18 กันยายน 2559

สอบเอ็นทรานซ์

เห็นข่าวว่า จะหันมาใช้ระบบเอ็นทรานซ์กันใหม่ เรามาย้อนอดีต..เอ็นสะท้านกันหน่อยนะครับ

สมัยก่อนเรามีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐที่เรียกว่า การสอบเอ็นทรานซ์ เป็นการสอบเนื้อหาของมัธยมปลายทั้งหมด แต่ละวิชาเนื้อหาชั้นมัธยม 4-6 วิชาละ 100 คะแนน  เอามานับคะแนนรวมทั้งหมด ก็แล้วแต่ว่าคุณเลือกสอบคณะใด คณะนั้นใช้กี่วิชาก็นับเข้าไป เช่นคณะแพทย์ศาสตร์ จะใช้คะแนน 600 คะแนน วิชา คณิต อังกฤษ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ สามัญ 1 (สังคมและภาษาไทย) และต้องสอบวิชาความถนัดทางแพทย์ศาสตร์ต่างหากด้วย
  สอบหกวิชานี้ก็สามวันครับ วันละสองวิชา วิชาละสามชั่วโมง ชี้เป็นชี้ตายในการเรียนมัธยม การสอบเข้าด้วยวิชาละชั่วโมงนี่เองครับ ตึงเครียดพอดูครับ ส่วนมากเป็นปรนัยข้อละหนึ่งคะแนน บางวิชาก็จะมีอัตนัย ให้ระบายตัวเลขคำตอบ เช่น คณิต ฟิสิกส์  เราจึงทำข้อสอบกันเยอะมาก

  จริงๆข้อสอบเอ็นทรานซ์ไม่ยากมากนะครับ วัดความครบถ้วนมากกว่าความเป็นเลิศ ลักษณะเนื้อหาและหลักสูตรที่ไม่เปลี่ยนมาก ทำให้เราพอจับทางได้ สมัยก่อนผมซื้อข้อสอบย้อนหลังสิบปี มาหกเล่ม มือสอง จากตลาดหนังสือแถวคลองหลอด เอามาทำเอง จับเวลาจริงๆ หกวิชาสิบปี ก็ หกสิบครั้ง แล้ววัดคะแนนฐานของตัวเองออกมา จะได้ทราบว่าตัวเรานั้นอยู่ที่ระดับกี่เปอร์เซนต์
   ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า เวลาเราเลือกคณะและมหาวิทยาลัย เราเลือกครั้งเดียว 4 อันดับตอนสมัครสอบครับ ตอนนั้นยังไม่ได้สอบนะครับแต่ต้องเลือกแล้ว ไม่เหมือนสมัยนี้ทราบคะแนนก่อนจึงเลือก เราจึงต้องอาศัยสถิติย้อนหลังว่า คณะที่เราเลือกนั้น คะแนนต่ำสุดกี่เปอร์เซนต์ ถ้าเราทำได้มากกว่านั้น เราจึงมีโอกาสเข้าเรียน ดังนั้นถ้ารู้เรา คือ รู้ว่าเรามีความสามารถระดับทำข้อสอบได้กี่เปอร์เซนต์ เราก็จะใช้สถิติเดิมๆที่ ทบวงมหาวิทยาลัย (ตอนนี้ยุบไปแล้ว) รวบรวมมาให้ก่อนสอบครับ จะมีทั้งคะแนนสูงสุด ต่ำสุด เพื่อตัดสินใจเลือกและจัดลำดับให้ดี

   ถ้าคะแนนเราเท่าไร เขาจะพิจารณาลำดับแรกที่เราเลือกก่อน ถ้าคะแนนไม่ถึงก็หลุดมาพิจารณาลำดับสองต่อไป ดังนั้นการพิจารณาเลือกลำดับก็สำคัญด้วย สมัยนั้น วิชาแนะแนว ม.6 สอนแต่เรื่องนี้เลยครับ กลยุทธ์การเลือกคณะและลำดับ สำคัญไม่แพ้ทำคะแนนเลยครับ ยกเว้นแต่คุณระดับ 80-90% ครับ จะเลือกอะไรก็ได้
   ตอนนั้น เสียตังซื้อใบสมัครก่อนครับ ในใบสมัครจะระบุวันที่จะสมัครเอาไว้ จะมีเวลาประมาณ 10 วันนะครับช่วงที่สมัครสอบ แต่ละวันจะคนเยอะมาก ถ้าไม่แบ่งวันคงวุ่นวาย และในสนาม กทม. จะไปสมัครกันที่ จุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว  สมัครสอบหลายวิชาก็หลายบาท ยิ่งเลือกหลายคณะ ต้องสอบหลายวิชา..จนเลยครับ
  เลือกสนามสอบ จ่ายเงิน นั่งรอเพื่อนครับ มาทีมาเป็นกองทัพเลย สำหรับเด็กโรงเรียนชายล้วนอย่างผมนั้น การนั่งรอเพื่อนในจุฬานั้น แสนมีความสุขครับ สาวๆเพียบ มาจากทุกโรงเรียนที่ขึ้นชื่อเลย

  หลังจากสอบเสร็จ เราจะเครียดพอควรครับ เตรียมหาที่เรียนเผื่อ 4 ลำดับที่เลือกไม่ติดเลย เช่น มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยเปิด สถาบันราชภัฏ (สมัยนั้นยังไม่เป็นมหาวิทยาลัย)
ผลสอบจะออกทางจดหมายและโทรไปถามครับ วันนั้นสายแทบไม่ว่างครับ ผมนี่เฝ้าตู้โทรศัพท์เลย
   หรือจะรอจดหมายก็ลุ้นดีครับ เอามาส่องไฟ ถ้าจดหมายหนาๆ ยาวๆ คือสอบติด ถ้าจดหมายสั้นๆก็ทำใจ  ใครเคยดูเรื่อง .. 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอนท์ หรือ ม.6/2 ห้องครูวารี ก็ประมาณนั้นเลย หึหึ..จะมีใครทันไหมล่ะเนี่ย

  สำหรับผม..ผมเลือก นิติศาสตร์ มธ. นะครับ อยากไปเป็นลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี ..แต่ชีวิตพลิกผัน ผมไม่ได้สอบเอ็นทรานซ์นะครับ..

1 ความคิดเห็น: