25 มิถุนายน 2558

พิษงูและการตัดสินใจให้ซีรุ่มต้านพิษ

พิษงูและการตัดสินใจให้ซีรุ่มต้านพิษ

ก่อนนอนวันนี้ ผมอ่านหนังสือต่อจากวันก่อนเรื่องการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปรกติ เลยนึกเรื่องที่จะมาเล่าสู่กันฟังนี้สั้นๆครับ ง่วงแล้วเช่นกัน คือ การตัดสินใจให้เซรุ่มต้านพิษงูครับ

หลายท่านคงทราบการแบ่งชนิดของพิษงูคร่าวๆแล้วนะครับ แบ่งคร่าวๆตามงูที่พบในประเทศเป็นสามชนิดคือ พิษต่อระบบประสาท เช่น เห่า จงอาง พิษต่อระบบเลือดและการแข็งตัวของเลือด ( เห็นไหมครับว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องเลือด ตอนแรกที่ท่านอ่านอาจจะงง ว่าแรกเป็นเรื่องเลือด มาไขว้เป็นเรื่องงูได้อย่างไร) เช่น งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ อย่างสุดท้ายคือ พิษทำลายกล้ามเนื้อครับ คือ งูทะเล ซึ่งพบน้อยมากแล้ว ไม่รู้ว่างูมันน้อยลง หรือ คนที่ถูกกัดไม่รอดมาให้รักษา กันแน่ ปัจจุบันนี้สถานเสาวภา ได้ศึกษาและผลิตเซรุ่มต้านพิษงูออกมาได้หลายชนิด ทั้งแบบเฉพาะกับชนิดของงู และ ชนิดรวมตามลักษณะพิษ

ขอขยายความนิดนึง แบบเฉพาะตัวคือ เห็นตัวงูที่กัดครับถึงจะรู้ว่าให้เซรุ่มตัวใด ต้องชำนาญมากๆๆ มองแว่บเดียวรู้ว่างูอะไร หรือเอางูมาด้วย ซึ่งต้องเอาตัวที่กัดมานะครับ ที่ผมพบเองคือ เอาผู้ป่วยมาก่อน ชาวบ้านไปหาเจ้างูจำเลยมา พอเอามาจริงๆก็ไม่มีทางแน่ใจได้หรอกครับว่าไอ้ตัวที่เอามาน่ะ เป็นตัวที่กัดหรือเปล่า ก็จะให้เซรุ่มไม่ได้ หรือบางทีตีงูตัวที่กัดมาด้วย..แต่เอาซะเละ..ชันสูตรไม่ได้ว่าเป็นงูอะไร ก็ตัดสินใจให้เซรุ่มไม่ได้เช่นกัน ## ที่เจ็บปวดที่สุดคือ เอางูที่ยังไม่ตาย มาให้ผมดูครับ..วิ่งกันกระเจิง ทั้งงู ทั้งหมอ สรุป ก็ไม่รู้อยู่ดีว่างูอะไร## พอไม่รู้ชนิดของงูที่ชัดเจนก็จะเลือกชนิดวัคซีนที่เฉพาะเจาะจงไม่ได้นั่นเอง
ส่วนเซรุ่มแบบรวม ก็คือเราไม่รู้ชนิดของงูที่ชัดเจน แพทย์ผู้รักษาจะรับไว้ดูอาการและสังเกตว่ามีพิษหรือไม่ ถ้ามี จะเป็นพิษในระบบอวัยวะใด แล้วจึงให้เซรุ่มสำหรับกลุ่มอาการนั้นๆ เช่นเลือดออกมากแล้ว ก็ให้เซรุ่มรวม -เขียวหางไหม้ แมวเซา กะปะ- ประสิทธิภาพและความเฉพาะเจาะจงจะด้อยกว่าเล็กน้อย

แต่ว่าจริงๆแล้วไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่งูกัดมันจะฉีดพิษใส่เรานะครับ เราจึงจะใช้เซรุ่มแค่บางกรณีเท่านั้น หลายๆท่านอาจเคยได้ยิน "ไป รพ.นี้ ไม่ให้เซรุ่ม ไป รพ.อื่นดีกว่า" หรือ "ทำไมหมอไม่ให้เซรุ่มล่ะ" ก็เพราะเซรุ่มจะเกิดประโยชน์แค่บางกรณี เซรุ่มคือ เลือดม้านะครับ สิ่งมีชีวิตคนละสายพันธุ์กับเรา อาจแพ้เซรุ่มรุนแรงได้ และการให้เซรุ่มก็ไม่ได้เพิ่มอัตราการรอดชีวิตนะครับ การรักษาแบบประคับประคองดีๆ และดูแลแผลดีๆต่างหากคือสิ่งสำคัญ ผมสรุปข้อที่น่าจะให้เซรุ่มง่ายๆนะครับ รายละเอียดในแต่ละคนอาจต่างออกไป แล้วแต่สถานการณ์ และ ความพร้อมแต่ละที่

1.มีอาการทางระบบประสาทแล้ว

2.สงสัย ทับสมิงคลากัด อันนี้ควรให้อย่างยิ่งครับ ให้เร็วๆด้วย

3. ตรวจพบภาวะเลือดไม่แข็งตัว หรือ เกล็ดเลือดต่ำ

4. บวมมากๆๆ

และต้องชั่งน้ำหนักเรื่องผลเสียของเซรุ่มด้วยนะครับ แพ้เซรุ่มนี่ ช่วยไม่ทัน เสียชีวิตได้นะครับ ร่างกายเรามักรักษาพิษงูได้เอง แค่ประคองให้ดีเท่านั้นเอง ...เอ่อ หลับฝันเห็นงูกันทุกคนนะครับ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น