13 ธันวาคม 2559

เปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ผ่าตัด TAVI

ความรู้ขั้นสูงที่เราเข้าใจได้ .. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าตัดหรือไม่ต้องผ่าตัด

  เมื่อสุดสัปดาห์ผมได้มีโอกาสไปงาน two days cardiology ที่เขาใหญ่สัมผัสอากาศเย็น.(ซึ่งบ้านตัวเองก็อยู่โคราชอยู่แล้ว)..และได้พบท่านเลขาฯ ผู้จัดงานแสนหล่อ @Rapeephon Rapp Kunjara ได้ไปฟัง debate of the year ซึ่งน่าสนใจทีเดียว ถ้าไม่นับดีเบทของทรัมป์กับคลินตัน และคิดว่าประชาชนทั่วไปน่าจะรู้ได้ จึงลองสรุปง่ายมาให้ฟังนะครับ

   เข้าใจกันก่อนครับ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจกับหลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นลิ้นสำคัญเพราะเป็นประตูสุดท้ายก่อนเลือดจะออกสู่ร่างกาย หากลิ้นหัวใจนี้เกิดตีบตันอย่างรุนแรง เลือดย่อมออกจากหัวใจได้น้อยส่งผลเสียมากมายและอาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-5 ปีหลังจากมีอาการ ทางการแพทย์จึงต้องการแก้ไขภาวะนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพ

   เกือบห้าสิบปีที่การรักษานั้นคือการผ่าตัดซ่อมลิ้นหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนลิ้นเลย และได้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหานี้ ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้มากมาย ในระยะแรกๆการผ่าตัดที่เริ่มทำใหม่ๆ ก็จะมีผลข้างเคียงพอสมควร ทั้งติดเชื้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไตวาย ต่อมาเมื่อมีพัฒนาการที่ดีขึ้น วิธีการผ่าตัดที่ดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตและผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดลดลงมาก รวมทั้งมีเทคโนโลยีการผลิตลิ้นเทียมที่ดีมาก เป็นลิ้นที่ใกล้เคียงเนื้อเยื่อมนุษย์ ไม่ต้องกินยากันเลือดแข็ง ลิ้นสามารถอยู่ได้นานขึ้น ราคาถูกลง  เบิกจ่ายได้ เข้าถึงได้
  ทำให้การรักษาลิ้นตีบรุนแรง คือ การผ่าตัดมานับสิบๆปี

  แต่การผ่าตัดก็ไม่สามารถทำได้ทุกราย กลุ่มคนไข้ที่เสี่ยงมากเช่นอายุมาก มีโรคร่วมมากๆ หรือหัวใจวาย ก็มักจะไม่ได้รับการรักษา จนเมื่อ 5-6 ปีมานี้ การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกโดยไม่ต้องผ่าตัด ใช้การใส่สายสวนทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปที่ลิ้นหัวใจแล้วใส่ลิ้นหัวใจแบบสำเร็จรูป ไปกางออก..ฟรึ่บ..กลายเป็นลิ้นใหม่แทนที่ลิ้นเดิม (เขียนดูง่ายนะครับแต่จริงๆ มีคนไทยไม่กี่คนที่ทำได้)
   เพื่อเอามาตอบโจทย์ผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงสำหรับการผ่าตัด ทำให้ได้รับการเปลี่ยนลิ้นและลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีกว่าการผ่าตัด (เพราะส่วนมากจะไม่ได้รับการผ่าตัด) ลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้ดี แม้ว่าการติดเชื้อ ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะจะลดลง  คนที่ผ่าตัดไม่ได้ก็ได้เปลี่ยนลิ้น แต่ก็ยังไม่แนบเนียนเหมือนผ่าลงไป เห็นชัดๆ วางตรงๆ ซึ่งเจ้าส่วนที่ไม่แนบเนียนเล็กๆน้อยๆนี้ก็ไม่มากนัก เรียกว่าประโยชน์ที่ได้มากกว่าโทษมากมาย

   จนเริ่มขยับมาทำในกลุ่มที่เสี่ยงไม่สูง เช่น อายุไม่มาก โรคร่วมไม่เยอะ เพื่อดึงเอาประโยชน์ของการใส่ลิ้นผ่านสายสวนมาใช้มากขึ้น หวังว่าประโยชน์ของสิ่งนี้ในคนไข้ที่ไม่สามารถผ่าได้ จะมาเกิดประโยชน์ในกลุ่มคนที่เสี่ยงปานกลางหรื่อเสี่ยงต่ำๆ จะได้ไม่ต้องผ่าตัดได้ไหม คือ ประเด็นที่เอามาดีเบท เพราะประโยชน์ที่ได้เริ่มไม่ชัดเจน เริ่มไม่ต่างกับการผ่าตัด แม้ว่าจะมีแนวโน้มประโยชน์มากในกลุ่มสวนสายสวน แต่ก็คือแนวโน้ม ยังไม่สามารถแสดงความชัดเจนได้เหมือนในกลุ่มคนที่เสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด
  ข้อดีของการไม่ต้องผ่าตัด อยู่รพ.สั้นกว่า ผลเสียน้อย แต่ว่า การศึกษาเรื่องการใช้ลิ้นเทียมผ่านสายสวนยังมีการศึกษามาไม่นาน โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุไม่มาก ก็ไม่มีข้อมูลว่า ลิ้นแบบผ่านสายสวนจะคงทนได้เท่ากับลิ้นจากการผ่าตัดที่เราทราบข้อมูลมากว่า 30 ปีได้
  และเนื่องจากกลุ่มที่เสี่ยงปานกลางหรือต่ำ โอกาสเกิดผลเสียน้อยอยู่แล้ว จึงจะมีคำถามว่าจะใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่ทราบผลในทุกๆมิติ (เนื่องจากมีมาไม่นาน ประสบการณ์ไม่มาก) หรือจะใช้การผ่าตัดเปิดหน้าอกแบบเดิมที่ทราบทุกอย่างแจ่มชัด

  อุปสรรคอีกประการคือด้วยความใหม่ของเทคโนโลยี มันมาพร้อมกับมูลค่าที่สูง วัดๆค่าอุปกรณ์นั้นการใส่ลิ้นผ่านสายสวนแพงกว่าลิ้นจากการผ่าตัดเกือบสิบเท่า และสิบเท่าแบบแบบแสนบาทกับล้านบาท อาจจะไม่ต้องเสียค่าผ่าตัด แต่บวกลบคูณหารแล้วก็ยังแพงอยู่มาก ถ้าจะเอามาแทนการผ่าตัดจริงๆ ประเทศเราจะรับได้ไหม.. อันนี้ถามท่านนายกประยุทธ์
  สรุปว่าก็คงต้องรอผลการศึกษาและพัฒนาทางการแพทย์ต่อไป ว่าเราจะมีประโยคนี้หรือไม่

  "ฝากหน้าร้านหน่อยนะเจ๊  เดี๋ยวไปเปลี่ยนลิ้นหัวใจเออร์ติกก่อน อีกสิบนาทีถึงเวลาผ่าแล้ว บ่ายๆก็กลับ เจ๊เอาทุเรียนเจ้าหน้าโรงบาลไหมล่ะ อร่อยนะ..อ๊ะๆ ลืมไปขากลับนั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงกลับ เขาไม่ให้เอาทุเรียนขึ้น..งั้นชั้นไปก่อนนะเจ๊.."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น