04 กุมภาพันธ์ 2560

แค่ขยับเท้า ก็ป้องกันโรคได้ .. อีโคโนมี่คลาส ซินโดรม

แค่ขยับเท้า ก็ป้องกันโรคได้ .. อีโคโนมี่คลาส ซินโดรม

อีกไม่นานก็จะถึงฤดูกาลเดินทางท่องเที่ยวแล้ว โรงเรียนปิดเทอม สงกรานต์ ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือขนส่งสาธารณะ นอกจากความปลอดภัยบนท้องถนน เมาไม่ขับแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ต้องคำนึงถึง เพราะป้องกันได้ และถ้ามันเกิดขึ้นก็จะมีอันตรายถึงชีวิตได้เลย..ลิ่มเลือดดำที่ขา และอาจหลุดไปอุดหลอดเลือดดำที่ปอด
ธรรมชาติเลือดไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ เลือดแดงมีหัวใจคอยปั๊ม เลือดดำที่ขาต้องอาศัยแรงส่งจากกล้ามเนื้อที่ขยับไปมา เมื่อนั่งห้อยเท้านานๆ เลือดก็ตกไปเบื้องต่ำ ยิ่งถ้าไม่ขยับกล้ามเนื้อไม่บีบ เลือดก็ไม่เคลื่อนมากนัก เกิดเป็นลิ่มเลือด ตันหลอดเลือด ขาบวม และถ้าหลุดไปอุดที่ปอด ตำแหน่งใหญ่ก็เสียชีวิต ตำแหน่งเล็กก็ต้องรักษานานทีเดียว
แต่มันก็ไม่ได้เกิดทุกคน มักจะเกิดกับผู้ที่มีความเสี่ยง ปัญหาคือ
ใครล่ะ..เสี่ยง บางคนก็ทราบตัวเองดี อย่างเช่นเคยเป็นมาก่อน มีโรคประจำตัวเช่นโรคแอสแอลอี หัวใจทำงานผิดปกติ กลุ่มนี้ก็จะระวังตัวดี ไม่ค่อยเกิด
แต่กลุ่มคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเสี่ยง จริงๆก็ไม่รู้หรอกครับ จะรู้ก็เมื่อเกิดโรคนั่นเอง กลุ่มนี้จะไม่ทราบ ไม่คาดคิด ก็จะเกิดมาก..และจริงๆทางการแพทย์ก็ตรวจหากลุ่มเสี่ยงนี้ยากมาก และไม่แนะนำให้ตรวจเป็นปรกติวิสัยด้วย ตัวอย่างคนที่ไม่เคยรู้ว่าเสี่ยงเช่น
..
ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา ขณะนั่งแอร์ฟอร์ซวันกลับจากจีน..คงไม่ใช่ อีโคโนมี่คลาสแน่ๆ

คนไข้โรคหืดของผมเอง มาติดตามนัด นั่งรถกระบะส่วนตัวข้ามจังหวัดประมาณสองชั่วโมง ก็ได้โรคใหม่กลับไป กินยากันเลือดแข็งหกเดือน

คนไข้รายหนึ่ง กู้ภัยนำส่ง เป็นลมขณะก้าวขึ้นรถ เธอนั่งรถบขส.สายยาวข้ามภาค ลงมาจะต่อรถ เกิดเรื่อง สรุปว่าไม่ได้ไปหาญาติที่บ้าน ญาติมาหาที่ไอซียูของผมแทน

เรามาป้องกันดีกว่าครับ

1. ดื่มน้ำบ่อยๆ ขณะเดินทางอย่าปล่อยให้ตัวเองขาดน้ำ น้ำนะครับ ไม่ใช่แอลกอฮอล์

2. ลุกยืนเดิน บนเครื่องอาจไม่สะดวกนักถ้าทำได้ให้ทำครับ หรือบนรถไฟ ถ้านั่งรถส่วนตัวก็แวะปั๊มมายืดเส้นยืดสาย

3. ขยับขา โดยยกส้นเท้า สลับกับ ยกปลายเท้า เพื่อให้กล้ามเนื้อขาขยับบีบเลือด ตามรูปเลยครับ หรือดูในคู่มือบนเครื่อง นั่งรถ บขส. รถตู้ ก็ทำนะครับ ง่ายและได้ผลดี

4. ถ้าเสี่ยงโดยเฉพาะเคยเป็นมาก่อน ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดยากันเลือดแข็งก่อนบิน ก่อนรถออก หนึ่งเข็มประมาณ 24 ชั่วโมง ยา low molecular weight heparin ..ลงท้ายด้วย ..xaparin ทั้งหลาย
ส่วนยากันเลือดแข็ง วอร์ฟาริน ไม่แนะนำเพราะต้องใช้เวลาสามสี่วันกว่าจะกันได้ ยากันเลือดแข็งตัวใหม่ต้องเรียนปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่ามีข้อมูลหรือไม่ Rapeephon Rapp Kunjara แต่บอกก่อนนะครับ ข้อมูลอาจารย์ bias แน่ๆ เพราะอาจารย์นั่งแต่ business class และ first class (อันนี้กระซิบบอกสรรพากรครับ) เท่าที่ผมสืบค้น ยังไม่พบเลยว่ามีที่ใช้ในกรณีนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น