11 พฤษภาคม 2561

ซีพีอาร์ CPR ตอนที่สอง : บีบหัวใจ

ซีพีอาร์ CPR ตอนที่สอง : บีบหัวใจ
เรื่องราวการกู้ชีวิตในห้องผ่าตัดที่บันทึกไว้โดยวิสัญญีแพทย์ ซึ่งทำโดยศัลยแพทย์ในยุคปี 1870 คือการบีบนวดหัวใจโดยตรง ใช่ครับ นี่แหละสถานการณ์บีบคั้นหัวใจของจริง คือ เอามือของเรานี่แหละสอดเข้าไปกำหัวใจแล้วบีบให้เลือดออกมาตามท่อหลอดเลือด
มีการบันทึกครั้งแรก คุณหมอที่ชื่อ Moritz Schiff ทดลองบีบหัวใจสุนัข ที่สลบและหยุดเต้นจากการดมยาสลบคลอโรฟอร์ม สรุปว่าสุนัขตาย
ต่อมามีบันทึกการกู้ชีพแบบนี้ในคน ปี 1889 คุณหมอ Tuffier (ชื่อฝรั่งเศส ผมยังหาสาวชาวฝรั่งเศสไม่พบก็แปลทับศัพท์แบบนี้นะ) ได้บันทึกและเผยแพร่การทำ internal cardiac massage ในผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นขณะทำการผ่าตัดไส้ติ่ง ครับ...นึกฉากนี้ กรีดอก...สอดมือเข้าไป...กำดวงใจน้อยๆไว้ในกำมือ...แล้วขยี้หัวใจ เอ้ย บีบนวดเป็นจังหวะ ผลปรากฏว่าเลือดสูบฉีดครับ !!!
ใบหน้ามีสีเลือด คลำชีพจรได้ กลับมาเต้นเองสักพักด้วย และสุดท้ายก็จากไป คุณหมอ Tuffier ได้ตีพิมพ์สิ่งนี้และพบว่าในขณะเดียวกันก็มีวิธีการช่วยแบบนี้มากมายในยุโรป ทยอยกันตีพิมพ์ ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน คือ ตายเกือบหมด ไม่ว่าจะกรีดหน้าอก ล้วงมือไปจากช่องท้องผ่านกระบังลม ก็กลับมาปกติได้ไม่เกิน 12 นาที
ส่วนวิธีที่โหดร้ายที่สุดคือ เฉยชา ทำราวกับว่าเราเป็นอากาศธาตุ แล้วไปหาคนใหม่ที่ดีกว่า คือวิธีที่โหดร้ายที่สุดที่ทำร้ายหัวใจดวงน้อยๆของแอดฯ ได้
เอาล่ะๆ เข้าเรื่อง ในต้นทศวรรษ 1910 หลายๆประเทศเริ่มกังขากับวิธีการช่วยแบบนี้ การนวดหัวใจโดยตรงนี่ ว่าจะช่วยคนไข้ได้จริงหรือ หรือว่าจะทำให้เสียชีวิตมากกว่า สาเหตุสำคัญที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญในยุโรปถกกันตอนนั้น ในขณะที่สถานการณ์การเมืองการทหารคุกรุ่นเต็มที่ (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใครอยากทราบบรรยากาศตอนนั้นให้ไปหาภาพยนตร์เรื่อง wonder woman ที่นางเอกสวยๆมาดูนะครับ)
สาเหตุนั้นคือ มันช้าไป กว่าจะหาคนที่กล้าทำ กว่าจะหาคนที่ทำเป็น ใช้เวลาหลายชั่วโมง
ส่วนใหญ่ก็ตายก่อน หรือช่วยไปก็ตายอยู่ดี (ภาษายุคก่อนเรียกว่า ทำไปก็ไลฟ์บอย)
แต่ทว่า ในปี 1892 คุณหมอ Friedrich Maass (มีคนบอกว่าไม่ได้อ่าน ฟรีดิช อ่านว่า เฟรดดร่าย) ได้เริ่มทำการนวดภายนอก ... นวดหัวใจนะครับ โดยใช้แรงมือกดลงไปที่ลิ้นปี่ ไม่ใช่สันอกเหมือนอย่างปัจจบัน เพราะว่าใกล้หัวใจ กดแล้วน่าจะมีแรงพอส่งเลือด คุณหมอลองทำในคนที่หัวใจหยุดเต้น กด 30 ครั้งต่อนาที ต่อเนื่องกันสามสิบนาที ช่วงเวลาที่กด พอวัดความดันได้คลำชีพจรได้ แต่สุดท้ายก็เสียชีวิต
การค้นพบของ คุณหมอ Maass ทำให้เราเปลี่ยนความคิดที่ต้องนวดภายในเท่านั้น มาเป็นนวดภายนอกก็พอมีหวัง เร็วกว่า ทำได้ทุกคน ไม่เลือดสาด ใครอ่านตอนแรกก็จะเห็นว่าคนทำต้องใจถึงเหมือนกันนะที่จะไปบีบหัวใจคนอื่นได้
แต่ที่ล้มเหลวสำคัญคือการนวดข้างในมันทำได้ช้ามาก จะทันคือต้องอยู่ในห้องผ่าตัดเท่านั้น
และ คุณหมอ Maass ก็พบว่าไอ้สามสิบครั้งต่อนาทีมันนานเกินไป ไม่พอที่จะผลิตแรงดันได้ จึงมีการพัฒนาอัตราการนวดหัวใจขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันแนวทางแห่งปี 2015 ระบุ 100-120 ครั้งต่อนาที ไม่ควรเกิน 120 ครั้งต่อนาที เพราะถ้ากดเร็วไปเลือดยังไม่ทันไหลเข้าหัวใจเลยก็กดออกเสียแล้ว ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจก็น้อยเกินไปอยู่ดี (ซึ่งจริงๆ แล้วขอบอกว่าหอบแฮ่กๆ เลยนะครับ 100 ครั้งต่อนาทีเนี่ย)
แต่ว่าในช่วงปี 1900-1945 นับเป็นเวลา 45 ปี ที่ไม่ได้มีการพัฒนาเรื่องนี้เลยเพราะยุโรปและอเมริกาติดพันภาวะสงครามโลกทั้งสองครั้ง รวมคนเสียชีวิตเป็นสิบๆ ล้านคน เมื่อสงครามสงบการพัฒนาเรื่องนี้จึงได้เริ่มต่อไป
กว่าที่การกดนวดหัวใจจากภายนอกจะได้รับการศึกษาอย่างจริงจังอีกครั้งก็ปาเข้าไปปี 1958 โดยคุณ Kouwenhoven นักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าที่จอห์นฮอปสกินส์ ได้ศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง ท่านที่อ่านมาตั้งแต่ต้นก็คงคิดว่า เขาพัฒนามาตั้งแต่เมื่อเกือบ 70 ปีก่อนแล้ว ทำไมคุณหมอคนนี้ถึงสำคัญ ผมขอติดไว้ตรงนี้ก่อนแล้วเราจะลากเรื่องนี้มาต่อภายหลัง
ติดตามตอนต่อไป ขอใจคนละดวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น