเลือนลางลงไป หากได้ประวัติการรักษาเป็นลำดับจะช่วยวินิจฉัยโรคได้มาก หรือบางทีการได้รับยาลดปวด ลดอาการอักเสบ จะทำให้การตรวจยากขึ้นเพราะบางข้อที่ปวดบวมอาจจะยุบลงแล้ว ดังนั้นความต่อเนื่องของประวัติและการดำเนินโรคสำหรับโรคข้อเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการวินิจฉัย
หลังจากได้ประวัติที่ดี คุณหมอจะตรวจร่างกายระบบข้อและกล้ามเนื้อรวมถึงตรวจสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นสงสัยข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจต้องคลำม้าม อาจต้องตรวจเปลือกตา ที่จะช่วยวินิจฉัยและหาโรคร่วมหรือภาวะแทรกซ้อน
ผลเลือดเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยโรคข้อเท่านั้น อย่ายึดถือเป็นหลัก และไม่ใช้เป็นสิ่งแรกในการคิดวินิจฉัยโรค ผมอาจจะนำเสนอสารพัดความก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่สำหรับการวินิจฉัยโรค ผมยังยึดถือ ประวัติและการตรวจร่างกายที่ถูกต้องและครบถ้วนเป็นหัวใจสำคัญครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น