10 พฤษภาคม 2561

สรุปคำแนะนำการคัดกรองมะเร็งลูกหมากจาก USPSTF

สรุปคำแนะนำการคัดกรองมะเร็งลูกหมากจาก USPSTF หน่วยงานด้านเวชศาสตร์ป้องกันของอเมริกา ลงตีพิมพ์ใน JAMA เมื่อวานนี้
ความจริงแล้วในอเมริกาเองก็มีหลายสมาคมที่ออกแนวทางนี้นะครับ อ่านในตอนท้ายวารสารแล้วก็ออกมาใกล้เคียงกัน ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าการคัดกรองคือทำในคนปกติที่ไม่มีอาการนะครับ หากใครมีอาการปัสสาวะขัด ปวด ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะให้เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาไม่ใช่การคัดกรอง เราจะเจอบ่อยๆว่ามีอาการแล้วลองไปตรวจ "คัดกรอง" ดูซิ ซึ่งมันเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูก เพราะโอกาสความน่าจะเป็นมันจะต่างกัน
การคัดกรองในที่นี้คือการคัดกรองโดยใช้การเจาะเลือด PSA (Prostate-Specific Antigen) เพียงอย่างเดียว หากค่าสูงกว่ากำหนดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยืนยันโรค ไม่ใช่ว่าสูงแล้วจะต้องเป็นเสมอไป และก็มีกรณีไม่สูงแต่ก็เป็นมะเร็งได้ แต่เจ้าข้อยกเว้นต่างๆมันพบน้อย
สำหรับชายทั่วไปอายุ 55-69 ปี ให้คุยผลดีผลเสียของการตรวจก่อนเสมอ ว่าการตรวจอาจมีผลบวกปลอม คืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่นลูกหมากอักเสบ และหากผลบวกจะยอมรับการตรวจขั้นต่อไป ไม่ว่าจะนัดมาติดตามอาการ การเจาะตรวจชิ้นเนื้อผ่านทางทวารหนัก การตรวจต่อต่างๆเหล่านี้จะทำหรือไม่
ถ้าจะทำต้องรับผลเสียที่อาจเกิดได้เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ "หลับไม่ตื่น" หรือติดเชื้อ รับได้ไหม หรือเกิดเป็นผลบวกปลอมจากเหตุอื่น รับได้ไหมกับภาวะตึงเครียด กลัวว่าเป็นมะเร็ง
ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับคือเพิ่มโอกาสการรักษาในระยะต้น ที่ถึงระดับหายขาดได้ เรื่องวิธีการรักษาก็ต้องคุยกันด้วย
เมื่อตกลงได้อย่างไร ก็พิจารณาตรวจหรือไม่ตรวจตามนั้น ระดับคำแนะนำจึงแค่ระดับ C คือ ผลบวกผลลบพอๆกัน ระยะเวลาที่ตรวจหลากหลายมากตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี แต่จากการศึกษาส่วนมากแนะนำคัดกรองที่ทุกสองปี
แล้วจะใช้ค่าเท่าไรบอกว่า บวก คือต้องตรวจต่อไป ค่าตรงนี้ก็หลากหลาย ตั้งค่าต่ำก็จะวินิจฉัยได้เร็วแต่ก็อาจจะวินิจฉัยเกินจริงมากขึ้น ต้องไปตรวจโน่นนี่นั่นมากขึ้น ตั้งค่าสูงเกินไปก็อาจแม่นยำมากขึ้นแต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักกับสายเกินไป ค่ามาตรฐานก็แล้วแต่เชื้อชาติ ในการศึกษาค่ากลางที่ใช้มากคือ ไม่เกิน 4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร
ส่วนชายที่อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปไม่แนะนำให้คัดกรอง คำแนะนำระดับ D คือไม่แนะนำ เพราะอาจไม่ได้ยืดอายุมากนัก ส่วนในเนื้อหามีการพูดถึงแนวทางอื่นๆว่า ไม่แนะนำการคัดกรองหากคิดว่าอายุจะไม่ยืนยาวเกิน 10 ปี
อาจจะมีข้อพิจารณาเพิ่มเติม คัดกรองมากขึ้นในอายุน้อยกว่านี้ในเชื้อชาติ แอฟริกัน-อเมริกัน หรือมีประวัติเป็นโรคมะเร็งลูกหมากในเครือญาติสายตรง กลุ่มนี้การคัดกรองเร็วกว่า 50 ปี พอมีประโยชน์ในการตรวจจับโรคและให้การรักษาตั้นแต่ระยะต้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับกฎเดิม คือ ต้องมีการพูดคุยตกลงผลดีผลเสีย ตรวจผลบวกจะทำอะไรต่อ รับได้ไหม ตรวจออกมาผลลบจะมั่นใจได้เพียงใด
แนวทางปีนี้ดูยืดหยุ่นมากขึ้นจากเดิมและหลายการศึกษาค้านการใช้ PSA ในการคัดกรองมะเร็งลูกหมาก แต่ด้วยคำถามว่า แล้วจะใช้อะไร จึงมีการวิเคราะห์ ทดลอง และปรับปรุงมาเป็นแนวทางนี้ครับ
ลิงก์ฟรี (ต้องลงทะเบียนก่อน)
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2680553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น