19 กันยายน 2559

GLP-1 และ กิ้งก่ากีล่า

บางทีเราก็น่าจะเคารพกิ้งก่า..บ้างนะครับ

ในปีนี้มีการศึกษาเกี่ยวกับยาเบาหวานสองตัวที่โด่งดังมากคือ liraglutide กับการศึกษา LEADER และ semaglutide กับการศึกษา SUSTAIN-6 ที่เพิ่งออกมา ยาทั้งสองตัวนี้ เรียกว่า GLP-1 receptor agonist เอ๊ะ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเคารพกิ้งก่า เรามาดูกัน

  ยา GLP-1 นี้ เป็นยาที่เลียนแบบ ฮอร์โมนอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่เรียกว่า incretin หลั่งออกมาจากทางเดินอาหารเมื่อมีการกินอาหาร ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นเซลที่ตับอ่อนที่ชื่อว่า บีต้าเซลล์ เจ้าบีต้าเซลล์ คือเซลที่ทำหน้าที่หลั่งอินซูลิน กุญแจสำคัญของโรคเบาหวานนี่เอง
  GLP-1 จะไปทำให้บีต้าเซลหลั่งอินซูลินออกมา เก็บน้ำตาลหลังจากการกินอาหาร น้ำตาลจึงนำไปใช้ได้นั่นเอง กินมากน้ำตาลมาก GLP-1 ก็หลั่งออกมา เมื่อน้ำตาลน้อยลง GLP-1 ก็หยุดทำงาน ทำให้น้ำตาลไม่ต่ำ เป็นการควบคุมของร่างกายที่แสนมหัศจรรย์ ให้น้ำตาลลดลงโดยที่ไม่ต่ำ
   แต่ฟ้าช่างไม่เป็นธรรม..เจ้า GLP-1นี้ หลั่งออกมาไม่นานก็จะถูกทำลายโดยเอนไซม์ DPP โดยเฉพาะ DPP-4 แต่ก็เอาเถอะธรรมชาติสรรค์สร้างมาแล้ว สมดุลดี แต่ถ้าเราต้องการนำผลของมันมาใช้แบบเป็นยา คงต้องการการออกฤทธิ์ที่นานกว่านี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เราทำได้สองประการ คือ พันธุวิศวกรรม GLP-1 ให้กลายเป็น GLP-1 analogues ออกฤทธิ์นานทั้งวันหรือทั้งสัปดาห์  อีกวิธีคือ ไปหยุดการทำงานของ DPP-4 ไม่ให้ไปทำลาย GLP-1 คือยา DPP-4 inhibitor หรือกลุ่ม gliptin นั่นเอง

  ไม่ได้มีแต่นักวิทยาศาสตร์ผู้ปราชญ์เปรื่องเท่านั้น ที่สามารถสร้าง GLP-1 ที่ออกฤทธิ์นานๆได้ เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1980 เคยมีรายงาน ผู้ที่ถูกกิ้งก่า กีล่ามอนสเตอร์ กิ้งก่าที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ มีถิ่นฐานที่ทะเลทรายในอริโซนา อเมริกา น้ำลายของมันมีพิษที่คล้ายกับสารที่ชื่อว่า vasoactive intestinal peptide ของมนุษย์ เกิดการอักเสบของตับอ่อนและหลั่งอินซูลินออกมาได้
   ในขณะนั้น ดร.จอห์น อิงส์ แพทย์โรคต่อมไร้ท่อ ทำงานอยู่ในแล็บของ Dr.Rosalyn Yalow ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1978 เรื่องการค้นพบฮอร์โมนในสัตว์ต่างๆ  จน ดร.อิงส์ มาสะดุดตารายงานเรื่องเจ้ากิ้งก่ากีล่านี้ ดร.อิงส์ ได้ศึกษาค้นคว้าต่อ จนในปี 1992 โลกก็ได้รู้จักกับ exendin-4 สารที่คล้ายกับ GLP-1 แต่ไม่สูญสลายเร็วเหมือน GLP-1 ดร.อิงส์ ได้บอกว่านี่อาจจะเป็นการรักษาใหม่เพราะตอนนั้นการใช้อินซูลิน มีปัญหามากคือ น้ำตาลต่ำ (ปัญหานี้มีมานานแล้วจริงๆ)

    แต่ทุนวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ ดร.อิงส์ได้พยายามติดต่อบริษัทยาต่างๆเพื่อพัฒนา แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจ ดร.อิงส์แทบหมดกำลังใจ แต่เหตุการณ์พลิกผันไปเมื่อเขาไปเข้าร่วมงานประชุม ADA ประจำปี 1996 ที่ซานฟรานซิสโก เพื่อไปเสนอโปสเตอร์เรื่องนี้ ..เหมือนผม..เหมือนคุณ..ดังนั้นการพรีเซนต์โปสเตอร์อาจยิ่งใหญ่กว่าที่คิดนะ...
   วันนั้น แอนดรูว์ ยัง แห่งบริษัทยา Amylin เห็นเข้าแล้วคลิ๊ก โทรเรียกทีมนั่งเจ็ตส่วนตัว มาเซ็นสัญญากับ ดร.อิงส์ในงานนั้นเลย งานได้พัฒนาไปอีกมาก ผ่านการซื้อขาย เปลี่ยนถ่ายลิขสิทธิ์ จนออกมาเป็นยา exenatide, exenatide XR, liraglugide ที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน ลดระดับ HbA1c ประมาณ 0.5-1.0% ไม่มีอาการน้ำตาลต่ำ และมีผล นน.ลดลง ความดันลดลง จนมีการพัฒนาไปเป็นยา sazenda เพื่อใช้ในการลดนน. ครับ

  การศึกษาที่ออกมา โอเค ..ไม่ทำให้อัตราการเกิดโรคหัวใจ อัตราการเสียชีวิตแย่ลง แต่ที่ต้องขบคิดต่อคือ ระดับน้ำตาลที่ลดลงไม่มาก แต่พบอัตราการเสียชีวิต การนอนโรงพยาบาล โรคอัมพาต ที่ลดลง แสดงว่าอาจมีผลอื่นๆ นอกเหนือจากสมบัติลดน้ำตาลของตัวยาเอง ที่ช่วยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้ ดีขึ้น
  ...
... จอห์น อิงส์ เพิ่งได้พบกิ้งก่า กีล่าตัวจริงจากการได้ไปทำสารคดีเกี่ยวกับกิ้งก่ากีล่า เมื่อไม่นานนี้ครับ
..เอ้า..กิ้งก่ากีล่ามาโน่นแล้ว..ทำความเคารพ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น