คนไข้เป็นเบาหวานและความดัน กินยาสม่ำเสมอวินัยดีมาก แม้ว่าจะป่วยหนักก็ไม่หยุดยา ผลที่เกิดมันน่าตกใจกว่าที่คิดครับ
โดยอนุญาตจากผู้ป่วยต้องการให้เป็นวิทยาทาน ผมขอเล่าเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริงที่จะมาเตือนท่านๆครับ ผู้ป่วยอายุ 60 ปี รักษาเบาหวานและความดันอยู่ ใช้ยา metformin, losartan, enalapril, simvastatin มีอาการถ่ายเหลวรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนมาก กินได้แต่น้ำเล็กๆน้อยๆมา3วันแต่ว่ากินยาครบถ้วน เมื่ออาการถ่ายเหลวลดลงไม่อาเจียนแล้ว แต่ยังเพลียมาก ลุกไม่ขึ้นและปัสสาวะแทบไม่ออกเลย จึงมาตรวจครับปรากฏว่าตรวจพบ ไตวายเฉียบพลัน เลือดเป็นกรดรุนแรง เกลือแร่โปตัสเซียมในเลือดสูงเล็กน้อย จึงต้องเข้าแอดมิทรักษาตัวและหาสาเหตุ
สรุปเลยนะครับ ผู้ป่วยมีภาวะไตวายเฉียบพลันจากเดิมที่เป็นเบาหวานความดันมานาน (แต่ตรวจไตปกติดีตลอด) พอมีสาเหตุที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำคือถ่ายเหลวมากและอาเจียน และยังกินน้ำได้น้อยอีก ร่างกายจึงขาดน้ำมากๆ และ..และ..ผู้ป่วยยังกินยาเดิมเท่าเดิม..ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เลยนะครับ แต่ว่ามียาที่ทำให้ไตวายได้หากร่างกายขาดน้ำรุนแรงและมียาที่ทำให้เกิดเลือดเป็นกรดได้ในภาวะไตเสื่อม มูลเหตุทั้งหมดประจวบเหมาะกันพอดีทำให้ผู้ป่วยรายนี้เกิดปัญหาครับ ตอนนี้ผู้ป่วยหายดีแล้ว แต่ประเด็นที่อยากสื่อคือตรงนี้ครับ
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเบาหวานไม่ว่าชนิดฉีดหรือกินจะต้องระมัดระวังหากกินอาหารไม่ได้ การกินยาบางชนิดต่อเนื่องอาจทำให้น้ำตาลต่ำเช่น glibenclamide gliclazide glimepiride gliplizide หรือยาฉีดอินซูลิน และถ้ากินอาหารไม่ได้ อาเจียน จนเริ่มมีภาวะขาดน้ำรุนแรง ไตเสื่อมจะต้องระวังการใช้ยา metformin, dapagliflozin, canagliflizin และ empagliflozin ที่อาจทำให้เลือดเป็นกรดได้ ส่วนยาลดความดันที่ลงท้ายด้วย -pril และ -sartan นั้นก็ทำให้ไตวายได้ในภาวะขาดนัำรุนแรง ถ้ามีคลื่นไส้อาเจียนถ่ายเหลวมาก คงต้องหยุดยาชั่วคราวครับ
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ ตัวเองก็จำใส่ใจมาตลอด และคิดได้ว่าเราก็ไม่ได้เตือนคนไข้ทุกคน อาจมีรายที่เกิดจากเราไม่ได้เตือนไปป่วยที่อื่นๆอยู่ก็ได้ และอาจมีคนที่กำลังจะป่วยแบบนี้อยู่อีก ต้องขอขอบคุณผู้ป่วยรายนี้ที่จิตกุศล ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้ไปเกิดกับใครจึงอนุญาตให้ผมเอาเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังครับ
ผู้ป่วยคงไม่ทราบเองแน่ๆ เป็นหน้าที่ของบุคลากรทางสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จะต้องเน้นย้ำความสำคัญตรงนี้บ่อยๆ และผู้ป่วยและญาติก็จะต้องจดจำข้อจำกัดในการใช้ยาของตนด้วย และต้องระวังความถูกต้องของข้อมูลด้วยนะครับในกรณีหาข้อมูลจากอินเตอร์เนต (ข้อมูลที่ถูกต้องมักเขียนเข้าใจยาก คนอ่านชอบเรื่องเข้าใจง่ายๆ..เป็นที่มาของเพจผมน่ะครับ อิอิ)
ผู้ป่วยรายนี้ทราบว่าควรรักษาต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแต่ไม่ทราบเรื่องสภาวะที่ต้องระวังการใช้ยา และไม่ทราบจะถามใคร โดยส่วนตัวผมแนะนำว่าถ้าไม่มั่นใจในการใช้ยาให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันทีครับ บางครั้งความเคยชินหรือคำพูด "คงไม่เป็นไร" มันเกิดผลเสียที่น่าเสียดายมากนักต่อนัก
--เอ...ถ้าไม่รู้จะถามใคร จะส่งข้อความมาถามแอดมิน จะดีไหมน้าาา...-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น