20 ตุลาคม 2558

ลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดชนิดเกิดเอง

อยู่ดีๆ ลมก็รั่วในเยื่อหุ้มปอด (primary spontaneous pneumothorax)

ก็ตามนั้นครับ โดยทั่วไปลมจะรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดได้ก็ต้องรั่วจากปอดออกมา ภาษาง่ายๆเรียก "ปอดแตก" ไม่ใช่ "ปอดแหก" นะครับ เช่นเป็นมะเร็ง เป็นวัณโรค เป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือลมรั่วเข้ามาจากภายนอก ส่วนมากเกิดจากอุบัติเหตุที่ทรวงอก
แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางส่วน เกิดมาพร้อมกับลูกโป่งเล็กๆ ที่ขอบๆปอด (bleb) ที่อาจแตกได้ตลอดเวลา จนเกิด แตกเองขึ้นมา

  ครับ มันแตกเองครับ ไม่มีสาเหตุใดๆเลย มักจะพบในคนหนุ่มๆ อายุ20-30 ปี ผอมๆ สูงๆ ถ้าสูบบุหรี่ก็จะยิ่งเสี่ยงมาก และปัจจุบันเราพบว่าถ้าคนๆนั้น เกิดมีภาวะกลายพันธุ์ของยีน FLCN ที่คอยควบคุมการสร้างโปรตีน folliculin ในถุงลม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคนี้ (ประมาณ 40% ที่พบการกลายพันธุ์นี้) มีการศึกษารายงานเคส 5 ราย ในวารสาร THORAX ปี 2004 บอกว่าฟังคอนเสิร์ต เสียงดังๆ แล้วปอดแตก !! จริงๆแล้วคงแตกเองล่ะครับ ไม่งั้นเมืองไทย คงแตกคาเวที เดอะวอยส์

   แตกแล้ว ถ้าลมรั่วมากๆก็อันตรายครับ ต้องระบายลมออก หรืออาจต้องผ่าตัดโดยใช่กล้องวีดีโอครับ เย็บเยื่อหุ้มปอด และ ตัดลูกโป่งที่เหลือออก เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ประเด็นมันตรงนี้เลยครับ มันเกิดซ้ำได้บ่อยๆ โอกาสเกิดซ้ำครั้งที่สอง 52% โอกาสเกิดซ้ำครั้งที่สาม 62% โอกาสเกิดซ้ำครั้งที่สี่ 83% และมักเกิดข้างเดิม ดังนั้นถ้าทำได้ควรอุดรอยรั่วครับ โอกาสหน้าอาจแตกมากจนแย่ก็ได้ คนกลุ่มเสี่ยงเกิดซ้ำนี้ห้ามทำสองอย่าง คือห้ามสูบบุหรี่ กับ ห้ามดำน้ำครับ (แรงดันบรรยากาศมีผลนะ)

   ในรายที่แตกไม่มาก น้อยกว่า 15% บางทีก็ใช้แค่การให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง จะช่วยให้ดูดซึมลมดีขึ้น 4 เท่า จากสองสัปดาห์เหลือ 4-5 วัน เพราะลมทั่วๆไปมีออกซิเจนแค่ 21% แต่ถ้าเราดมออกซิเจน 60-80% ก็จะไปแทนที่ ไนโตรเจนได้ครับ
   ผู้ป่วยที่ผมพบนี้ เจ็บอกซ้ายเฉียบพลัน เหนื่อยมาก หายใจเข้าออกก็เจ็บ อาการเหมือนหัวใจเฉียบพลัน แต่การตรวจร่างกายจะชัดเจนครับ เป็น รายคลาสสิกของโรคนี้ครับ

อ้างอิง : ตำราโรคระบบทางเดินหายใจ สมาคมอุรเวชช์ พิมพ์ครั้งที่1
: .nlm.nih.gov ONLINE LIBRARY
: Thorax 2004;59:722-724
: Luh / J Zhejiang Univ-Sci B (Biomed &
Biotechnol) 2010 11(10):735-744

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น