29 กุมภาพันธ์ 2559

โรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักยังพบอยู่ประปรายครับ และถ้าเกิดแล้วจะทำให้เกิดความพิการ ความยุ่งยากมากมาย ในขณะที่ป้องกันได้ง่ายและประสิทธิภาพดี
ส่วนมากเราจะละเลยเวลาเกิดบาดแผล เวลาซักประวัติคนที่เป็นบาดทะยัก มักจะได้ประวัติมีบาดแผลแต่ว่าละเลยการดูแลเกือบทั้งสิ้น วันนี้ผมอยากจะมาย้ำถึงแผลที่เสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก ( tetanus-proned wound)

1. บาดแผลที่เปิดเอาไว้นานเกิน 6 ชั่วโมงก่อนทำแผล
2. บาดแผลทิ่มทะลุ ผิวหนัง
3. บาดแผลที่มีเนื้อตาย เช่น ไขมันใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เมื่อตายจะสีคล้ำ ไม่มีเลือดออก
4. มีการติดเชื้อจากบาดแผลนั้น
5. ปนเปื้อนดิน น้ำ หรือสารที่สงสัยว่าจะมีเชื้อบาดทะยักอยู่ เช่น ไม้ โลหะ
6. แผลไฟไหม้ หรือน้ำแข็งกัด แผลน้ำแข็งกัดนี่ไม่ได้ค้นอ้างอิงเพิ่มครับ เพราะว่าน่าจะพบน้อยมากๆๆ
7. แผลบาดเจ็บจากวัตถุแรงสูง เช่น ปืน สะเก็ดระเบิด
8. แผลสัตว์กัด คนกัด หรือสัตว์ข่วน

เมื่อเกิดบาดแผลต่างๆเหล่านี้ ควรล้างแผลและจัดการแผลให้ดี เบื้องต้นเลยควรใช้น้ำสุกล้างกับสบู่ธรรมดา ฟอกสัก 5 นาทีเลย หรือถ้ามีน้ำยาฟอกฆ่าเชื้อโพวิดีนก็จะดีมาก แล้วรีบไปทำแผลที่รพ.
ส่วนถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนก็ควรฉีดให้ครบ 3 เข็ม และหนึ่งในสามเข็มนั้นอาจใช้ วัคซีนรวม คอตีบ-บาดทะยัก หรือ คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก ไปเลย และในบางคนที่แผลแย่มากอาจต้องฉีดซีรุ่มต้านบาดทะยักด้วยครับ
โดยทั่วไปวัคซีนก็คุ้มครอง 10 ปีครับ เรายังไม่มีแผลก็ไปฉีด คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยักได้นะครับ 1 เข็มทุกๆ 10 ปี
โรคพวกนี้เป็นแล้วไม่คุ้มครับ น่ากลัวมาก ป้องกันได้ให้ทำเลย

ข้อมูลจาก WHO

28 กุมภาพันธ์ 2559

ความประทับใจในเรื่องราวความเห็นอกเห็นใจ

ความประทับใจในเรื่องราวความเห็นอกเห็นใจ

ผมอ่านเรื่องราวต่างๆมามากมาย มาเล่าให้ท่านฟังมากมาย วันนี้ขอเล่าความประทับใจในเรื่องราวต่างๆรอบตัวที่ผมรู้สึกดี ที่มาอ้างอิงคือ ตัวเอง

1. มัคคุเทศก์เยาวชน ที่เป็นเด็กท้องถิ่น ได้บอกเล่าเรื่ิองราว ความภาคภูมิใจท้องถิ่น ได้ฝึกทักษะการนำเสนอ หรือภาษาอังกฤษ

2. พี่มัธยมที่โรงเรียน มาคอยดูแลน้องๆอนุบาลเวลาผู้ปกครองมาส่ง มันเป็นการฝึกความอดทน การรู้จักปกป้องดูแลน้องๆ สิ่งที่ควรปกป้อง

3. ผู้นำเต้นแอโรบิกตามสวนต่างๆ เขามาด้วยใจ รับความสุขคือหยาดเหงื่อของผู้มาออกกำลังกาย ไม่ได้หวังการตอบแทนอะไร

4. อาสาสมัครตอนน้ำท่วม ผมเคยเป็นผู้ประสบภัย รู้เลยว่ามือของเขาที่จับมือเราขึ้นรถ แล้วยื่นน้ำให้ มันยิ่งใหญ่มากๆ หนึ่งในสิ่งที่เงินจ้างไม่ได้ และซื้อหาไม่ได้

5. มอเตอร์ไซค์รับจ้างปากซอย มาช่วยเข็นรถที่ดับ โดยไม่ต้องเรียกร้อง ท่านลองสังเกตดูสิ นี่คือคนกลุ่มแรกที่มาช่วย

6. อาสาอ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด เป็นการเปิดโลกให้เขา ผมเองได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ มันอิ่มใจจริงๆ

7. คนที่มาบริจาคเลือด ไม่ว่าเขาจะมาด้วยเหตุผลใด บางครั้งเขาสละอวัยวะเพียงเล็กน้อย แต่ต่อชีวิตคนได้มหาศาล ( ถ้าใครเคยขอเลือด จะพบว่ามันขอยากมาก)

8. หมอที่ยอมพักเลยเวลา เพราะคนไข้ที่รอด้วยความหวัง การเจ็บป่วยเป็นความทรมานสุดขีดของมนุษย์ บางครั้งหมอไม่สามารถรักษาโรคได้ แต่รักษาความทรมานนั่นได้

9. คนที่ดูแลหมาแมวที่คนทิ้งขว้าง สัตว์พวกนี้ไม่ได้ถูกธรรมชาติเลือกให้แย่หรืออด แต่พวกเขาถูกกระทำโดยมนุษย์ คนกลุ่มนี้ได้ไถ่โทษให้มนุษย์ประเสริฐ ที่กระทำแบบนี้กับสัตว์

10. แฟนเพจทุกคน ที่ติดตามแอดมินกิ๊กก๊อกมาตลอด เล่าเรื่องแบบกวนๆ สำนวนก็ไม่ได้สนุกเล้ยย แต่ก็ยอดเพิ่มขึ้นเรื่ิอยๆ...สุขครับ

27 กุมภาพันธ์ 2559

การวินิจฉัยเบาหวาน

การวินิจฉัยเบาหวาน

เบาหวานต้องวินิจฉัยโดยมีผลเลือดเสมอ ผู้ป่วยหลายๆคนมาปรึกษาผมโดยเอาผลเลือดหนึ่งแผ่นมาด้วย แต่คงวินิจฉัยได้ยาก วันนี้จึงอยากมาเล่าการตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัยเบาหวานครับ ตามเกณฑ์ที่เราใช้กันทุกวัน ADA guideline 2016
การตรวจวินิจฉัยเบาหวานต้องทำตามเกณฑ์ที่ถูกต้องนะครับ เพราะผู้ป่วยต้องรักษาไปตลอดชีวิต การตรวจนั้นมีหลายแบบตามความสะดวก ตามความน่าจะเป็นตามอาการที่พบ เราใช้การตรวจ 4 อย่างเพื่อวินิจฉัยครับ

1. การตรวจเลือดขณะที่งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง พอดื่มน้ำได้บ้างนะครับ ในคำแนะนำเขียนว่า งดพลังงาน 8 ชั่วโมง แล้วมาเจาะเลือด ใช้เจาะปลายนิ้วไม่ได้นะครับ ถือเอาค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

2. ถ้ามีอาการของเบาหวานชัดเจน เช่น กินจุ หิวน้ำมากๆ น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย ความเสี่ยงชัดเจน ก็เจาะเลือดตรวจเวลาใดก็ได้ ถือเอาค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

3. ใช้การทดสอบให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมละลายน้ำ แล้วรอสองชั่วโมงหลังจากนั้นก็เจาะเลือดติดตาม ถือเอาค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรเป็นเกณฑ์ ซึ่งมักทำต่อเนื่องกับการทดสอบในข้อหนึ่ง
ขั้นตอนนี้จะคล้ายๆกับการวินิจฉัยเบาหวานจากการตั้งครรภ์ โดยทำการทดสอบในข้อหนึ่งและข้อสาม และเพิ่มการตรวจเลือดที่ชั่วโมงที่หนึ่งหลังกินน้ำตาลด้วย เป็นเจาะก่อนกินน้ำตาลหนึ่งครั้ง ให้กินน้ำตาล หลังจากนั้นอย่าเพิ่งกินอะไรรอเจาะเลือดอีกครั้งอีกหนึ่งชั่วโมงและสองชั่วโมง โดยใช้ค่าน้ำตาลที่มากกว่า 92,180,153 ตามลำดับเวลา ค่าใดค่าหนึ่งก็ได้ (HAPO study)

4. ใช้การตรวจค่า HbA1c ที่เป็นน้ำตาลอิ่มตัวที่เกาะกับเม็ดเลือดแดง บอกเป็นค่าเฉลี่ยของน้ำตาลตลอดช่วง 8-10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าน้ำตาลตัวนี้ไม่แปรปรวนในช่วงเวลาต่างๆของวัน เจาะเลือดเวลาใดก็ได้ แต่ต้องระมัดระวังการแปลผลในคนที่โลหิตจางด้วยครับ และห้ามใช้อุปกรณ์การวัด HbA1c จากปลายนิ้ว ให้ใช้การเจาะเลือดจากหลอดเลือดไปทดสอบโดยวิธีที่ได้มาตรฐานและการรับรองจาก องค์กร NGSP , www.ngsp.org โดยใช้ค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% เป็นเกณฑ์ครับ

ไม่ว่าใช้การทดสอบใด ก็จะต้องทดสอบโดยวิธีเดียวกันสองครั้ง ต้องเกินเกณฑ์ทั้งสองครั้ง ในกรณีเกินแค่อันเดียวอาจนัดมาทดสอบซ้ำในอีกสามเดือนถัดไป ครับ และถ้าปกติดีแต่ยังมีความเสี่ยงเช่นมีพ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวาน อ้วนมาก เคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวมาก หรือเคยเป็นโรคหลอดเลือดต่างๆ ก็ควรตรวจซ้ำทุกสามปีครับ

การรักษาโรคให้หาย ป้องกันโรคได้ดี ต้องมาจากการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำก่อนนะครับ

26 กุมภาพันธ์ 2559

ดาราฮอลลีวู้ด กับ การติดเชื้อ HIV

ดาราฮอลลีวู้ด กับ การติดเชื้อ HIV

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ดาราฮอลลีวูด ชาร์ลี ชีน ได้ประกาศตัวต่อสาธารณชนว่าเขาคือผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ทันใดนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ตื่นตัวเกี่ยวกับโรคนี้กันมาก เหมือนกับกรณีไข้เลือดออกของคุณทฤษฎี กรณีมะเร็งรังไข่ของคุณพิมพ์มาดา กรณีการตัดเต้านมเพื่อป้องกันมะเร็งของแองเจลลิน่า โจลี่ หลายๆกรณีคนยังจำได้ หลายๆกรณีก็ลืมเลือน
วารสาร JAMA ส่ง twitter มาบอกข่าวแต่เช้าเกี่ยวกับการศึกษาผลของการประกาศตัวของชาร์ลี ชีน โดยดูข้อมูลการค้นหาโรคและคำที่เกี่ยวกับโรคจากสำนักข่าง bloomberg และ google ผมยังไม่เห็นตัววารสารเต็มๆนะครับแต่ก็งงว่าทำไมจึงต้องเป็นสำนักข่าว bloomberg ด้วย ผมเองฟัง CNN กับ BBC เขาก็ยังไม่ได้ "ให้ความสำคัญ" กับพื้นที่ข่าวนี้มากนัก

เขาทำการศึกษา 3 สัปดาห์นับจากวันประกาศ (ยังกะรู้ล่วงหน้า) ว่าวันที่ชีนประกาศตัวนั้น ข่าวต่างๆรายงานเกี่ยวกับเอชไอวีเพิ่มขึ้น 265% ในขณะที่ google รายงานการค้นหาเกี่ยวกับ HIV 2.75ล้าน การค้นหา โดยการค้นต่างๆพุ่งขึ้นสูงสุดใน 24 ชั่วโมงแล้วค่อยๆลดลง อย่างรวดเร็วในเวลาแค่ 72 ชั่วโมงเท่านั้น
ก่อนหน้านี้เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้ก่อนยุคอินเตอร์เน็ตในอุ้งมือ ซึ่งข่าวสารไม่ไวเท่านี้ก็ยังเป็นปรากฎการณ์พลิกโลกสำหรับการตื่นรู้โรคเอชไอวี คือเมื่อนักบาสเกตบอล เมจิก จอห์นสัน ประกาศตัวว่าติดเชื้อเอชไอวี

ปรากฏการณ์แบบนี้ต้องขออนุโมทนาบุญให้กับชาร์ลี ชีน ครับ ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับโรค การป้องกันและการรักษา รายงานการถามเกี่ยวกับถุงยางอนามัยก็เพิ่มมากนะครับ น่าจะเป็นโอกาสดีที่สาธารณสุขจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะอย่าลืมว่าปริมาณการค้นหาจำนวนมหาศาล มันจะต้องมีข้อมูลผิดๆออกมาอย่างแน่นอน ถ้าคนได้รับข้อมูลผิดๆ ปรากฏการณ์ชีนครั้งนี้อาจเป็นผลเสียมากมาย แต่ถ้าสาธารณสุขไทยทันเกมและเล่นกับสื่อเป็น จะช่วยสร้างความเข้าใจได้มากทีเดียว ในอารมณ์กำลังอยากรู้ พร้อมจะรับข้อมูลที่ถูกต้อง (เท่าที่ผ่านมา..จะเกมโอเวอร์ซะก่อนทุกที)

เพจเราก็เลย..เล่นกับสื่อ..ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง..ให้แฟนๆได้เสพกันอย่างฟินๆ

25 กุมภาพันธ์ 2559

อาการปวดตามเส้นประสาทหลังจากการติดเชื้องูสวัด

อาการปวดตามเส้นประสาทหลังจากการติดเชื้องูสวัด เป็นที่สงสัยกันมานานถึงแม้โรคจะหายไปแล้วแต่ทำไมยังปวดมาอยู่บ่อยๆ ตกลงว่าหายหรือยัง ?

อาการปวดแบบนี้ (ขอเรียกสั้นๆว่า PHN) เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับความรู้สึกซึ่งได้รับบาดเจ็บอย่างมากตอนที่งูสวัดยังขึ้นเป็นตุ่ม แถมตัวเชื้อยังไปฝังตัวอยู่ที่ปมประสาทรับความรู้สึกอีกด้วย ทำให้ยังมีอาการปวดต่อเนื่องอีกนาน และบางครั้งอาจมีอาการหนัก แค่สัมผัสเบาหรือลมพัดมาก็ปวดแสบที่เรียกว่า allodynia แต่ว่าอาการปวดต่างๆก็ไม่ได้มากจนถึงขั้นรบกวนชีวิตประจำวัน หรือปวดจนต้องตื่นแต่อย่างใด

ปัจจัยที่จะเกิดการปวดแบบนี้หลักๆคืออายุครับ ยิ่งเป็นงูสวัดตอนอายุมากจะยิ่งมีโอกาสเกิด PHN มากขึ้น อายุน้อยกว่า 60 โอกาสเกิด 5% อายุ 60-69 โอกาสเกิด 10% และถ้าอายุมากกว่า80 โอกาสเกิดมากกว่า 20% ส่วนปัจจัยที่จะช่วยลดการเกิด PHN คือการได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสงูสวัดตั้งแต่เริ่มเป็น ส่วนมากบ้านเรามักจะไป "เป่า" กันครับ นอกจากจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนจากน้ำลายคนแล้ว ยังเสียโอกาสที่จะได้รับยาต้านไวรัสภายใน 72 ชั่วโมง และถ้าได้ยาต้านไวรัสเร็วก็จะลดเวลาการดำเนินโรคและลดโอกาสการเกิด PHN นี้ครับ
การปวดนี้ไม่ได้อันตรายแต่ว่าน่ารำคาญและต้องใช้ยามากกว่า 1 ชนิดถึงจะจัดการอาการปวดนี้ได้ เพราะเป็นอาการปวดที่เส้นประสาทเองจึงมักจะหายยาก และเรามักจะเริ่มใช้ยาทีละตัวที่ขนาดต่ำๆแล้วค่อยๆปรับขึ้น หรือใช้ยาต่ำๆสองตัวร่วมกันก็ได้ครับเพื่อลดผลข้างเคียงจากยา ยาที่ใช้ได้ก็มีดังนี้ครับ

1. ยาแก้ปวดแบบทาเฉพาะที่ แนะนำอันนี้ก่อนครับ เพราะใช้ได้ผลดีและผลข้างเคียงต่ำมาก เช่นครีมยาชา ครีมcapsaicin และควรใช้ต่อเนื่องกัน 3-4 สัปดาห์ครับ

2. ยาต้านโรคซึมเศร้าชนิด tricyclic antidepressant ที่ใช้บ่อยก็ยา amitriptyline ที่เป็นยากินหลักในการรักษา PHN ที่ใช้ลดความไวเส้นประสาท แต่ก็ต้องระวังผลข้างเคียงจากยาเช่น หน้ามืด ปัสสาวะลำบาก ปากแห้ง ในกรณีทนไม่ไหวอาจใช้ยากล่ม SNRI แทนได้เช่น venlafazine แต่ก็ต้องระวังผลเสียเช่นกัน

3. ยากันชัก เดิมนั้นยา carbamazepine ใช้ได้ผลดีแต่เนื่องจากมีการแพ้ยามาก จึงมักใช้ยาในกลุ่มใหม่ๆที่ผลดีเท่าๆกับยาเก่าแต่ไม่ค่อยมีผลเสียเช่น gabapentin หรือ pregabalin

4. อนุพันธุ์ของมอร์ฟีน ก็มักจะใช้เมื่ออาการปวดรุนแรงนะครับ

ในกรณีอาการปวดรุนแรงมากและใช้ยาไม่ได้แล้วก็ยังมีวิธีการระงับปวดโดยใช้ยาชาเข้าที่ รากประสาทตรงไขสันหลัง ซึ่งก็อันตรายนะครับ และปัจจุบันหลายๆบริษัทยาก็กำลังทดลองยาใหม่อีกอย่างน้อย 2 ตัว (อยู่ในเฟสสาม) เพื่อมารักษาอาการนี้โดยเฉพาะครับ

การป้องกันดีกว่าการแก้ไขเสมอครับ

24 กุมภาพันธ์ 2559

อาหารปลอดกลูเตน gluten-free

อาหารปลอดกลูเตน gluten-free

วันนี้ไปจับจ่ายซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตามประสาพ่อบ้านที่ดี เหลือบไปเห็นป้ายติดที่ฉลากอาหารว่า GLUTEN-FREE เป็นเรื่องที่เคยอ่านสมัยยังเป็นแพทย์ประจำบ้าน คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวมากๆเพราะโรคนี้มักพบในชาวต่างชาติ แต่วันนี้..มาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านเราแล้วนะ
ทำไมต้อง Gluten-free และ gluten คืออะไร : gluten เป็นส่วนประกอบของโปรตีนและเส้นใยหลายชนิดที่อยู่ในเมล็ดธัญพืชเช่น ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ เราเอามาใช้ประกอบอาหารทำขนม ทำซีเรียลที่เป็นอาหารหลักของทางภาคพื้นยุโรป ทำให้อาหารเคี้ยวหนึบๆเช่นแป้งโดห์ที่ใช้ทำขนม มีคนบางกลุ่มเกิดมากับพันธุกรรมที่แพ้ gluten ซึ่งจริงๆแล้วแพ้โปรตีนที่ชื่อ "gliadin" ในgluten ---อันนี้น้องแพทย์ประจำบ้านต้องจำนะครับ คือ HLA-DQ2 และ HLA-DQ8 ---

การแพ้อันนี้เมื่อร่างกายได้รับโปรตีน gliadin เข้าไปก็จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง ต่อต้าน gliadin เพียงแต่ว่าเจ้าภูมิคุ้มกันตัวเองอันนี้มันอาจจะไปจับทำลายอวัยวะอื่นๆได้ด้วย เช่น ลำไส้ สมอง ผิวข้อ โรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหามากคือไปจับที่ลำไส้เล็ก ทำให้ผิวลำไส้เล็กถูกทำลาย ร่างกายไม่สามารถดูดซึมอาหารได้เกิดท้องอืด ถ่ายเหลว ขาดอาหาร เรียกโรคนี้ว่า Celiac disease ที่อาจเกิดตั้งแต่เด็กเลยเป็นปัญหาด้านโภชนาการที่สำคัญของเมืองนอกเขาครับ
โรคนี้เมื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มี gluten ก็จะดีขึ้นครับ อาการดีขึ้นและถ้าตัดชิ้นเนื้อในลำไส้ไปดูก็จะพบว่าดีขึ้นด้วย มีแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้นที่หลีกเลี่ยงอาหาร gluten แล้วยังมีอาการต่อไปเรื่อยๆ

งั้นก็ต้องหลีกเลี่ยง gluten : แม่นแล้วครับ คราวนี้เนื่องจากเจ้ากลูเตนมันอยู่ในอาหารเกือบทุกอย่าง (อาหารฝรั่งนะครับ) หรือบางทีก็เติมกลูเตนเพื่อเพิ่มโปรตีนและความหยุ่นของอาหารเช่น เป็ดพะโล้ เราจึงต้องใช้อาหารที่ไม่มีกลูเตน ซึ่งมาจากพืชที่ไม่มีกลูเตน เช่นถั่ว ข้าวเจ้า เมล็ดแฟล็กซ์ หรือใช้กระบวนการทางอุตสาหกรรมเพื่อเอากลูเตนออก (ใช้ในการผลิตเบียร์)
และต้องได้รับการยืนยันฉลากว่า ไม่มีกลูเตน จากองค์กร Codex Alimentarius international standard for food labeling เพื่อรับรองว่าไม่มีกลูเตน ซึ่งมาตรฐานการไม่มีกลูเตนจะวัดที่ ปริมาณกลูเตนน้อยว่า 20 PPM
ก็จะเห็นป้ายตามแหล่งขายอาหารว่า gluten-free และเข้าใจมากขึ้นนะครับ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราสามารถเรียนอายุรศาสตร์ได้ทุกที่ กระทั่งในซูเปอร์มาร์เก็ต

23 กุมภาพันธ์ 2559

การตรวจเอ็กซเรย์ปอดช่วยให้ท่านปลอดภัยจากมะเร็งปอดหรือไม่


การตรวจเอ็กซเรย์ปอดช่วยให้ท่านปลอดภัยจากมะเร็งปอดหรือไม่ ปัจจุบันนี้การทำเอ็กซเรย์ปอดสามารถทำได้อย่างแพร่หลาย ราคาไม่แพง ปลอดภัย หลายๆท่านจึงอยากจะตรวจเอ็กซเรย์ปอดสักครั้งสองครั้ง เพื่อความสบายใจว่าไม่เป็นมะเร็ง

แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ !!! ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน การทำเอ็กซเรย์ปอดเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการขั้นพื้นฐานของอายุรศาสตร์ก็จริง แต่เรามักจะทำเมื่ออาการทางคลินิกสงสัยโรคเท่านั้น และการตรวจเอ็กซเรย์ปอดเป็นแค่เงานะครับ ต้องอาศัยข้อมูลอื่นมาประกอบการวินิจฉัยด้วย ท่านเคยเห็นการทำมือแบบต่างๆแล้วออกมาเป็นเงารูปสัตว์ต่างๆที่ท่านเล่นตอนเด็กๆได้ไหม การเอ็กซเรย์ปอดก็จะคิดคล้ายๆกัน

สมัยเมื่อ 70 ปีก่อนได้เคยการนำเอ็กซเรย์ปอดมาคัดกรองหาโรคมะเร็งปอดครับ เพื่อหวังผลว่าน่าจะพบเร็วขึ้น ส่งเข้าผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ก็พบว่าไม่ช่วยอะไร หลังจากนั้นก็มีการศึกษาใหญ่มากที่ชื่อ PLCO (prostate lung colorectal ovarian) เพื่อคัดกรองหามะเร็งในระยะเริ่มต้นในหลายๆอวัยวะ ผลปรากฏจากการศึกษานี้ เรา"ไม่"แนะนำการใช้เอ็กซเรย์ปอดในการคัดกรองเลย

วันเวลาล่วงเลยผ่านไปถึงยุคของการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่ละเอียดขึ้นชัดขึ้น แต่ได้รังสีมากขึ้นและอาจต้องฉีดสีเพิ่มเติมก็มีการศึกษาทดลองว่าเอาเจ้านี่แหละ มาคัดกรองมะเร็งปอดน่าจะประสบผลสำเร็จ เป็นที่มาของการศึกษาทดลอง national lung screening trial เพิ่งสำเร็จไปไม่นานนี้ ไม่มีสปอนเซอร์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ทำโดยรัฐบาลเอง แต่คัดกรองในกลุ่มเสี่ยงครับ เช่น สูบบุหรี่จัด อายุ 50-75 ปี ผลปรากฏว่าการใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์นั้นสามารถตรวจจับก้อนขนาดเล็กได้มากขึ้น และต้องส่งคนที่มีก้อนเล็กๆเหล่านั้นไปตัดชิ้นเนื้อตรวจ

จริงอยู่ว่าในบรรดาคนที่ตรวจจับก้อนเล็กๆที่เอ็กซเรย์ปอดตรวจไม่พบนั้น เราสามารถวินิจฉัยมะเร็งระยะแรกและลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลงได้ แต่ในทางกลับกันเราก็ส่งคนไปตัดชิ้นเนื้อมากขึ้นและผลที่เป็นปรกติมันก็มากเช่นกัน เรียกว่าบางทีก็ส่งทำโดยไม่จำเป็นและ "เยอะ" เกินไป
เกินจำเป็น..ทำให้เกิดการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น อันตรายโดยไม่จำเป็น เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ทางอเมริกาเขาคำนวณออกมาว่าประมาณ 7000 บาทต่อการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หนึ่งครั้งที่จะต้องเสียไปเพื่อตรวจตัดชิ้นเนื้อต่อ แต่ว่าโอกาสเป็นผลบวกปลอมสูงถึง 96.4% มันก็เปลืองมากๆเลย นี่ขนาดกลุ่มที่เสี่ยงแล้วนะครับ ไม่ต้องพูดถึงเราๆท่านๆที่ไม่เสี่ยงแต่อย่างไร เพียงแต่อยากเห็นเพื่อความสบายใจ แอดมินเองก็ไม่รู้ว่าทำแล้วจะสบายใจหรือวุ่นวายมากขึ้น

ปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำการคัดกรองมะเร็งปอดสำหรับบุคคลทั่วไปครับ สำหรับในกลุ่มเสี่ยงคือ สูบบุหรี่มากๆนั้น อาจจะ ได้ประโยชน์จากการคัดกรองซึ่งใช้ค่าใช้จ่ายสูงและอาจต้องรับการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเราดีขึ้น สะดวกกว่านี้ ราคาถูกกว่านี้ อาจมีวิธีที่ดีก็ได้ต้องรอดูต่อๆไปครับ

วันนี้เล่าเรื่องราวแบบอ้างอิงแล้วสรุป เพื่อให้กระจ่างแจ้งแก่ใจ ไม่หลงเทคโนโลยี คิดด้วยสติ ที่สำคัญเซฟเงินในกระเป๋าได้เยอะเลยครับ

ที่มา Harrison's Principles of Internal Medicine 19th เขียนสรุปเรื่องนี้เอาไว้ดีมากๆ

22 กุมภาพันธ์ 2559

อาการเมารถ เมาเรือ

อาการเมารถ เมาเรือ

อาการเมารถ เมาเรือ เกิดจากอะไร แก้ได้อย่างไร ใช้ยาอะไร คำถามง่ายๆถ้าเข้าใจแล้วเราก็จะไม่เมาอีกครับ

โดยปกติร่างกายคนเรารับรู้ตำแหน่งได้หลายอย่างคือ หูชั้นใน สายตา อวัยวะที่อยู่ตามข้อต่อ เพื่อไปประมวลผลที่สมอง ถ้าการรับรู้เหล่านั้นประสานกันดีในทิศทางเดียวกัน เช่น คนขับรถกำลังจะเลี้ยวรถ ตาเขาจะมองไปตามทิศทางที่เลี้ยว หูชั้นในรับรู้ทิศทางเลี้ยวที่ไปในทางเดียวกันจึงไม่งง ไม่เวียนหัว แต่ในขณะเดียวกันผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังไม่รู้ว่าจะเลี้ยว หูชั้นในยังรับรู้ทิศทางตรงตามองตรง อยู่ดีๆแล้วหูชั้นในรับรู้ทิศทางเลี้ยวแล้วแต่ตายังมองตรงๆอยู่เลย ข้อมูลมันตีกันเองจึงเกิดอาการวิงเวียน เมารถ หรืออยู่ในเรือแต่นั่งหันหัวไปทางท้ายเรือ หูชั้นในบอกว่าเคลื่อนไปด้านหลัง แต่ข้อมูลจากดวงตาบอกว่าไปด้านหน้า พอข้อมูลตีกันเองจึงเกิดอาการเมารถเมาเรือ เมื่อปรับตัวและจูนสมองได้สักพักก็จะไม่เมาอีก

วิธีการรักษาคือ ให้ศีรษะนิ่งๆ มองจุดๆหนึ่งไกลๆมากๆ ในระยะอนันต์จุดๆนั้นจะคงที่ทำให้สายตาเรามองเห็นภาพเดียว ทิศทางเดียว การรับรู้ตำแหน่งต่างๆจะคงที่ ถ้าเป็นรุนแรงมากๆก็ให้ปิดระบบรับรู้ไปเลย เช่นปิดตาหรือนอนหลับไปเลย ข้อมูลนำเข้าก็จะไม่ขัดกัน หรือเมื่อเดินทางเสร็จแล้วก็นอนนิ่งๆ มักจะหายได้เอง

กันได้ไหม--ก็พอได้นะครับ ประกอบด้วยสามอย่าง อย่างแรกถ้าคุณเมารถง่ายก็อย่ากินอาหารมื้อหนักหรือเลี่ยนๆที่จะทำให้คลื่นไส้ อาจใช้น้ำอัดลม เครื่องดื่มเปรี้ยวๆหรือน้ำขิง อย่างที่สองให้การเดินทางของคุณราบรื่น นั่งเบาะหน้า นั่งตรงปีกเครื่องบิน อย่าก้มหน้าเล่นโทรศัพท์หรืออ่านหนังสือ เปิดรับอากาศบริสุทธิ์ ให้คิดว่าเราขับรถเราจะไม่เมารถ อย่างสุดท้ายคือการใช้ยา ยาที่ใช้ดีที่สุดคือ scopolamine หรือที่เมืองไทยจำหน่ายในชื่อ hyoscine ที่กินเวลาปวดท้องบีบท้องนั่นแหละครับ หรือแผ่นแปะหลังหู transderm-scop มีผลการศึกษาว่าดีกว่ายาหลอก

ส่วนยา dramamine ที่วางขายกันนั้นก็พอกันได้ครับ ประสิทธิภาพที่ได้ยังไม่ได้ดีกว่าหรือมีผลเสียมากกว่า hyoscine อย่าลืมว่าใช้กันนะครับไม่สามารถใช้แก้ไขอาการได้ ปัจจุบันมีการใช้สายรัดข้อมือ acupresser band ที่จะรัดและมีปุ่มอยู่บนจุด P6 ของวิชาฝังเข็มที่ช่วยแก่เมารถเมาเรือ คือ US FDA อนุมัติให้ใช้ได้นะครับ

ลองซื้อ hyoscine หรือ buscopan กินกันเมารถดูนะครับ โดยส่วนตัวไม่เคยมีคนไข้ป่วยมาพบแพทย์เพราะเมารถครับ จึงคิดว่าอาจไม่ค่อยคุ้มค่าถ้าจะกันอาการก่อนเกิดเพราะเกิด มันก็ไม่รุนแรง การใช้ก็กินหนึ่งเม็ดก่อนเดินทาง 60 นาทีหรือถ้าเดินทางนานๆ อาจกินซ้ำได้ในทุกๆ 6-8 ชั่วโมงนะครับ

อาการนี้อันตรายไหม คำตอบคือไม่อันตรายนะครับ ร่างกายสามารถปรับตัวได้เองจะใช้ยาเมื่อเป็นมากๆ แล้วจะเดินทางไม่สนุก แต่ก็พึงระวังผลจากยาเช่น หน้ามืดเวลาลุกนั่ง ใจสั่น โอกาสเกิดน้อยมากนะครับ

Cochrane Database Syst Rev. 2011 Jun 15;(6):CD002851. doi: 10.1002/14651858.CD002851.pub4.
Scopolamine (hyoscine) for preventing and treating motion sickness.
Spinks A1, Wasiak J

21 กุมภาพันธ์ 2559

ข้อคิดการเลิกบุหรี่

จบงาน meeting เลิกบุหรี่ ผมมาสรุปสิ่งที่ได้จากการพูดคุยกับคนที่จะเลิก คนที่เลิกแล้ว คนที่อยากให้คนที่รักเลิก เกี่ยวกับบุหรี่ดังนี้

1. ทุกคนอยากเลิก ทุกคนที่ติดรำคาญตัวเอง...แต่ไม่รู้วิธีเลิก

2. เวลาจะเลิกบุหรี่ คนส่วนมากจะค่อยๆลดปริมาณบุหรี่ลง ซึ่งมัก
จะไม่ประสบผลสำเร็จ (ควรกำหนด quitdate)

3. ภาพเตือนข้างซองบุหรี่..ดูน่ากลัวแต่ไม่ค่อยได้ "จูงใจ"ให้เลิก

4. สารพัดลูกอม หมากฝรั่ง ไม่ค่อยช่วยอะไรนัก

5. ส่วนมากมักจะเลิกเองมาแล้ว 2-3 ครั้ง

6. ครอบครัวจะสนับสนุนดี แต่เพื่อนๆที่สูบบุหรี่ด้วยกันจะไม่ช่วยอะไร

7. หลังขึ้นราคาบุหรี่ ไม่ค่อยส่งผลกับการไม่ซื้อ

8. ทุกคนมีอาการลงแดงหงุดหงิดบุหรี่ แต่ทนได้

9. ที่ทนไม่ได้และมักกลับไปสูบคือ เห็นคนอื่นสูบและ ต้องการไปสูบเอง ไม่ใช่จากความอยาก

10. ทุกคนเห็นว่าต้องใช้สามปัจจัย ใจที่อยากเลิก ยาช่วยเลิก และทีมสนับสนุน

11. ตอนนี้ราคาบุหรี่ 75-110 บาทต่อซอง ราคาเท่ากับยาอดบุหรี่ต่อวัน น่าจูงใจมาก

12. quit line 1600 ฟังไม่เข้าใจ มีระบบอัตโนมัติ ไม่จูงใจ

13. ทุกคนที่ติด...ต้องการบำบัด..และเข้าคลินิก อยากให้ภาครัฐหรือเอกชนมีบริการที่เข้าถึงมากกว่านี้
..
..14. เรามาร่วมมือ ลดภัยจากบุหรี่กันเถอะครับ

แถมรูปงานมีตตี้งเลิกบุหรี่มาให้ชม โอกาสหน้าจะจะัดอีกครับ ไม่ว่าเรื่องนี้หรือเรื่องใดๆ ง่ายๆตามปรัชญา "อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว"

ปล. เหลือเสื้ออีกเล็กน้อย สนใจก็หลังไมค์นะครับ

19 กุมภาพันธ์ 2559

national drinkwine day

สวัสดีครับ เช้านี้ twitter ของผมขึ้นเตือนว่าเป็น national drinkwine day วันดื่มไวน์แห่งชาติของอเมริกา 18 กพ. ทำไมเป็นวันดื่มไวน์ล่ะ น่าสนใจเลยกดดูข้อมูลจาก annals of internal medicine และ mayo clinic เอามาสรุปง่ายๆให้ฟังครับ

ก่อนหน้านี้เราเคยพบสาร polyphenols ที่อยู่ในไวน์แดงที่ชื่อว่า resveratrol ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบเส้นเลือด ลดไขมัน LDL ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือด เพิ่ม HDL ที่ช่วยปกป้องเส้นเลือด น่าจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ แต่การศึกษาเกือบทั้งหมดทำในสัตว์ทดลองนะครับ โดยเฉพาะในหนูซึ่งผลต้านอนุมูลอิสระของ resveratrol ถ้าคิดว่าจะเอามาใช้ในคนให้ได้ผลนั้น ต้องดื่มไวน์แดงวันละ 1000 ลิตร !!!!

บทสรุปย่อของการศึกษา CASCADE ที่พิมพ์ในวารสาร annals ของ วิทยาลัยแพทย์อายุรศาสตร์อเมริกา เปรียบเทียบผลที่เกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมดีๆ แบ่งให้ไวน์ขาว ไวน์แดง หรือน้ำแร่ 150 ซีซีต่อวันตอนอาหารเย็น ติดตามไปสองปี ก็พบว่าในกลุ่มที่ดื่มไวน์แดงไขมันลดลงเล็กน้อยเท่านั้นครับ การควบคุมน้ำหนัก น้ำตาล ไม่ได้ต่างกัน และในกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์นั้นก็เฉพาะมีพันธุกรรมการจัดการแอลกอฮอล์ในตัวช้าๆเท่านั้น (ชีวิตจริงคงไม่มีใครทราบพันธุกรรมอันนี้)

ผมอยากจะบอกว่า มันประสบความสำเร็จในสัตว์ทดลองเท่านั้นนะครับ ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบดีๆหรือ รวบรวมการศึกษาที่ดีพอครับที่จะบอกว่า การดื่มแอลกอฮอล์ได้ประโยชน์ แต่ว่าถ้าคุณเลิกเหล้าไม่ได้จริงๆก็ควรเปลี่ยนมาดื่ม ไวน์แดง วันละไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานครับ ถ้าคิดจากไวน์แดงแห่ง บอรก์โดส์ ฝรั่งเศสที่ 13% แอลกอฮอล์ ก็จะดื่มได้ ประมาณ 275 ซีซีต่อวันครับ

ตามคำแนะนำอาหารเมดิเตอเรเนียนที่มีผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือดครับ สุดท้ายจะดื่มน้อยลงเองเพราะไวน์แดงแท้ๆ มันแพงมากครับ

วันนี้ใจดี ให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้วันนึงนะ
พรุ่งนี้มีมีตติ้งเรื่องเลิกบุหรี่นะครับ ใครสนใจเชิญได้ครับ

18 กุมภาพันธ์ 2559

ไตวาย..อุทธาหรณ์ใกล้ตัว

ไตวาย..อุทธาหรณ์ใกล้ตัว

คนไข้เป็นเบาหวานและความดัน กินยาสม่ำเสมอวินัยดีมาก แม้ว่าจะป่วยหนักก็ไม่หยุดยา ผลที่เกิดมันน่าตกใจกว่าที่คิดครับ
โดยอนุญาตจากผู้ป่วยต้องการให้เป็นวิทยาทาน ผมขอเล่าเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริงที่จะมาเตือนท่านๆครับ ผู้ป่วยอายุ 60 ปี รักษาเบาหวานและความดันอยู่ ใช้ยา metformin, losartan, enalapril, simvastatin มีอาการถ่ายเหลวรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนมาก กินได้แต่น้ำเล็กๆน้อยๆมา3วันแต่ว่ากินยาครบถ้วน เมื่ออาการถ่ายเหลวลดลงไม่อาเจียนแล้ว แต่ยังเพลียมาก ลุกไม่ขึ้นและปัสสาวะแทบไม่ออกเลย จึงมาตรวจครับปรากฏว่าตรวจพบ ไตวายเฉียบพลัน เลือดเป็นกรดรุนแรง เกลือแร่โปตัสเซียมในเลือดสูงเล็กน้อย จึงต้องเข้าแอดมิทรักษาตัวและหาสาเหตุ

สรุปเลยนะครับ ผู้ป่วยมีภาวะไตวายเฉียบพลันจากเดิมที่เป็นเบาหวานความดันมานาน (แต่ตรวจไตปกติดีตลอด) พอมีสาเหตุที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำคือถ่ายเหลวมากและอาเจียน และยังกินน้ำได้น้อยอีก ร่างกายจึงขาดน้ำมากๆ และ..และ..ผู้ป่วยยังกินยาเดิมเท่าเดิม..ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เลยนะครับ แต่ว่ามียาที่ทำให้ไตวายได้หากร่างกายขาดน้ำรุนแรงและมียาที่ทำให้เกิดเลือดเป็นกรดได้ในภาวะไตเสื่อม มูลเหตุทั้งหมดประจวบเหมาะกันพอดีทำให้ผู้ป่วยรายนี้เกิดปัญหาครับ ตอนนี้ผู้ป่วยหายดีแล้ว แต่ประเด็นที่อยากสื่อคือตรงนี้ครับ
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเบาหวานไม่ว่าชนิดฉีดหรือกินจะต้องระมัดระวังหากกินอาหารไม่ได้ การกินยาบางชนิดต่อเนื่องอาจทำให้น้ำตาลต่ำเช่น glibenclamide gliclazide glimepiride gliplizide หรือยาฉีดอินซูลิน และถ้ากินอาหารไม่ได้ อาเจียน จนเริ่มมีภาวะขาดน้ำรุนแรง ไตเสื่อมจะต้องระวังการใช้ยา metformin, dapagliflozin, canagliflizin และ empagliflozin ที่อาจทำให้เลือดเป็นกรดได้ ส่วนยาลดความดันที่ลงท้ายด้วย -pril และ -sartan นั้นก็ทำให้ไตวายได้ในภาวะขาดนัำรุนแรง ถ้ามีคลื่นไส้อาเจียนถ่ายเหลวมาก คงต้องหยุดยาชั่วคราวครับ

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ ตัวเองก็จำใส่ใจมาตลอด และคิดได้ว่าเราก็ไม่ได้เตือนคนไข้ทุกคน อาจมีรายที่เกิดจากเราไม่ได้เตือนไปป่วยที่อื่นๆอยู่ก็ได้ และอาจมีคนที่กำลังจะป่วยแบบนี้อยู่อีก ต้องขอขอบคุณผู้ป่วยรายนี้ที่จิตกุศล ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้ไปเกิดกับใครจึงอนุญาตให้ผมเอาเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังครับ
ผู้ป่วยคงไม่ทราบเองแน่ๆ เป็นหน้าที่ของบุคลากรทางสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จะต้องเน้นย้ำความสำคัญตรงนี้บ่อยๆ และผู้ป่วยและญาติก็จะต้องจดจำข้อจำกัดในการใช้ยาของตนด้วย และต้องระวังความถูกต้องของข้อมูลด้วยนะครับในกรณีหาข้อมูลจากอินเตอร์เนต (ข้อมูลที่ถูกต้องมักเขียนเข้าใจยาก คนอ่านชอบเรื่องเข้าใจง่ายๆ..เป็นที่มาของเพจผมน่ะครับ อิอิ)

ผู้ป่วยรายนี้ทราบว่าควรรักษาต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแต่ไม่ทราบเรื่องสภาวะที่ต้องระวังการใช้ยา และไม่ทราบจะถามใคร โดยส่วนตัวผมแนะนำว่าถ้าไม่มั่นใจในการใช้ยาให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันทีครับ บางครั้งความเคยชินหรือคำพูด "คงไม่เป็นไร" มันเกิดผลเสียที่น่าเสียดายมากนักต่อนัก

--เอ...ถ้าไม่รู้จะถามใคร จะส่งข้อความมาถามแอดมิน จะดีไหมน้าาา...-

17 กุมภาพันธ์ 2559

pay for performance

pay for performance

ข่าวนี้ดังพอตัวเลยครับ ลงใน the Wall Street Journal วารสารทางการเงินการคลังชื่อดังของโลก แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอายุรศาสตร์ จริงๆแล้วก่อนหน้านี้เราก็เคยมีงานวิจัยใหญ่ๆหลายๆอันที่ลงพิมพ์ในวารสารอื่นๆ #เพื่อผลทางการค้าของบริษัทยา อาศัยกระแสและความเชื่อทำให้มูลค่าการขายและการลงทุนเพิ่ม โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาผลดีผลเสียของการศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อน
แต่ข่าวนี้ ต่างออกไปนะครับ เมื่อประมาณสองปีก่อน มีการศึกษาที่ชื่อ PARADIGM-HF ศึกษายาตัวใหม่ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งผลการศึกษาออกมาดีมาก ผู้ป่วยอาการดี โอกาสเสียชีวิตลดลง โอกาสเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง ตอนั้นก็ฮือฮามาก ผมเองยังอ่านอยู่ตั้งสองสามรอบ ขณะนั้นยังเป็นชื่อยาที่ใช้การทดลองว่า "LCZ696" พอวันเวลาผ่านไป เจ้ายาใหม่นี้ก็พร้อมจำหน่ายในชื่อ Entresto (sacubitril/valsaran) ---ฝากนิดนึงถ้าน้องๆหมอไปอ่านเพิ่มเรื่อง angiotensin-receptor-neprilysin inhibitor หรือ ARNI--- และ อย.อเมริกาก็อนุมัติการขายได้

เรื่องราวมันก็ดูดีนะครับ จนกระทั่งบริษัทประกันชีวิต Cigna และ Aetna ได้ประกาศว่าพวกเขาจะจ่ายให้กับ รพ.และคนไข้ เมื่อคนไข้ได้ยา Entresto แล้วจะต้องเกิดประโยชน์ตามที่อ้างตามการศึกษาทดลอง เท่านั้น!!! เอาละสิครับ ความจริงใครจะไปคาดเดาได้ว่าผลการรักษามันจะดีตามการศึกษา แล้วถ้าบริษัทประกันไม่จ่าย หมายความว่า 4560 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี ประมาณ 170,000 บาทต่อปี คนไข้คงต้องรับภาระไป (รพ.ในอเมริกาที่ชื่อดังและเป็นที่อบรมเฉพาะทางส่วนมากเป็นโรงพยาบาลเอกชนหรือของมูลนิธิไม่หวังผลกำไรนะครับ)
เวลาทำการศึกษาทดลองทางการแพทย์นั้น คนไข้ที่เข้าทดลองจะได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ ถูกต้องครบถ้วน วัดค่าต่างๆตามเวลา มีระบบโทรไปเตือนให้กินยา ผลการศึกษาก็เป็นแบบนึง....แต่ว่า ในชีวิตแห่งความเป็นจริง ใครจะโทรไปเตือนครับ ยาจะกินหรือเปล่า ห้ามกินเค็มจะทำได้กี่คน ยาหมออื่นๆยาป้าเช็ง กินกันให้หนุกหนาน มาวัดผลบ้างไม่มาบ้าง ติดตรุษจีน เช้งเม้ง หญ้าตาย บุญบั้งไฟ .. แล้วท่านคิดว่าผลการรักษามันจะเป็นไปตามการศึกษาทดลองได้จริงๆหรือครับ ไม่ต้องเป็นยาใหม่หรอกครับ ไอ้เจ้ายาโบราณที่สุดคือ แอสไพริน ที่กินเพื่อลดอัตราการเกิดซ้ำของหลอดเลือดสมองนั้นจากการศึกษาใช้ได้ดีมาก แต่ในชีวิตจริงกลับพบว่ากลับมาเป็นซ้ำกันมากมาย ส่วนหนึ่งก็เกิดจากไม่กินยาหรือประเด็นที่ผมกล่าวไปซึ่งนอกเหนือจากยา...

ใครถูกใครผิด คิดกันเอาเองนะครับแต่ผมว่าอีกไม่นาน #ระบบแบบนี้จะมากขึ้นและมาถึงประเทศไทย--อย่าง--แน่--นอน—

Cigna. Cigna implements value-based contract with Novartis for heart drug Entresto [press release]. February 8, 2016.
Humer C. Novartis sets heart-drug price with two insurers based on health outcome. Reuters, February 9, 2016.
Stynes T. Novartis reaches Entresto pay-for-performance deals with Cigna, Aetna. Wall Street Journal, February 9, 2016.

16 กุมภาพันธ์ 2559

ปริมาณการดื่ม

"ดื่มเหล้าเยอะไม๊" ตอบยากมากนะครับ พวกที่ดื่มเหล้ามากๆจนชินก็บอกนิดเดียว เท่าที่ถามมานะครับ ไม่เคยมีใครบอกว่าดื่มมากเลย พอที่บอกว่าดื่มบ้างหรือดื่มพอควร พอคำนวณจริงๆ ก็จะดื่มมากครับ

เราวัดปริมาณการดื่มเป็น standard drink หรือ ดื่มมาตรฐานโดยที่ 1 ดื่มมาตรฐานคือดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป 14 กรัม ได้พลังงานจากแอลกอฮอล์ 98 กิโลแคลอรี่ (ยังไม่นับน้ำตาล น้ำเชื่อม มิกซ์เซอร์) คำนวณโดยมาตรฐานดังนี้ เอาปริมาณที่ดื่มคิดเป็นเดซิลิตร หรือ เป็นซีซีหารด้วย 100 นั่นแหละครับ คูณ 0.78 คูณ เปอร์เซนต์ ได้ผลออกมาเป็น แอลกอฮอล์กี่กรัม อยากรู้ว่ากี่ดื่มก็หาร สิบสี่ ครับ ในบางประเทศก็ใช้ตัวเลขอื่นนะครับ เช่นในออสเตรเลียใช้ 10 กรัมเป็นหนึ่งดื่มมาตรฐาน ประเทศอังกฤษใช้ 8 กรัม ส่วนที่ญี่ปุ่นใช้ 19.75 กรัมครับ

เช่นเบียร์ 5% ดื่มสองกระป๋อง หนึ่งกระป๋อง360 ซีซี ได้ว่า (2×360)÷100 = 7.2 เดซิลิตร แล้วคำนวณแอลกอฮอล์ 7.2×5×0.78 28.08 กรัม คิด้ป็น 28÷14 สองดื่มมาตรฐาน คิดเป็นพลังงาน 28×7 = 196 กิโลแคลอรี่ เยอะนะครับ

อ้าว...แล้วดื่มขนาดไหนที่เรียกว่า "ติดเหล้า" ปริมาณการดื่มเป็นแค่ปัจจัยอันหนึ่งที่จะบอกว่าติดหรือไม่ติด ถ้าจะติดก็จะต้องมีอาการ อยากดื่ม ต้องดื่มมากขึ้นๆ ถึงจะได้อารมณ์เดิม หยุดดื่มแล้วเริ่มมีปัญหาและถ้าไปดื่มแล้วอาการลงแดงนั้นจะหายไป จึงจะอยู่ได้ ... ทางการแพทย์เราใช้แบบประเมิน AUDIT ที่ช่วยประเมินการติดเหล้า มีเวอร์ชั่นแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆจากองค์การอนามัยโลก ให้ท่านได้ลองทำดูครับ ถ้าคะแนนของท่านตั้งแต่ 8 ในสุภาพบุรุษ และตั้งแต่ 4 ในสุภาพสตรี ก็ควรเข้าสู่กระบวนการประเมินเพื่อเลิกเหล้าต่อไป ในกรณีคะแนนเกิน 16 ก็รักษาได้เลย แต่ถ้าคะแนนไม่ถึง ก็ควรรักษาตัวให้ดีโดย
ถ้าเลิกได้ ให้เลิกเลย ถ้ายังเลิกไม่ได้ ต้องลดการดื่มแล้วพยายามเลิกต่อไป ผู้ชายอายุไม่เกิน 65 ปี อย่าดื่มเกิน 14 ดื่มต่อสัปดาห์ และ ผู้หญิงหรือชายอายุมากกว่า 65 ปี อย่าดื่มเกิน 7 ดื่มต่อสัปดาห์ครับ เพราดื่มเหล้าก็จะอ้วนเพิ่มมากขึ้นนะครับและอาจะมีปฏิกิริยากับยาที่ท่านใช้อยู่ได้ครับ

ลองทำ การทดสอบ AUDIT ดูนะครับ วันหลังจะกล่าวถึงกลยุทธ์และยาเลิกเหล้าครับ

15 กุมภาพันธ์ 2559

คางทูม

เด็กแถวบ้านคนหนึ่ง คางโย้ด้านซ้าย มีอักษรจีนเขียนที่แก้ม ได้ความว่าเป็นคางทูม กว่าจะหาคนที่เกิดปีเสือมาเขียนเสือได้ก็สองวัน -แต่ไม่ไปหาหมอแฮะ- เอ้า..มาดูเรื่องคางทูมกันหน่อยนะ

คางทูม (mump) เป็นการติดเชื้อไวรัสครับเชื้อแพร่กระจายทาง น้ำมูกน้ำลายคล้ายๆไวรัสหวัด อาการก็คล้ายๆกัน ไข้ น้ำมูกเจ็บคอปวดเมื่อยตัว และส่วนมากก็หายไปได้เองในสี่ห้าวันครับ บางทีเป็นแล้วหายแล้วยังไม่รู้ตัวเลย ส่วนที่จะมีอาการของต่อมน้ำลายอักเสบมีแค่ครึ่งเดียวเองครับ และเกือบทั้งหมดของคนที่มีอาการจะเกิดอาการอักเสบที่ต่อมน้ำลายหน้าหู (parotid gland) ข้างใดข้างหนึ่งครับ --จริงๆแล้วในปากมีต่อมน้ำลายอีกมากแต่ขนาดไม่ใหญ่ อาการไม่มากครับ-
ต่อมน้ำลายหน้าหู จะวางตัวในแนวจากใบหู ลากมาที่มุมกระดูกกราม และลองกัดฟันแน่นๆ จะมีกล้ามเนื้อปูดโปนขึ้นมาตรงกราม ชื่อกล้ามเนื้อ masseter ต่อมน้ำลายหน้าหูอยู่ตรงนี้ครับ ถ้าไปมีก้อนที่อื่นอาจเป็นต่อมน้ำเหลืองมากกว่าต่อมน้ำลาย เวลาต่อมน้ำลายอักเสบก็จะเจ็บและเคี้ยวแล้วเจ็บครับเป็นอาการที่พบบ่อยๆของคางทูม

คางทูมหายเองนะครับ ให้ยาแก้ปวด ลดไข้ กินอาหารกลืนง่ายๆ 4-5 วัน ก็พอดีกับเวลาที่ปากกาเมจิกที่ใช้เขียนเสือมันจางพอดี เขียนเสือแล้วก็เลยหายไงครับ ผลแทรกซ้อนอื่นๆพบน้อยมาก ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่มีผลข้างเคียงอันหนึ่งที่ต้องระวังคือ อัณฑะอักเสบหลังจากคางทูม พบได้ 15-20% ครับ หายเองเหมือนกันและไม่เป็นหมันนะครับเพราะเกิดแค่ข้างเดียว ส่วนอาการแทรกซ้อนของอัณฑะอักเสบถ้าเป็นพังผืดนั้นก็อาจมีบุตรยากหรือแก่ตัวไปก็ขาดฮอร์โมนเร็วขึ้น ในสุภาพสตรีก็มีรังไข่อักเสบนะแต่น้อยมากๆๆครับ

ส่วนมากเราได้วัคซีนกันตั้งแต่เด็ก เป็นวัคซีนรวม หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน แต่ผลการป้องกันมันก็ลดลงตามเวลาครับ ยังไม่มีคำแนะนำชัดเจนว่าต้องฉีดเพิ่ม ยกเว้นในบุคลากรสาธารณสุขครับ ควรตรวจเลือดดูว่ามีภูมิไหม ถ้าไม่มีก็ฉีดสองเข็ม และคนท้องห้ามฉีดนะครับ

ต่อไปไม่ต้องเสียเวลาหาคนเกิดปีขาลแล้วนะครับ ไปหาหมอดีกว่าครับ

14 กุมภาพันธ์ 2559

เรื่องความก้าวหน้าทางการแพทย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

เรื่องนี้น่าสนใจมากครับ มาจากบรรยายของท่านอาจารย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี ในงาน CardioCocktail 2016 ครับ คือเรื่องความก้าวหน้าทางการแพทย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

1. ภาพและการมองเห็น อย่างนี้เลยครับ เอาหัวอ่านอัลตร้าซาวนด์ต่อเข้าสมาร์ทโฟนแล้วอ่านค่าได้เลย ทั้งการอัลตร้าซาวนด์หัวใจ การอัลตร้าซาวนด์ช่องท้อง ทำอัลตร้าซาวนด์ช่วยดูเวลาเจาะเลือด ปัจจุบันนี้เริ่มมีแอป แล้วนะครับ อีกหน่อยคงใช้กันทุกคน

2. การทำ MRI ด้วยการใช้อัตราการทำภาพที่สูงและละเอียด เห็นหมดเลยครับ เส้นเลือด ตะกรัน ลิ่มเลือด การบีบตัว กล้ามเนื้อที่ยังคงอยู่ ตอนนี้ยังแพงมากแต่อนาคตมาแน่ครับ

3. ภาพพิมพ์สามมิติ คืองี้ครับ พอเราสแกนหัวใจคนไข้เสร็จ เราเอาเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ ใช้ยางพิเศษขึ้นรูป เป็นหุ่นยางหัวใจคนไข้คนนั้นเลย ลิ้นรั่วลิ้นตีบ เห็นกันจะๆ อธิบายคนไข้ได้ตรงๆเลยเข้าใจง่าย รวมทั้งวางแผนการรักษาว่าจะใช้ลิ้นเทียมแบบไหน ใส่ตรงไหน พอดีหรือเปล่า ว้าวไหมครับ!! ที่ว้าวกว่านั้น ตอนนี้คณะวิทย์มหิดลกำลังพัฒนาอยู่ครับ

4. อุปกรณ์ติดตามตัว เหมือน apple watch นะครับ อ่านค่าชีพจร ความดัน อุณหภูมิ ความเข้มข้นออกซิเจน ส่งผ่านสัญญาณ 4G เข้าศูนย์ควบคุม หมอปรับการรักษาได้เลยเป็นการดูแลแบบ realtime และตอนนี้พัฒนาไปเป็นชิพบางๆแปะที่ข้อมือ ส่งข้อมูลได้เกือบทุกอย่าง

5. big data คือเอาข้อมูลต่างๆที่มีในโซเชียล มาวิเคราะห์เพื่อคาดเดา โรค ความเสี่ยงต่างๆ อาจารย์ยกตัวอย่างการศึกษาอันหนึ่งในอเมริกา เขาเก็บรวบรวมการทวิตที่บ่งชี้อารมณ์เครียดเอามาวาดรูปว่าบริเวณใดของอเมริกาที่ทวิตเตอร์แบบเครียดๆ (มันจะละเมิดสิทธิไหมเนี่ย) แล้วพบว่าบริเวณเหล่านั้นเป็นบริเวณเดียวกันกับที่ศึกษาด้วยวิธีทางการแพทย์ว่าเกิดโรคหัวใจมากกว่าบริเวณอื่นๆครับ อืมมม ยากนะ แต่คนที่เขาจัดการข้อมูลได้ดีๆคงจะทำประโยชน์ได้มากทีเดียว

6. ยา อนาคตยาจะไปออกฤทธิ์ที่จุดเกิดโรคโดยตรงเลยนะครับ ไม่ไปยุ่งกับระบบและอวัยวะอื่นเลย จะไม่มีผลข้างเคียงเลย ผมยกตัวอย่างนิดนึง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 9 และ 22 ตัวยาอีมาตินิบ imatinib มันไปออกฤทธิ์ตรงนี้เลยครับทำให้โครโมโซมกลับเป็นปกติ และการใช้ยาก็จะไม่ใช่สารเคมีแล้ว แต่จะเป็นสารสังเคราะห์ที่เลียนแบบโครงสร้างมนุษย์ จึงแทบไม่เกิดปฏิกิริยาเลย แต่...แพงมากๆๆๆๆๆ

7. stem cell คือสเต็มเซลจริงๆที่จะเอามาทำเป็นเนื้อเยื่อครับ ไอ้พวกที่ฉีดหน้าเด้งดึ๋งๆนะ หลอกทั้งนั้น เอาเซลต้นกำเนิดมาเพาะเลี้ยงปรับให้วิวัฒนาการไปเป็น เซลเยื่อบุและกล้ามเนื้อหัวใจ ไปปลูกถ่ายกับหัวใจที่กล้ามเนื้อตาย ตอนนี้เริ่มสำเร็จแล้วนะครับ

8. NanoBot คือหุ่นตัวจิ๋วๆ ฉีดเข้าไปในตัวมันจะไปถึงจุดที่เกิดโรคแล้วซ่อมแซมครับ อย่างกับในหนัง แต่ตอนนี้ Harvard Medical School ทำสำเร็จในหนูที่มีไขมันอุดตันในเส้นเลือดแล้วนะครับ อีกไม่นานหมอคงทำแค่ วินิจฉัยแล้วหยิบหุ่นให้ถูกชนิด ฉีดแล้วกลับไปนอนได้

เรื่องสนุกๆวันอาทิตย์ครับ รายงานสดจาก CardioCocktail 2016 : the Zign พัทยา

12 กุมภาพันธ์ 2559

อาการปวดศีรษะจากยา

เวลาเราปวดหัว เราจะรับประทานยาแก้ปวดเพื่อหวังผลลดอาการปวดศีรษะและสบายขึ้น แต่ทราบไหมครับว่า การใช้ยาแก้ปวดมากเกินไปก็ทำให้ "ปวด" ได้เช่นกัน

อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ คือ ไม่มีสาเหตุอื่นๆ เช่น ไมเกรน หรือจากกล้ามเนื้อตึง ถ้าเรากินยาแก้ปวดต่อเนื่องนานๆ ไม่มีช่วงเว้นหรือกินเพื่อกันปวด จะเกิดอาการปวดศีรษะแย่ลงเมื่อใช้ยา เรียกว่า medication-overused headache จะคล้ายๆกับติดยาครับ เพราะใข้ขนาดเดิมไม่ได้ผลเลยต้องเพิ่มขนาดไปเรื่อยๆ อาการก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เลิกยาไม่ได้สักที คราวนี้ล่ะครับผลข้างเคียงต่อตับต่อไต ต่อกระเพาะของยาแก้ปวดก็จะปรากฏขึ้น

ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนนะครับว่าเกิดจากอะไร ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นพันธุกรรม (Val66Met polymorphisms) และสารสื่อประสาท ซีโรโทนิน ...ช่างมันเถอะครับ แต่อาการและสิ่งที่จะบอกว่าน่าจะเกิดภาวะนี้ขึ้นคือ
1. อาการปวดศีรษะเกิดมากกว่าเดือนละ 15 วัน
2. ใช้ยาแก้ปวดเฉียบพลันมากกว่า 3 เดือน
3. อาการปวดแย่ลงเมื่อกินยามากเกิน
(4) อาการปวดลดลงหรือเป็นปกติในสองเดือนหลังหยุดยา ข้อสี่นี้อาจทำได้ยาก ปัจจุบันเราไม่ใช้แล้ว แต่ผมว่าเป็นการวินิจฉัยที่ดีนะ

ไม่ว่าจะใช้ยาอะไรก็เป็นได้ครับ แต่ยาที่เกิดภาวะนี้มากสุดคือยารักษาไมเกรน
แล้วจะทำไงล่ะ "กินมากก็ปวด ไม่กินก็ปวด" ประโยคนี้ผมว่าเป็นประเด็นเลยนะ ที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้ เราแนะนำแบบนี้ครับ

อย่างแรก ให้มีวันพักยาบ้าง กินยาเท่าที่จำเป็น ปวดรุนแรงจึงกิน ไม่กินเพื่อกันปวด หรือกินมากเกิน จะเลือกหยุดแบบหักดิบได้..ถ้าไม่ใช่ยา กลุ่มฝิ่นและอนุพันธ์เช่นมอร์ฟีน หรือ ยากดประสาทกลุ่ม benzodiazepines..
อย่างที่สอง พอหยุดยาแล้วเกิดปวดขึ้นมาก็ใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่น ขนาดต่ำๆไม่นานนัก ไม่งั้นเดี๋ยวติดยาตัวใหม่อีก
อย่างที่สาม ใช้วิธีอื่นด้วยเช่นใช้ยากันชักป้องกันไมเกรนในกรณีปวดบ่อยๆ ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ นอนให้พอ

สุดท้ายหมอควรเข้าใจอาการปวดของคนไข้ และคนไข้ก็ควรจะเชื่อฟังการปรับยาของหมอครับ โรคนี้จะหายได้ต้องปรบมือสองข้างพร้อมกันครับ

เครดิตภาพ au.lifestyle.yahoo.com

ที่มา *BMJ. 2010;340:c1305
* lancet neurol 2004;3:475
* MOH ใน maximizing medical-care efficiency อ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร จุฬาฯ

11 กุมภาพันธ์ 2559

ยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิด

ในการดูแลผู้ป่วยทางอายุรกรรมโดยเฉพาะกับสุภาพสตรี บางครั้งต้องแนะนำเรื่องยาคุมกำเนิดเพราะอาจส่งผลต่อการรักษาของเราและบางครั้งยาของเราก็ไปทำให้ยาคุมกำเนิด ออกฤทธิ์น้อยลง อาจเกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้ มีสองหัวข้อครับ ยาที่ทำให้ยาคุมอาจไม่มีประสิทธิผล กับภาวะทางอายุรกรรมที่ไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ให้ไปใช้วิธีอื่นแทน

ประการแรกถ้าคุณกินยาต่างๆเหล่านี้อยู่จะต้องระมัดระวังเลยนะครับ #ยาคุมที่คุณกินอาจไม่ได้ผล ถ้าไม่ชัวร์ให้ใช้วิธีอื่นร่วมด้วย (ทางอายุรกรรมเรานิยมถุงยางอนามัยมากๆครับ) ยาต่างๆเหล่านี้คือ ยากันชักทุกตระกูลครับ ยาวัณโรค rifampicin และยาต้านไวรัสที่มียา ritonavir ผสมอยู่ด้วยซึ่งเราใช้รักษา HIV เป็นหลัก
ประการที่สองคือโรคและภาวะต่างๆเหล่านี้ 12 ประการ ไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดครับให้ไปใช้วิธีอื่น เนื่องจากเป็นข้อห้ามการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดครับ

1. ตั้งครรภ์ ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนใช้ครับ

2. โรคหลอดเลือดดำอุดตัน โดยเฉพาะถ้ายาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเกิน 50 ไมโครกรัม

3. โรคหลอดเลือดแดงสมองหรือหัวใจอุดตัน โดยเฉพาะเพิ่มโอกาสเกิดเลือดออกในสมองและเยื่อหุ้มสมอง

4. โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ เนื้องอกที่ตอบ สนองฮอร์โมน ไม่ได้หมายความว่ากินแล้วจะเป็นนะครับ แต่หมายถึงถ้าเป็นแล้วห้ามกิน

5. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ที่ยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย


6. โรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ ควบคุมดีแล้วก็พอกินได้ครับ

7. โรคหลอดเลือดผิดปกติทั้งหลาย หลอดเลือดอักเสบ หลอดเลือดอุดตัน และ โรคเบาหวานที่มีผลต่อหลอดเลือดแล้ว

8. อายุมากกว่า 35 และสูบบุหรี่มากกว่า 15 มวนต่อวัน --ส่วนตัวผม แค่สูบก็ไม่ควรใช้ครับ

9. โรคลิ่มเลือดแข็งตัวผิดปกติ (thrombophilia)

10. ภาวะตับอักเสบที่ยังอักเสบเฉียบพลันอยู่ตอนนี้ จากสาเหตุใดๆก็ตาม ถ้าอักเสบเรื้อรังก็พอๆได้นะครับ

11. เป็นโรคไมเกรนชนิดที่มีอาการเตือน เช่น เห็นแสงวูบวาบก่อนปวด ได้ยินเสียงผิดปกติก่อนปวด ไมเกรนชนิดอื่นไม่มีรายงานว่าห้ามใช้ครับ

12. ภาวะที่จะต้องนอนหรือขยับร่างกายไม่ได้นานๆ เช่นผ่าเข่า ผ่าสะโพก กระดูกทับไขสันหลัง เพราะถ้านอนนานๆจะเกิดเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว ยิ่งใช้ยาคุมจะยิ่งเกิดเลือดแข็งตัวและลิ่มเลือดมากขึ้นครับ

ที่มา CDC., MMWR 2010 June 18 :59
CMDT 2012

10 กุมภาพันธ์ 2559

การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ infective endocarditis

แค่ "ถอน" ฟันก็ "สั่น" ไปถึงหัวใจ

ครับเป็นอย่างนั้นจริงๆ เรื่องบางเรื่องก็มีเส้นใยบางๆเชื่อมโยงกันอยู่ เป็นหน้าที่ของอายุรแพทย์อย่างผมที่ต้องโยงเส้นบางๆนั้นไว้ ถ้าไม่ทำมันก็จะสะเทือนถึงใจคนไข้ได้ ผมจะกล่าวถึงการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจครับ
ลิ้นหัวใจเป็นทางผ่านของเลือดในอัตรา 4-5 ลิตรต่อนาทีครับเมื่อใดมีการติดเชื้อในกระแสเลือดก็อาจไปเกาะหนึบที่ลิ้นหัวใจจนเกิดเป็นแผลจากการติดเชื้อดังรูปได้ ร่างกายเราก็แสนมหัศจรรย์ครับป้องกันได้ดีทีเดียว ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงโอกาสติดเชื้อจะน้อยมาก ท่านลองคิดดูครับทุกครั้งที่เราแปรงฟัน แคะฟัน ใช้ไหมขัดฟัน แค่นี้ก็มีเชื้อแบคทีเรียฟุ้งกระจายเข้าไปในเลือดแล้ว ท่านที่ไปสักยันต์ สักสี เจาะลิ้น เจาะสะดือ เชื้อโรคก็ฟุ้งเข้ากระแสเลือดแล้ว ต้องมีความพอเหมาะพอดีจริงๆจึงติดเชื้อได้

ในอดีตเมื่อ เกือบ20ปีก่อน ทางการแพทย์เราระวังทุกอย่างที่เชื้อโรคจะฟุ้งกระจายเข้าเลือดแล้วไปเกาะกับหัวใจ ไม่ว่าจะใส่สายสวน ส่องกล้อง กลัวหมดทุกอย่าง แต่พอได้ทำการศึกษามากขึ้นพบว่า ไอ้การแปรงฟันทุกวันเนี่ย มันฟุ้งกระจายมากกว่าและบ่อยกว่า ไปทำฟัน ไปใส่สายต่างๆเสียอีก ยังไม่ติดเลย จึงได้กำหนดเกณฑ์ใหม่เพื่อไม่ให้ตกใจกลัวมากเกินไป ไม่ให้เสียสตางค์ป้องกันเกินควร ไม่ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อพร่ำเพรื่อจนเกิดการดื้อยา โดยประกาศแนวทางของแพทย์โรคหัวใจยุโรป ในงาน ESCcongress 2015
หัวใจที่เสี่ยงจะติดเชื้อคือ ลิ้นหัวใจเทียมหรือมีวัสดุซ่อมแซมที่เป็นของเทียม เคยเป็นติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจมาก่อน (มีแผลเป็น) โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดที่ยังไม่ได้ซ่อมหรือซ่อมแค่บางส่วน


และการกระทำที่จะทำให้เชื้อฟุ้งเข้ากระแสเลือดอันเดียวที่เสี่ยงคือ การทำฟัน การรักษาเหงือก หรือ มีบาดแผลที่เยื่อบุข้างแก้ม

จะต้องเสี่ยงทั้ง "ใจ" และ "การกระทำ" พร้อมๆกันนะครับจึงจะต้องป้องกัน โดยกินยาamoxicillin หรือฉีดยา amplicillin ขนาด 2 กรัมก่อนทำฟันสัก 30 นาทีครับและถ้าแพ้ยาเพนนิซิลินให้ใช้ยา clindamycin 600 มิลลิกรัมแทนครับ
เป็นหน้าที่ของคนไข้ต้องทราบว่าเราเสี่ยง เป็นหน้าที่ของหมอที่ต้องทราบว่าต้องให้ยาเมื่อจะต้องทำฟัน ถ้าต่างคนต่างรู้หน้าที่ โอกาสเกิดติดเชื้อจากลิ้นหัวใจจะลดลงครับ

09 กุมภาพันธ์ 2559

ยาที่ทำให้มีตับอักเสบบ่อยๆครับ

ยาที่ทำให้มีตับอักเสบบ่อยๆครับ

1. พาราเซตามอล เป็นอันดับหนึ่งเลย พบบ่อยและจะพบอีก เพราะเราใช้ยาพารากันผิดมากๆ กินกันไข้ กันดักเอาไว้ กินสองสามเม็ด ขนาดยาที่ปลอดภัยก็ไม่เกินวันละ 4 กรัมหรือ 8 เม็ด ไม่นับพวกประชดชีวิตกินยาฆ่าตัวนะครับ บางทีกินในขนาดลดไข้15-20 กรัม ในเวลาสามวันก็มีพิษได้ ส่วนมากจะไม่มีอาการครับพวกที่ตัวเหลืองหรือคลื่นไส้อาเจียนมากๆมักจะเกิดตับอักเสบรุนแรง การรักษาใช้ยา N acetylcyteine ครับ

2. ยาปฏิชีวนะ amoxicillin/clavuronate จริงๆแล้วอัตราการเกิดตับอักเสบก็ไม่มากครับ 1/100000 ราย อาจมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ค่าการทำงานตับผิดปกติ เกิดได้ตั้งแต่วันแรกจนไปอีก 6-8 สัปดาห์ การรักษาต้องเปลี่ยนยาครับ

3. ยาต้านวัณโรค pyrazinamide เป็นยาวัณโรคที่เกิดตับอักเสบมากสุด ยังไม่ทราบกลไกที่แน่นอน อีกตัวที่พบรองลงมาคือยา rifampicin ที่มักจะมีการอักเสบแบบมีการคั่งของน้ำดี

4.ยากันชัก phenytoin, carbamazepine, valproate ทั้งสามตัวเกิดตับอักเสบได้ทั้งหมด และมักเป็นโดยที่ไม่มีอาการใดๆ ตรวจพบค่าการทำงานของตับผิดปกติเท่านั้น

5.ยาลดไขมัน จะพบการทำงานของตับจากผลเลือด ผิดปกติเล็กน้อยและเป็นชั่วคราวเท่านั้น นานๆไปก็ดีขึ้น ตาถ้าเป็นตับแข็งรุนแรงหรือตับวายเฉียบพลันก็ไม่แนะนำใช้ยานี้ครับ

6.ยากดภูมิ methotrexate มักเกิดในคนที่ได้รับยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปีหรือขนาดสะสมมากว่า 1500 มิลลิกรัม เกิดจากตับมีพังผืด การเจาะเลือดมักจะปกติ เราต้องใช้การตัดชิ้นเนื้อตับหรือการทำ elastogram ด้วยเครื่องความถี่สูงหรือการทำ MRI เมื่อมีการเกิดพังผืดปานกลางให้หยุดยา

เมื่อเกิดเหตุคงต้องหยุดยาครับทั่วไปมักจะหายเองได้ครับ บางครั้งตัวยาไม่มีพิษแต่พอยามันมากเกินและออกฤทธิ์เสริมกัน ก็อาจเกิดตับอักเสบได้ ที่สำคัญที่สุดคือต้อง ชะลอความเสี่ยงอื่นด้วย โดยเฉพาะเหล้าครับ

08 กุมภาพันธ์ 2559

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน ถือเป็นโรคที่ซับซ้อนและยากมากโรคหนึ่งในทางอายุรศาสตร์และประสาทวิทยาเนื่องจากความหลากหลายของโรคและอาการ รวมทั้งการตอบสนองของการรักษาไม่เหมือนกันเลย ผมขออธิบายง่ายๆสั้นๆที่สุด รายละเอียดนั้นยากเกินกว่าที่จะกล่าวในเพจนี้คนครับ
โรคพาร์กินสันนั้นเกิดจากความเสื่อมของสมองและสารสื่อประสาท โดปามีน ที่ลดลง ทำให้การควบคุมการเคลื่อนที่ของร่างกายไม่ราบรื่น ตะกุกตะกัก เป็นมากๆก็อาจแข็งเกร็งไปเลย ไม่ได้เกิดกับทุกคนครับ ส่วนมากก็จะมีประวัติพันธุกรรม อายุมาก

เมื่อโรคเกิดจากความเสื่อม จึงรักษาไม่หายขาด ทำได้สูงสุดแค่บรรเทาอาการ ทำให้การเคลื่อนที่ของร่างกายดีขึ้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต และไม่เครียดกับการที่ร่างกายเราต้องติดๆขัดๆ แม้ปัจจุบันจะมีการรักษาผ่าตัดกระตุ้นสมองก็ยังไม่ยืนยันว่าจะใช้ได้ดีกว่ายาครับ
อาการเบื้องต้นมักจะเป็นน้อยๆข้างเดียว พอนานๆไปก็จะเป็นมากขึ้นและเท่าๆกันทั้งสองข้าง อาการสี่อย่างที่ค่อนข้างแม่นยำกับโรคนี้คือ

1. สั่น จะเริ่มสั่นที่มือก่อนสั่นขณะอยู่เฉยๆไม่ทำอะไร แบบปั้นลูกกลอนเล็กๆ
2. เคลื่อนที่ช้า ขยับตัวทำอะไรเชื่องข้า โดยเฉพาะจังหวะแรกของการเคลื่อนไหว
3. ตัวแข็ง คือการเคลื่อนที่ไม่ราบเรียบ ขยับยาก เป็นแบบกึกๆๆ ไปตลอด ประมาณเครื่องยนต์สะดุด เดินไม่เรียบ
4. ท่ายืนไม่มั่นคง ล้มง่าย เดินก็จะช้าๆ ก้าวสั้นๆ ก้มคอเดิน หมุนตัวลำบาก

อาการอื่นๆเช่น หน้าเรียบเฉย กลืนไม่ถนัด ถ้าเป็นมากๆก็จะลุกลามไปการเคลื่อนที่ของอวัยวะภายในด้วยเช่น ท้องผูก เหงื่อออกน้อย ลุกนั่งแล้ววูบ
เมื่อสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคนี้ คุณหมอก็จะแยกโรคอื่นๆที่อาการเหมือนกัน แต่รักษาได้ดีกว่า เช่นมีอาการจากยาโดยเฉพาะยาลดอาเจียน จากฮอร์โมนผิดปกติ เมื่อแยกโรคอื่นออกและยืนยันโรคพาร์กินสัน หมอจะให้ยาเพื่อไปทำให้สื่อประสาทโดปามีน มากขึ้นหรือยาไปออกฤทธิ์แทนโดปามีน ก็จะทำให้อาการดีขึ้น ดำรงชีวิตได้มีความสุขมากขึ้น รู้สึกไม่เป็นภาระ ไม่เครียด แต่ก็ต้องปรับยาเรื่อยๆนะครับ ยาพวกนี้ใช้ไปนานๆก็จะเริ่มไม่ค่อยได้ผลตามต้องการ และมีผลทางการเคลื่อนที่อื่นๆ หรือกับเรื่องทางจิตเวชได้ครับ เรื่องยาจะวุ่นวายและซับซ้อน เอาไว้เรียบเรียงง่ายๆได้เมื่อไรจะเขียนให้อ่านนะครับ

พาคนที่ท่านรักไปรักษาโรคนี้เถอะครับ เขาจะได้กายดี ใจดี และครอบครัวท่านก็จะมีความสุขขึ้นครับ

07 กุมภาพันธ์ 2559

ความงามของการฝึกสอนแพทย์

ขอพาท่านย้อนเวลากลับไป 18 ปีก่อน ไปที่การราวด์วอร์ดอายุรศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ผมอยากเล่าความหลังให้ท่านได้เห็นความงามของการฝึกสอนแพทย์ครับ วันเวลาจะเริ่มประมาณ 0645 น ของทุกๆวอร์ดสามัญ แต่ละทีมนั้นจะมี นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 และ 5 ทำงานร่วมกับนักศึกษาแพทย์หลักประจำทีมนั้นคือนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หกหรือนักศึกษาแพทย์เวชปฎิบัติ โดยนักศึกษาแพทย์จะได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยประมาณ 3-4รายต่อคน ส่วนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หกนั้นต้องทราบผู้ป่วยทั้งหมดในหอนั้นหรือในสายย่อยๆนั้น

เช้ามานักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 และ 5 ก็จะไปติดตามความเป็นไปของผู้ป่วยที่ตนเองได้รับมอบหมาย อาการเมื่อคืนวัด สัญญาณชีพ เจาะเลือดและติดตามผลเลือดที่เกิดขึ้นเมื่อคืน นักศึกษามีผู้ป่วยในความดูแลไม่มากจึงสามารถลงลึกในรายละเอียดได้มาก ตัวเลขต่างๆที่ยิบย่อย เขาจะรู้และจำได้ครับ การตรวจร่างกายเบื้องต้น มีนักศึกษารวมกัน 5 คนก็รับผิดชอบเกือบหมดสายแล้วครับ ส่วนพี่ใหญ่คือนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หกนั้นส่วนมากต่อสายการดูแลผู้ป่วยจะมีกันสองคน แบ่งกัน ช่วยกันคู่คิด คู่ถามกัน นศพ.ปีหกนี้ก็จะเก็บข้อมูลรายละเอียดข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น ประมวลผลจากข้อมูลที่น้องปีสี่และปีห้าตรวจได้มาคิดรวบยอดภายในเวลาอันรวดเร็ว และคิดต่อไปถึงแนวทางการรักษา ขั้นตอนนี้น้องก็จะแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยตัวเองให้พี่ๆเห็น แสดงผลทักษะการตรวจร่างกายและแปลผลแล็บให้พี่ๆฟัง พี่ก็จะช่วยขัดเกลาหรือสอนน้องๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูลนั้นด้วย จะสอนกันตรงนี้ พี่ก็จะใช้ประสบการณ์และวิชาการที่ตัวเองก็จะต้องไปอ่านมาเกี่ยวกับผู้ป่วยมาสอนน้องๆ ขั้นตอนนี้จะน่ารักมาก พี่สอนน้อง และน้องๆผู้หญิงก็มักจะได้รับการดูแลอย่างดี

เมื่อถึงเวลา 0700 ถึงเวลาจริงๆแล้ว ก็จะมีแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ซึ่งจบแพทย์แล้วมาเรียนเฉพาะทาง นำทีมตรวจผู้ป่วยในสายการดูแลของตนทุกคน พอเริ่มเตียงใด นักศึกษาแพทย์ปี4หรือ5 และปีหก ก็จะร่วมกันนำเสนอการติดตามผู้ป่วยรายนั้น แพทย์ประจำบ้านจะฟังและตรวจสอบความถูกต้องถ้ายังไม่ถูก ยังไม่ครบ ก็จะสอนและตรวจให้ดูเพิ่มเติม รวมถึงสอนการรักษา การแก้ปัญหาผู้ป่วยต่างๆ และอาจมีการถามตอบ สอนวิชาการสั้นๆเกี่ยวกับผู้ป่วยรายนั้นๆ สอนการรักษาและเซ็นรับรองการรักษา เพราะน้องๆนักศึกษาแพทย์ยังรักษาผู้ป่วยด้วยตัวเองไม่ได้เนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั่นเอง ก็จะตรวจไปทีละคนจนครบ

ขณะที่เริ่มการตรวจนั้น ก็จะเริ่มมีแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สองมาตรวจผู้ป่วยพร้อมกับ แพทย์ต่อยอดสาขา คือเป็นการดูแลผู้ป่วยเฉพาะลงไปอีก เพราะในโรงเรียนแพทย์เน้นการเรียนเป็นหลัก ผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีปัญหาเฉพาะด้านหลายด้าน เช่นต้องปรึกษาทีมแพทย์สาขาโรคหัวใจ และโรคปอด ในช่วงเวลานี้ก็จะมีแพทย์ประจำบ้านปีสองที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคต่างๆในเชิงลึกและมีแพทย์ฝึกอบรมเฉพาะสาขา (เฟลโลว์)คอยให้คำแนะนำ มาตรวจผู้ป่วยและมาให้คำปรึกษาให้ทีมด้วย ทีมการรักษาในแต่ละสายก็จะมีข้อมูลในการรักษาคนไข้มากขึ้น ตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น

ช่วงสุดท้ายก็จะมีพี่ใหญ่ แพทย์ประจำบ้านชั้นปี่ที่สามประจำหอผู้ป่วยนั้นๆ คอยตอบคำถามและให้คำปรึกษา ตัดสินใจเรื่องการดูแลในกรณีซับซ้อน ตัดสินใจการจำหน่ายหรือรับผู้ป่วยและปรึกษาต่างแผนก คอยสอนและให้คำปรึกษาโดยที่มีน้องๆคอยช่วยทำงานเป็นการแลกเปลี่ยนกัน
งดงามจริงๆครับ

05 กุมภาพันธ์ 2559

รายงานความเสี่ยงและอัตราการป่วยการเสียชีวิตของ องค์การอนามัยโลกในปี 2010

สาเหตุที่อยากทราบเรื่องนี้คือ เรารักษาคนไข้ตลอด เป็นมาตรการเชิงรับทั้งสิ้น เราจะแก้ไขต้นเหตุอย่างไร และ อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกันแน่เลยลองไปค้นคำตอบดูครับ น่าสนใจดี

รายงานความเสี่ยงและอัตราการป่วยการเสียชีวิตของ องค์การอนามัยโลกในปี 2010 ข้อมูลนี้องค์การอนามัยโลกเก็บต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ 2004 เพื่อประเมินและควบคุมความเสี่ยงทั้งหลาย เป็นรายงานที่ทุกคนอ่านได้นะครับ เพื่อให้ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงในแนวใด ป้องกันให้ถูก ส่วนภาครัฐก็เอาไปใช้เป็นนโยบายชาติเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วย การเสียชีวิตและภาระที่ต้องรับรักษา เขาคำนวณโดยคิดว่าความเสี่ยงต่างๆนั้นส่งผลให้เกิดอันตรายสองประการ

ประการแรก..เสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มที่ ยังไม่สมควรเสียชีวิต
ประการที่สอง ..คุณภาพชีวิต เขาวัดโดยใช้

disability-adjusted life year (DALYs)
คือถ้ามีความเสี่ยงนี้ จะต้องอยู่อย่างไม่มีประสิทธิภาพไปกี่ปี ยิ่งเยอะแสดงว่า เป็น ภาระเยอะนั่นเอง
ประเทศที่ร่ำรวยก็จะมีสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตแตกต่างออกจากประเทศยากจนจึงทำให้การปัจจัยเสี่ยงต่างกันออกไป ผมยกตัวอย่างเช่นในประเทศร่ำรวยนั้น ความมีอันจะกินคือ นน.เกินเป็นสาเหตุของโรค แต่ในขณะประเทศยากจนนั้น ความไม่มีจะกินคือปัญหา ประเทศที่รวยนั้นรูปแบบอุตสาหกรรมและการบริการก็ต่างจากชาติที่จน มลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดโรคก็จะต่างกัน ประเทศไทยนั้นทาง WHO จัดในกลุ่ม low to middle income

ที่อ่านมาพบว่าสาเหตุและความเสี่ยงที่ถึงตายในกลุ่มประเทศรวยหรือจน ไม่ต่างกันมากนัก แต่ว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อยู่อย่างทรมาน เจ็บง่ายตายช้านั้นจะมีผลมากๆกับกลุ่มประเทศยากจน คิดว่าคงเป็นจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และงบประมาณทางสาธารณสุขครับ

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นห้าอันดับแรกที่ทำให้เสียชีวิตตามลำดับมีดังนี้ครับ
1.ความดันโลหิตสูง
2.สูบบุหรี่
3.น้ำตาลในเลือดสูง
4.ขาดการออกกำลังกาย
5.น้ำหนักตัวมากเกิน

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เจ็บง่ายตายช้า ทรมานหลายปี เรียงตามลำดับดังนี้ครับ
1. นน.ตัวน้อย คือขาดอาหารในกลุ่มประเทศยากจนเป็นหลัก
2. เซ็กส์ที่ไม่ได้ป้องกัน โดยตรงกับเอดส์เลยครับ
3. เหล้า โดยเฉพาะกับอุบัติเหตุการจราจร
4. อนามัยน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด เกี่ยวพันกับโรคติดเชื้อครับ

โดยประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความเสี่ยงในทุกๆกลุ่มที่จะทำให้พิการ ทรมาน สูงมากสูงพอๆกับประเทศแถบแอฟริกาเลยนะครับ โดยเฉพาะเรื่อง โรคเอดส์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ อาหารโคเลสเตอรอล และอัตราการให้นมแม่ต่ำ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะไปมีผลต่อคุณภาพประชากรต่อไปครับ
ประเทศไทยมีชื่อติดรายงานด้วย ในประเทศกลุ่มที่มีความเสี่ยงตายและพิการจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก และ เมาแล้วขับติด อันดับโลก..ดีใจจะดีไหม..และบอกว่าแม้มาตรการการใส่หมวกนิรภัยในบ้านเราจะดีมากเป็นตัวอย่างแก่โลกได้แต่อัตราการตายหรือพิการก็ยังสูงมากอยู่ดี

...ป้องกัน ดีกว่า รักษา..

03 กุมภาพันธ์ 2559

ยาแก้ไอ - ยาขับเสมะ- ยาละลายเสมหะ

ยาแก้ไอ - ยาขับเสมะ- ยาละลายเสมหะ มันต่างกันอย่างไร แล้วจำเป็นต้องใช้ไหม

ยาแก้ไอ ยาลดอาการไอ แท้จริงแล้วมันไปกดกลไกการไอ ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติในการขับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ทำให้ไอลดลงเราก็ทรมานลดลง แต่ก็อาจทำให้สารคัดหลั่งและเสมหะต่างๆไม่ออกมานะครับ อาจติดเชื้อหรืออุดตันได้ ยาแบ่งออกสองอย่าง อย่างแรกไปกดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง หลักๆคือมอร์ฟีนและอนุพันธุ์ของมอร์ฟีน และยาโคเดอีน กดการไอก็จริงครับแต่มีผลต่อสมองเช่นซึม และเป็นมอร์ฟีนนะครับอาจเกิดติดยาได้ ยาอีกกลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่สมองแต่ไม่ใช่มอร์ฟีน คือ ยาเด็กซ์โตรเมโทรแฟน ซึ่งวางจำหน่ายตามร้านยาได้ พวกนี้กดการไอและง่วงซึมได้แต่ไม่ติดยาครับ ผลการรักษาของยากลุ่มนี้ ดีกว่าไม่กินอะไรเลยหรือดีกว่ากินยาหลอก เพียงเล็กน้อย แต่ผลข้างเคียงมากครับโดยเฉพาะง่วงซึม

ยาแก้ไออีกกลุ่มจะไปลดความไวของการกระตุ้นเส้นประสาท ทำให้ไม่รู้สึกระคายเคือง ไม่ไอ จะออกฤทธิ์นอกสมอง ไม่ง่วงซึมคือ levodropropizine วางขายที่ร้านยาได้เช่นกัน #ประสิทธิภาพดีกว่ายาหลอกเล็กน้อย คือพอๆกับกลุ่มแรกนั่นแหละครับแต่ผลเสียน้อยกว่า

จริงๆการศึกษามันหลากหลายกลุ่มมากๆ จึงไม่สรุปชัดเจนว่า "ต้องใช้" หรือ "ควรใช้" ส่วนใหญ่จะใช้ในไอเป็นเลือดมากๆ หรือมะเร็งครับ

ยาขับเสมหะ (expectorant) คือยาที่ทำให้เสมหะเหลวๆในทางเดินหายใจ ต้องเหลวๆไม่หนืด ไม่มาก ขับออกได้ดีขึ้นตามกลไกการขับปกติ หมายความว่าถ้าเสมหะเหนียวมากหรือ กลไกผิดปกติเช่น อุดตัน ก็อาจขับไม่ออกนะครับ ยากลุ่มนี้คือ ยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) และ สารประกอบไอโอดีนกลีเซอรัล ที่มาผสมในยาแก้ไอน้ำดำต่างๆ จริงๆแล้วผลการศึกษาจะอยู่ในโรคปอดเป็นพังผืด cystic fibrosis และ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังหรือที่รู้จักกันในชื่อ ถุงลมโป่งพองครับ ยากลุ่มนี้วางจำหน่ายตามร้านยาเช่นกัน ผลการศึกษานั้นสำหรับการไอทั่วไปหรือจากโรคหวัด เจ็บคอ ปอดบวมนั้น #ประโยชน์ไม่ต่างจากยาหลอกครับ ยกเว้นว่าจะช่วยลดอาการไอและการอุดตันของเสมหะในผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองและโรค cystic fibrosis ครับ (แต่ไม่ลออัตราการเสียชีวิตและไม่เพิ่มสมรรถนะปอด)

ยาละลายเสมหะ (mucooytics) ยาจะไปทำให้เสมหะที่เหนียวๆและเกาะกันเป็นก้อนใหญ่ เกิดใสขึ้น กระจายแตกออกเป็นก้อนเล็กลง ทำให้ขับออกง่าย นั่นคือต้องมีแรงขับดีๆด้วยนะครับถ้าไอไม่ได้ แรงไม่พอก็ขับไม่ออก ยากลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีคือ N-acetylcyteineที่เป็นผลละลายน้ำ หรือรูปเม็ด และอนุพันธุ์เช่น carbocysteine ยากลุ่มนี้ก็จำหน่ายตามร้านยา ในต่างประเทศจะมีรูปแบบพ่นใส่ปอดเป็นละอองฝอยด้วย ส่วนผลการศึกษานั้นจะมีประโยชน์ในโรคถุงลมโป่งพองและพังผืดปอดครับ (ผลดีคล้ายๆกับยา expectorant) โรคไอจากสาเหตุอื่นๆนั้นยังไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจนและ ยังต้องพิจารณาถึงผลเสียของยาด้วยถ้าใช้ระยะยาวจากผลการต่อต้านอนุมูลอิสระของยา

สรุปว่า ผลดีของยาทั้งหมดไม่ชัดเจนเลยต้องรอผลการศึกษาดีๆก่อน และบรรดาที่ศึกษาออกมาก็มีจุดบกพร่องอีกมากที่ต้องปรับ ดังนั้นจะใช้หรือไม่ใช้ก็ไม่ผิด และอย่าลืมว่าต้องรักษาสาเหตุการไอด้วยครับ อาการไอจึงหาย และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้นะครับ

1.RESPIRATORY CARE • JULY 2007 VOL 52 NO 7
2.De Blasio et al. Cough 2011, 7:7
3.Cochrane Review : Over-the-counter (OTC) medications for acute cough in children and adults in community settings

02 กุมภาพันธ์ 2559

คำแนะนำเกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 2015

คำแนะนำเกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 2015

ในอดีตนั้นเราเคยแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสุภาพสตรี ทุกปีและทุกคน เมื่อเวลาผ่านไปทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่าปัจจัยหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรีนั้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) และเราได้ศึกษาการดำเนินโรคและพฤติกรรมของไวรัส รวมทั้งพัฒนาวัคซีนที่ช่วยลดโอกาสการพัฒนาตนไปเป็นมะเร็งของไวรัส จึงได้ทบทวนแนวทางใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น แต่ในกรอบความคิดของเขาที่ว่าวัคซีนใช้อย่างแพร่หลายนะครับ ปัจจุบันใช้ 4 สายพันธุ์ อนาคตเราใช้ 9 สายพันธุ์นะครับ

ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป ไม่ทำให้เกิดการตัดชิ้นเนื้อโดยไม่จำเป็น สุภาพสตรีก็ไม่ต้องรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่ต้องตรวจบ่อยๆ แนวทางนี้ประกาศใช้โดย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์อเมริกา (ประมาณนี้ครับ เพราะจะเรียก ราชวิทยาลัย คงไม่ถูกทีเดียวนัก) แนวทางคล้ายๆ USPSTF, ACOG, ACS แตกต่างกันที่ การตรวจหาการติดเชื้อ HPV อาจทำได้ทุกคนถ้าผู้รับการตรวจต้องการ นอกเหนือจากนั้นคล้ายกันครับ แนวทางที่เขาประกาศมา 6 ข้อ และผมขอเพิ่มส่วนตัวในข้อที่ 7 ครับ

1.เริ่มคัดกรองตั้งแต่อายุ 21 ปี โดยทำทุกๆ 3 ปี

2.อายุน้อยกว่า 21 ไม่ต้องคัดกรอง

3.อายุน้อยกว่า 30 ไม่ต้องคัดกรองหาการติดเชื้อไวรัส HPV

4.สตรีที่อายุตั้งแต่ 30 ปีสามารถใช้การทดสอบคู่ มะเร็งและติดเชื้อ HPV ต้องเป็นทั้งสองอันนะครับ ถ้าเป็นทั้งสองอันนี้ ทำทุกๆ 5 ปี

5.เมื่ออายุ 65 ปีแล้ว ไม่ต้องคัดกรองอีก ถ้า

A. ผลการตรวจคัดกรองมะเร็ง 3 ครั้งหลังสุด ผลว่าไม่พบมะเร็ง
B. ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งและการติดเชื้อไวรัส HPV 2 ครั้ง หลังสุด ผลว่าไม่มีการติดเชื้อและไม่มะเร็ง

6.สตรีที่ไม่มีปากมดลูก ไม่ต้องคัดกรองครับ

7.**อันนี้ส่วนตัวนะครับ สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ควรคัดกรองเช่นกันนะครับ**

อ่านจากต้นฉบับแล้วเป็นการศึกษาแบบติดตามเป็นส่วนมากมีการศึกษาแบบทดลองบ้างแต่ไม่มาก ประเมินแล้วน่าจะใช้ได้ครับ ส่วนจะเหมาะกับประเทศเราจริงไหมนั้น เรายังไม่ทราบอัตราการเกิดโรคที่ชัดเจนนักและอัตราการใช้วัคซีนยังต่ำอยู่ อาจต้องมีการเปรียบเทียบข้อมูลในประเทศไทยอีกครั้ง ส่วนตัวผมถ้าคุณได้รับวัคซีนและเข้าตรวจได้ทุก 3-5 ปีโดยไม่ลืมและมีศักยภาพที่จะจ่ายเองได้ ผมว่าทำตามน่าจะได้แล้วครับ

01 กุมภาพันธ์ 2559

ไวรัสซิก้า

ไวรัสซิก้า

ขออัปเดตข้อมูลของซิก้าไวรัสกันหน่อยนะครับ เอาแบบบ้านๆ ง่ายๆตรงๆ จะได้ไม่กลัวครับ ข้อมูลจาก CDC, WHO ตีหนึ่งวันนี้เอง

คำถามแรกก่อนเลย - มันมาเมืองไทยหรือยัง คำตอบคือยังครับตอนนี้มีรายงานการติดเชื้อในประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้เท่านั้น แต่ก็มีโอกาสมาถึงได้และมาทางการเดินทางของคนนะครับ ยุงคงบินมาไม่ได้ ผมแท็กรูปจาก CDC มาให้ดูสถานการณ์ระบาดตอนนี้

คำถามที่สอง - เชื้ออะไร ติดอย่างไร เชื้อไวรัสตระกูลเดียวและเป็นพี่น้องฝาแฝดกับไวรัสไข้เลือดออก dengue และไข้เลือดออกชิคุนกุนย่า chikungunya ที่ระบาดในบ้านเรานี่แหละครับ ติดต่อก็จากยุงลายเหมือนกัน ถิ่นที่อยู่เดียวกันเป๊ะๆ เวลายุงไปกัดคนที่มีเชื้อในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย เชื้อจะเยอะมากเข้าสู่ร่างกายยุงแล้วแพร่ไปถ้ายุงไปกัดคนอื่น จะกันได้ไหมนะหรือ..ไม่ได้อย่างแน่นอนครับ เรากันไข้เลือดออกมาเป็นสามสิบปี กันได้ไหมล่ะ

คำถามที่สาม -- อาการเป็นไง รุนแรงไหม ตายไหม อาการเหมือนไข้เลือดออก..อีกแล้ว คิดในใจว่าจะตั้งชื่อยากๆไปทำไมเนี่ย เหมือนกันทุกอย่าง ไข้สูงอ่อนเพลีย ปวดหัว ตัวแดง ประมาณ 5-7 วันก็ลดลง ไม่ค่อยรุนแรงเหมือนไข้เลือดออก ไม่ค่อยมีเกล็ดเลือดต่ำหรือเลือดออกครับ ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนต้องเข้ารพ.นั้น CDC ใช้คำว่า "very rare" คือ ยากพอๆกับท่านจะถูกรางวัลที่สองนะครับ ผลเลือดตรวจไข้เลือดออก NS-1 ใช้แยกกับไข้เลือดออกไม่ได้เพราะจะบวกเหมือนกัน จริงๆ NS1 มันก็แยกอะไรไม่ได้อยู่แล้วนะครับ การรักษาก็ประคับประคองเหมือนไข้เลือดออกอีกแล้ว
ถ้าจะแยกจริงๆต้องตรวจทางพันธุกรรม RT-PCR และหาแอนติบอดีจำเพาะที่จำได้ไม่กี่ที่ในอเมริกา

คำถามที่สี่ -- งั้นก็ไม่ต้องกลัวสิ-- ก็ไม่เชิงครับ เราก็ระมัดระวังถ้าต้องไปประเทศแถบนั้นหรือกลับมาจากแถวนั้น ส่วนทางรัฐบาลเขายังควบคุมอีโบล่าและเมอร์ส ไวรัสซิก้าก็คงรอดเข้ามายากครับ วัคซีนยังไม่มีครับ

คำถามสุดท้าย -- เห็นในข่าวว่าคนท้องจะอันตรายเด็กพิการ มันยังไม่ได้รับการยืนยันนะครับว่าเด็กที่ศีรษะเล็กผิดปกตินั้นเป็นผลจากซิก้าจริงหรือไม่ แค่เพียงมีการรายงานว่าเด็กติดเชื้อและเกิดมามีศีรษะเล็ก ยังไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน คัดลอกประโยคนี้จากรายงานของ CDC มาเลยครับ

..There have been reports of congenital microcephaly in babies of mothers who were infected with Zika virus while pregnant. Zika virus infections have been confirmed in several infants with microcephaly; it is not known how many of the microcephaly cases are associated with Zika virus infection. Studies are under way to investigate the association of Zika virus infection and microcephaly, including the role of other contributory factors (e.g., prior or concurrent infection with other organisms, nutrition, and environment)...

ข่าวในโซเชียลมีเดีย..ฟังหูไว้หูนะครับ เอ..เพจเราก็โซเชียลมีเดียนะ