11 พฤษภาคม 2561

ซีพีอาร์ CPR ตอนที่หนึ่ง

ซีพีอาร์ CPR ตอนที่หนึ่ง
ย้อนกลับไปอดีตสมัยศตวรรษที่สิบแปด ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ล่าอาณานิคม วิทยาการต่างๆก้าวหน้ามากกว่า 1,700 ปีที่ผ่านมาแบบติดจรวด การแพทย์ก็เช่นกัน
สมัยก่อนนั้นการกู้ชีวิตจะทำในสถานการณ์ที่ผิดปกติเท่านั้น เช่น จมน้ำ หรือเด็กคลอดมาแล้วไม่หายใจ การเสียชีวิตแบบหัวใจวายเฉียบพลัน หมดสติต้องกู้ชีวิตยังไม่เกิด หรือเชื่อว่าให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเรื่องมันก็เกิดจากการจมน้ำนั่นแหละ
ในปี 1767 กระทาชายนายหนึ่งเดินเล่นในกรุงอัมสเตอร์ดัม สมัยนั้นเนเธอร์แลนด์เขายิ่งใหญ่มากนะครับ เดินเรือไปทั่วโลก สิ่งต่างๆมักจะมาเกิดที่นี่ ศูนย์กลางความเจริญของโลกยุคนั้น กระทาชายนายนี้เดินพลัดตกน้ำ แล้วก็มีคนช่วย แต่ไม่ได้นำขึ้นมาปั๊มหัวใจและเม้าท์ทูเม้าท์ (วิ้ว...) แต่อย่างใด ในขณะนั้นเขาใช้วิธีให้ผู้ประสบภัยนอนหงาย แล้วโยกแขนขึ้นลงและกดท้อง คล้ายๆกับในการ์ตูนทอมแอนด์เจอรี่ แต่รายนี้ รอด !! ไม่รู้รอดจากอะไร
ด้วยความที่กระทาชายนายนี้น่าจะ "อีลิท" ในสังคมตอนนั้น ทำให้เนเธอร์แลนด์โดยสมาคม the Society for the Recovery of Drowning persons เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการกู้ชีวิตคน ต้นแบบตอนนั้นคือ การจมน้ำ จึงไม่ต้องสงสัยว่ากรรมวิธีการช่วยชีวิตคนไม่ว่าจะเกิดจากเหตุใด คล้ายๆการช่วยจากการจมน้ำทั้งสิ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นก็ถือเป็นหลักการการซีพีอาร์ในยุคแรกเริ่มเลย
1.ทำให้ร่างกายอบอุ่น โปะผ้า
2. นำสิ่งแปลกปลอมและล้วงเอาน้ำออกมาจากปากและคอหอยให้มากที่สุด
3.กดท้อง ครับ กดท้องหวังจะรีดน้ำออกมา หรือว่าอาจเป็นผลจาก Helmlich Manuever เวลาเรากดท้องเพื่อช่วยคนที่สำลักสิ่งของ
4.ช่วยหายใจ โดยเป่าลมเข้าปอด แต่...แต่ ใข้ bellow นะครับ มันคือเครื่องสูบลมด้วยมือที่เราเคยเห็นในหนังเวลาเป่าลมที่เตาผิงนั่นแหละครับ
5.กระตุ้นโดยการเขย่าหลอดลม คอหอย ให้ขย้อน ไอ สำลัก
6.อันนี้แปลกที่สุด คือ เขาใช้ควันบุหรี่อัดเข้าไปในปอดคนจมน้ำ เพื่อให้ระคายเคืองและไอ โอ้ว..ครั้งหนึ่งเราก็เคยใช้บุหรี่เพื่อการช่วยชีวิตด้วย
หลักการนี้เผยแพร่ไปทั่วยุโรปและยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันบางส่วนอีกด้วย อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงอย่างมาก แต่จากหลักฐานและคำบันทึกมีแต่คนที่รอดและกลับมาใช้ชีวิตได้ คนที่ไม่รอดไม่ได้กล่าวถึง ไม่ได้มีสถิติเปรียบเทียบใดๆ ว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน คล้ายบางประเทศในแถบอาเซียนตอนนี้
ตอนนั้น ตั้งเป็นสมาคม The Society for The Recovery of Drown Persons ด้วยวิธีที่เขากล่าวนี้เขาบอกว่าช่วยคนได้ประมาณปีละ 40 ราย
และได้พัฒนามาเป็นการผายปอด จับคนหมดสติ(ต้นแบบมาจากการจมน้ำ) นอนหงายโยกแขนเป็นครึ่งวงกลมแนบลำตัว ข้ามหัว จนไหล่ชิดหู โยกไปโยกมา เลียนแบบการหายใจและรีดน้ำออกจากปอด เรียกว่า Silvester's Manuever ในช่วงปี 1858
การช่วยชีวิตยังคงมีการเปลี่ยนแปลงน้อย ปัญหาสำคัญคือคนกลัว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ความรู้เรื่องการกู้ชีวิตยังมีน้อยมาก และกว่าจะถึงมือคนที่เคยช่วยก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง แม้กระทั่งในหมู่แพทย์และนักเรียนแพทย์ เรื่องราวของการกู้ชีวิตก่อนปี 1900 เป็นที่รู้กันในวงแคบๆ คือ ในห้องผ่าตัด
ทำไมถึงเกิดในห้องผ่าตัด เพราะห้องผ่าตัดมีหมอหลายคน เพราะสมัยก่อนความปลอดภัยในการผ่าตัดและดมยาสลบยังไม่ปลอดภัยเหมือนในปัจจุบัน ภาวะฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นและหยุดหายใจพบบ่อยมากเวลาผ่าตัด ทำให้เรื่องราวของการกู้ชีพสมัยนั้นเป็นเรื่องที่วิสัญญีแพทย์และศัลยแพทย์เชี่ยวชาญมาก ปัจจุบันเวลาสอนเรื่องการกู้ชีพ หลายๆ ที่ก็จะนำทีมโดยวิสัญญีแพทย์ ส่วนอายุรแพทย์ก็เตะฝุ่นตกงานกันไป
เริ่มสนุกแล้วล่ะซิ ... ติดตามตอนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น