21 สิงหาคม 2559

ใหลตาย Brugada

โรคใหลตาย  เรื่องราวของปริศนาการตายไร้ร่องรอย
   หลายปีก่อน จริงๆก็ 25 ปีก่อนประเทศไทยมีข่าวชายชาวอีสานหลายคน ถึงแก่ความตายแบบปริศนาร่างกายแข็งแรงดีๆ ตอนเช้าพบว่าตายแล้ว ไม่มีบาดแผล ไม่มีร่องรอยการทำร้าย ไม่มีพิษ มักจะเป็นผู้ชายวัยเลขสามปลายๆ ถึงสี่ต้นๆ  มักจะเป็นแล้วเป็นอีกในชุมชน เครือญาติ และมีรายงานข่าวชายไทยที่ไปทำงานต่างแดน สิงคโปร์ มาเลย์ ไต้หวัน ตะวันออกกลาง ก็ตายแบบนี้ สมัยนั้นข่าวดังมากว่า "ผีแม่ม่าย" มาเอาตัวชายเคราะห์ร้ายเหล่านั้นไป ถึงขั้นเอาเสื้อสีๆ เขียนประกาศให้คนรู้ว่า บ้านนี้หนามีชายอกหัก...ไม่ใช่ละ..เขียนว่าบ้านนี้มีแต่หมาแมว  เอาปลัดขิกอันโตๆมาแขวนหน้าบ้านให้ผีแม่ม่ายเอาปลัดขิกไปแทน..หรือแม้แต่ให้ชายแต่งเป็นหญิงเพื่อหลอกผีแม่ม่ายให้หลงเพศ
....แต่ผีแม่ม่ายก็ยัง เอาชีวิตเขาเหล่านี้ต่อไป..
  ปี 1992 หรือ พ.ศ. 2535 มีรายงานเคสเหล่านี้มากขึ้น จนได้ไปสะดุดความสนใจของหมอที่กำลังทำวิจัย คือคณะทำงานของอาจารย์สุมาลี นิมมานนิตย์, อาจารย์กัมปนาท วีรกุล และอาจารย์กุลวีร์ เนตรมณี  ขณะนั้นท่านอาจารย์สุมาลี ทำการศึกษาเรื่องนิ่วในคนอีสานอยู่พอดี ...ผมได้ทันเรียนกับ อ.สุมาลี ครับ อาจารย์เป็นครูอันประเสริฐจริงๆ... จึงได้ริเริ่มศึกษากลุ่มคนที่เคยรอดจากเหตุใหลตายและครอบครัวก็เริ่มพบคำอธิบาย
   ทางคณะทำงานของ อ.กุลวีร์ ได้พบว่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจของคนกลุ่มนี้มีลักษณะเฉพาะพิเศษ ตรงกับที่ professor Pedro Brugada และ Joseph Brugada ได้รายงานผู้ป่วยแบบเดียวกันนี้ 8 ราย คลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบเดียวกัน ทั้งหมดมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเนื่องจากกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดจังหวะแบบ ventricular tachycardia
   และตรงๆกันกับที่รายงานทั้งโลก พบมากในคนเอเชีย หรือในคนเอเชียที่ไปทำงานต่างแดน แรงงานไทย แรงงานลาว ฟิลิปปินส์ ..จึงได้มีการศึกษามากขึ้นจนทราบเรื่องราวของโรคนี้ลึกไปถึงระดับพันธุกรรม ความเสี่ยง และการรักษา เรียกโรคนี้ตามชื่อ สองพี่น้องที่พบโรคนี้ว่า Brugada Syndrome
   เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของช่องทางการนำไฟฟ้าระดับเซล ของกล้ามเนื้อหัวใจ ผิดปกติที่ยีน SCN5A บนโครโมโซมคู่ที่สาม ทำให้เมื่อถูกกระตุ้นหรือวันดีคืนร้าย ก็จะเกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพายุถล่มในหัวใจ จนหยุดเต้น..ใหลตาย
   พบในชายมากกว่าหญิงแปดเท่า..ถึงว่าไม่ค่อยมีผีพ่อม่าย.. ประเด็นเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่สำคัญคือ การดื่มเหล้า  เกลือแร่ในเลือดที่ผิดปกติมากๆโดยเฉพาะเกลือแร่โปแตสเซียมที่ต่ำบ่อยๆ และแมกนีเซียม ส่วนมากก็จากกินเหล้าอีกแหละครับ และคนที่ไปทำงานต่างแดน ขาดการออกกำลังกาย กินแป้งมาก เหล้ามาก โอกาสใหลตายก็จะเพิ่มมากขึ้น
   ประเทศไทยได้ทำการศึกษาสำคัญเลยนะครับ เพราะพบบ่อยนั่นเอง คือการศึกษา DEBUT และ SUDSPAC ส่วนการรักษาและการทดสอบนั้น ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการเขียนครับ บอกว่าพอรักษาและป้องกันได้จากการใส่อุปกรณ์การช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าติดไว้กับตัว (Intracardiac converter defibrillator)  มีวารสารตีพิมพ์มากมายที่มาจากประเทศไทยครับ
  ผมทำลิงค์ที่เป็น วารสารรายงานการพบผู้ป่วยครั้งแรกของ professor Brugada, บทความเรื่องการรักษาโดย professor Brugada เขียนเองเลยครับ ในปี 2009, และบทความของ อ.กุลวีร์ เกี่ยวกับเรื่องราวของ brugada ในไทยครับ
http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/073510979290253J?via%3Dihub
https://www.escardio.org/Journals/E-Journal-of-Cardiology-Practice/Volume-7/Management-of-patients-with-a-Brugada-ECG-pattern
https://www.google.co.th/url?sa=t&source=web&rct=j&url=http://www.bangkokmedjournal.com/sites/default/files/fullpapers/2010-1-Veerakul.pdf&ved=0ahUKEwiQp72t_M_OAhXLs48KHe6PCHkQFggwMAQ&usg=AFQjCNGAKra453mMKODXL0E1Dbt-onOiAQ&sig2=HD-JVfdtN5x90iHO5s07NQ
ผมเจอผู้ป่วยหนึ่งรายเมื่อสามสัปดาห์ก่อน ผู้ป่วยเป็นชาวอีสานไปทำงานไต้หว้น เคยวูบๆสามครั้งแล้ว ติดเหล้า กลับมาเยี่ยมบ้านจึงส่งมาปรึกษา เพิ่งอ่าน facebook ของ อ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ที่ไปคัดกรองโรคนี้ที่อิสราเอล จึงไปศึกษาเพิ่มเติมและเล่าให้ท่านฟังครับ
  สุขสันต์วันอาทิตย์ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น