20 สิงหาคม 2559

การวัดดัชนีความดันเลือดเทียบหลอดเลือดแดงแขนกับขา ankle brachial index ABI

การวัดดัชนีความดันเลือดเทียบหลอดเลือดแดงแขนกับขา ankle brachial index ABI

การวัดดัชนีความดันเลือดเทียบหลอดเลือดแดงแขนกับขา ankle brachial index ABI เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันที่ขา หรือวินิจฉัยในกรณีที่มีอาการ เป็นการตรวจที่ง่าย ไม่เจ็บตัว ค่าที่ได้เชื่อถือได้ดี เรามาทำความรู้จักกันสักหน่อย

ABI เป็นการเทียบสัดส่วนเพื่อหาว่าหลอดเลือดแดงที่ขาตีบหรือไม่ หลอดเลือดแดงที่ขามีความยาวกว่าที่แขน มีแขนงต่างๆมากมาย ยิ่งหลอดเลือดไกลห่างจากหัวใจขนาดจะยิ่งเล็กลง ไม่อย่างนั้นแรงดันจะไม่พอไปจนถึงปลายเท้า ธรรมชาติแล้วหลอดเลือดแดงที่ขาจึงมีแรงดันซีสโตลิก หรือความดันค่าบนสูงกว่าแขน แต่ความดันไดแอสโตลิก หรือ ความดันตัวล่างน้อยกว่าที่แขน และหลอดเลือดที่ยาวๆนี้จะมีโอกาสตีบแคบได้มากกว่าที่แขน
การวัดอาจทำเมื่อมีอาการ เช่นปวดขาเวลาเดิน หรือ ขาอุณหภูมิลดลง ผมเคยเขียนเรื่อง หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบเอาไว้ นี่คือลิงค์ ทบทวนได้ครับ

https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/1591232354526125:0

มีความไวและความจำเพาะค่อนข้างดีสำหรับการวินิจฉัยเมื่อมีอาการ หรืออาจทำเพื่อคัดกรอง เช่น เป็นเบาหวาน มีโรคหัวใจ เป็นอัมพาต ก็ควรคัดกรองหาภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ในแง่คัดกรองนี้จะมีความไวไม่ดีเท่าไร แต่มีความจำเพาะมากคือถ้าผลบอกว่าเป็นก็น่าจะใช่ แต่ถ้าผลออกมาเป็นลบถ้ายังสงสัยต้องไปตรวจวิธีอื่นเพิ่ม
แต่ก็จะประหยัดและปลอดภัยกว่าการไปฉีดสีหลอดเลือดเพื่อถ่ายภาพหรือการทำเอกซเรย์ดูหลอดเลือดซึ่งแพงมาก
เมื่อตรวจพบและสงสัยโรคก็ไปฉีดสีก็ได้ครับ จะได้ลดจำนวนที่จะต้องไปเสี่ยงลง คราวนี้การตรวจพบหลอดเลือดแดงตีบยังมีความสัมพันธ์ต่ออัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นด้วย หรือวางแผนการรักษาได้ก่อนที่เท้าจะดำ เสียเลือดจนต้องตัดนิ้ว

เรามาดูวิธีการตรวจกัน เริ่มที่เครื่องมือก่อน อย่างแรก เตียงนอนราบ ห้ามวัดท่านั่งหรือแขนขาไม่ระนาบเพราะค่าจะผิดมาก เครื่องวัดความดันเป็นแบบดิจิตอลก็ได้ครับ สำคัญที่ขนาด cuff ที่ใช้พันรอบต้นแขนต้องสูงอย่างน้อย 40%ของต้นแขน และเวลาวัดพันเหนือข้อเท้าก็ต้องดูว่าพันรอบเหนือข้อเท้าได้แน่นหนาดี อย่างที่สามคือเครื่องวัดเสียง doppler ใช้วัดหลอดเลือด ถ้ามีจะดีมากแต่ถ้าไม่มีจะใช้การอ่านค่าจาก BP cuff ก็พอไหว ถ้าใช้ doppler อย่าลืมเจลด้วยครับ อ้อ..เราไม่ใช้หูฟังนะครับ
ให้ผู้ป่วยนอนราบ แล้ววัดความดันวนไปตามเข็มหรือทวนเข็มดังนี้ แขนขวา posterior tibialขวา dorsalis pedisขวา --> dorsalis pedis ซ้าย posterior tibial ซ้าย และ แขนซ้าย เป็นการวัดที่ดี บางที่บางเครื่องอาจใช้อุปกรณ์พันทั้งแขนและขาออกมาเป็นค่าความดันพร้อมๆกัน บางยี่ห้อแสดง pulsewave ได้ด้วย

ถ้าใช้แต่ cuff อ่านค่าจากการวัดที่ขา จะได้ค่าเดียว แต่ถ้าใช้เครื่องdoppler วัด เราจะได้สองค่าครับ การใช้ doppler ใช้วัดเอาเครื่อง doppler วัดที่หลอดเลือดดัง ฟู่วว.ฟู่วว ตามชีพจร เมื่อแรงดันcuff สูงขึ้นจะไม่มีเสียง ตรงนี้ต้องแจ้งผู้ป่วยด้วยนะครับ เพราะแรงดันจะเพิ่มสูงไประดับ 170-190 จะปวดเล็กน้อย เมื่อแรงดันตกลงจนเลือดไหลได้อีกครั้งจะได้ยิน ฟู่ววว กลับมาอีก ฟู่ววแรกนี้เองจะตรงกับแรงดันซีสโตลิกของหลอดเลือดนั้น

วิธี doppler จะมีความแม่นยำมากกว่า การวัดมาตรฐานและการศึกษาใช้ค่าการวัดจากแรงดันdoppler ส่วนการใช้การวัดปกติจะเป็นค่า oscillation ก็พอใช้ได้นะครับ เมื่อได้ค่าทั้งหมดมาแล้ว เอามาคำนวน โดยค่า ABI ของขาขวา จะใช้ค่าแรงดันซีสโตลิกของหลอดเลือด dorsalis pedisขวา หรือ posterior tibialขวา ตัวที่สูงกว่า มาเป็นตัวตั้ง ส่วนตัวหารใช้ค่าแรงดันซีสโตลิกของแขนข้างซ้ายหรือขวา ที่สูงกว่า ...สำหรับค่า ABI ขาซ้ายเราจะใช้ค่าแรงดันซิสโตลิกของ หลอดเลือด dorsalis pedisซ้าย หรือ posterior tibialซ้ายที่สูงกว่า หารด้วยแรงดันซีสโตลิกแขนข้างที่สูงกว่า (ตัวเดียวกับตัวหารของข้างขวานั่นแหละครับ)

ถ้าสัดส่วนที่ได้ น้อยกว่า 0.9 ถือว่ามีผลบวก มีการตีบแคบหรือความดันที่แตกต่างกัน ต้องไปคิดร่วมกับประวัติและการตรวจร่างกายที่ได้ด้วยนะครับ ในกรณีต้องการผ่าตัดหรือหาจุดที่แคบที่ชัดเจนคงต้องไปฉีดสีหลอดเลือดดูให้ชัดๆอีกครั้งครับ
ด้วยวิธีนี้ก็ช่วยในการตรวจหลอดเลือดที่บ่งชี้โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายได้อย่างง่ายดาย เหมาะกับการคัดกรองในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพาต แต่อาจต้องระวังถ้าค่าสูงมากๆในผู้ป่วยโรคไตจะหมายถึง หลอดเลือดแข็งมากๆได้นะครับเรียกว่า มีผลไม่ต่ำแต่จริงๆขาดเลือดพอสมควรนั่นเอง

หนึ่งในวิธีการตรวจหลอดเลือดที่ง่าย..ใช้ได้จริง..ทำได้ทุกที่..ช่วยคนไข้ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น