05 ธันวาคม 2566

Tongxinluo กับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 Tongxinluo กับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ประมาณสองเดือนที่ผ่านมา มีการประชุมแพทย์โรคหัวใจอเมริกา มีการนำเสนอความก้าวหน้า การศึกษาใหม่ ๆ ในการรักษาโรคหัวใจ ก็ตื่นตาตื่นใจมากครับ แต่มีสะดุดตาจนอยากรู้ว่ามันทำได้จริงไหม อย่างไร คือ สมุนไพร tongxioluo จากจีนนำมาใช้รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบชนิด ST elevation myocardial infarction
เกริ่นก่อนว่า tongxinluo เป็นสมุนไพรรวมมิตร มีตัวยาหลายตัวและแมลงหลายชนิดมาผสมกัน !! ไม่ทราบตัวใดที่จะออกฤทธิ์ชัดเจน ที่ตั้งชื่อ tongxinluo เพราะแปลว่า to open (tong) the network (luo) of the heart (xin) คือ มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการนี้แหละครับ ยาได้รับการรับรองในจีนเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพื่อลดอาการเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดตีบ
คราวนี้ทีมวิจัยในจีนนำมาให้เพิ่มจากการรักษา STEMI ว่าในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาตรฐานแล้ว ใช้ยานี้เทียบกับยาหลอกแล้ว ตัวชี้วัด Major Cardiovascular Outcomes Events (MACE) ที่ 30 วันจะต่างกันไหม ผลออกมาพบว่าในผู้ป่วย 3700 กว่าราย อายุประมาณ 60 ปี ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (tongxinluo มีการเกิดโรคหัวใจซ้ำน้อยกว่าที่สามสิบวัน) โอ…ในที่สุดก็ถึงเวลาของสมุนไพรจีน 3000 ปีแล้วหรือไม่
สำหรับผม ยังตอบว่ายังครับ
อย่างแรกคือ ผู้ป่วยที่คัดเลือกเข้ามาในการศึกษาวิจัยนี้ ถูกกำหนดว่าจะต้องเป็นแบบไม่รุนแรงและไม่มีโรคร่วมรุนแรง นั่นคือ หากจะใช้ได้จริงจากการศึกษานี้ ใช้ได้เฉพาะกลุ่มคนไข้อาการน้อยและเสี่ยงต่ำ
อย่างที่สอง กลุ่มผู้ป่วยที่คัดเข้ามาศึกษาที่เสี่ยงต่ำแล้ว ยังปรากฏว่ากลุ่มที่ได้ยาหงอกหรือกลุ่มควบคุม มีอัตราการเกิดโรคหัวใจ 5.2% ทั้ง ๆ ที่การคาดการณ์จากการศึกษาที่ผ่านมาคาดการณ์ที่ 9% นั่นคืออัตราการเกิดโรคซ้ำในกลุ่มประชากรนี้ต่ำมาก (TIMI flow grade 0-1 เกิน 80%) ผลที่เกิดจะมีพลังไม่มากพอที่จะบอกความแตกต่างของ tongxinluo กับยาหลอกได้ เนื่องจากแม้กลุ่มยาหลอกยังเกิดเหตุน้อยมาก
อย่างที่สาม เรื่องของสัดส่วนในตัวยา tongxinluo ที่ไม่ทราบส่วนผสมที่ชัดเจน สัดส่วนที่ชัดเจน จนไม่รู้ว่าสารใดกันแน่ที่ไปทำงาน ยากที่จะทำซ้ำในหลายสถานการศึกษา และหลากหลายประชากร หลายเชื้อชาติ
แม้การศึกษาจะแสดงผลความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ 3.4% ในฝั่งสมุนไพร และ 5.2% ในฝั่งยาหลอก แต่ถ้ามาดูความแตกต่างจริง ๆ absolute risk reduction 1.8% เท่านั้น หากคิดเป็นจำนวนคนไข้กี่คนที่ต้องรักษาเพื่อจะได้ประโยชน์จากยานี้หนึ่งคน (Number Needed To Treat) จะเท่ากับ 55.5 คนทีเดียว
คิดว่าการศึกษา CTS-AMI ทำเพื่อพิสูจน์แนวคิดเท่านั้น ยังไม่สามารถนำไปใช้จริงได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น