เมื่อไม่นานมานี้ international liaison committee on resuscitation ได้ประกาศคำแนะนำเพิ่มเติมจาก CPR 2020 ไว้บางประการที่อาจจะเป็นประโยชน์ ผมสรุปมาให้ฟังคร่าว ๆ ในเรื่องการกู้ชีวิตผู้ใหญ่ ท่านใดสนใจฉบับเต็ม ไปโหลดอ่านได้ฟรี ที่เว็บไซต์ของ ILCOR
○ การกู้ชีวิตบนเรือและในน้ำสำหรับผู้ป่วยจมน้ำ
ถ้าไม่ชำนาญ ไม่มีอุปกรณ์ ให้พาผู้ประสบเหตุมาบนฝั่งแล้วค่อยกู้ชีพ แต่ว่าหากมีทักษะการกู้ชีพพอสมควร สามารถเริ่มกู้ชีพได้ตั้งแต่ช่วยผู้ประสบเหตุในน้ำ โดยเน้นการช่วยหายใจเป็นหลัก (คงกดหน้าอกไม่ได้) ส่วนการกู้ชีพบนเรือ ทำได้ตามปกติเมื่อเคยฝึกมาและมีอุปกรณ์ โดยเน้นเรื่องการช่วยหายใจเป็นหลักอีกเช่นเคย เพราะกลไกหลักคือขาดออกซิเจน อาจใช้การเป่าปากหรือผ่านอุปกรณ์ก็ได้ และหากไม่สามารถทำได้ให้ขึ้นฝั่งให้เร็วที่สุด
○ ใช้โดรนนำส่ง AED อันนี้ยังมีข้อมูลไม่พอ อยากรู้เหมือนกันว่าจะมีใครทำได้ไหม
○ การเปลี่ยนจุดวางการทำ defibrillation อันนี้ถือเป็นไฮไลท์ เนื่องจากมีการศึกษารองรับชัดเจน แนะนำว่าสำหรับการกู้ชีพจากนอกโรงพยาบาลเท่านั้น (ตามการศึกษา) ในผู้ประสบเหตุที่มี shockable rhythm ส่วนมากคือ VF เมื่อทำการช็อกไฟฟ้าด้วยวิธีมาตรฐานต่อเนื่องกันสามครั้งแล้วยังไม่หลุด VF ก็แนะนำแบบนี้
เปลี่ยนทิศการวางแพดเดิล (VC) ปกติท่าเริ่มต้นเราจะวางแพดขวาใกล้ ๆ กระดูกสันอก แพดซ้ายอยู่ชายโครงซ้ายแนวรักแร้ คราวนี้ลองเปลี่ยนเป็นทิศหน้าหลังตรงกันกะให้ไฟฟ้าวิ่งผ่านหัวใจ ตรงฝั่งซ้ายของกระดูกสันอก (anteroposterior)
Double Sequential External Defibrillation (DSED) ใช้เครื่องดีฟิบสองตัว ตัวนึงว่างแพเดิลตามแนวปกติ (anterolateral) ส่วนอีกอันวางตามแนวหน้าหลัง (anteroposterior) แล้วใช้คน ๆ เดียวกดดีฟิบต่อกันเรียงลำดับ (เพื่อป้องกันลำดับผิดพลาด) แนวปกติต่อด้วยแนวหน้าหลัง
○ การให้แคลเซียมในการกู้ชีพ คราวนร้มีหลักฐานหนักแน่นขึ้นว่าไม่ใช้เป็น routine คือให้เมื่อมีข้อบ่งชี้ชัด ๆ เท่านั้น ทั่งการกู้ชีพนอกหรือในโรงพยาบาล (หลักฐานการปฏิเสธของนอกโรงพยาบาลมีความหนักแน่นกว่า)
○ การทำ extracorporeal CPR คือ ต่อสายเอาเลือดไปเพิ่มแรงดันและออกซิเจนภายนอกแล้วเอาเลือดกลับเข้ามา ดูเหมือนฝัน แต่มีการศึกษาทำแล้วนะครับ สรึปว่าใช้ในรายที่ประสบเหตุจากนอกโรงพยาบาลแล้วทำซีพีอาร์เท่าไรก็ไม่ดีเสียที อาจเลือกใช้วิธีนี้เป็นการแก้ไขได้ ต้องบอกว่าจะต้องอยู่ที่สถานที่และทีมที่พร้อมขั้นสุดจริง ๆ ระดับทีมกู้ชีพท่านประธานาธิบดีสหรัฐประมาณนั้น
○ ติดตามผลประเมินความเสียหายต่อสมอง อย่างที่เรารู้กันสมองเสียหายไม่ถึง 10 นาทีก็แทบจะไม่กลับมาแล้ว คำแนะนำนี้มีวิธีการประเมินความเสียหายสมองหลังจากที่กู้ชีพสำเร็จว่า ผู้ประสบเหตุจะมีการพยากรณ์โรคที่ดีหรือไม่
Glasglow Coma Score ประมาณวันที่ 4 ปกติเราไม่ใช้ GCS ในผู้ป่วยที่ไม่มีการบาดเจ็บทางสมอง แต่นี่เป็นกรณีที่ใช้ง่ายและมีการศึกษารองรับ ถ้าระดับคะแนนที่มากกว่าสามในวันที่ 4 ก็พอมีความหวัง หรือถ้าระดับคะแนนมากกว่า 5 ก็จะบอกว่าการพยากรณ์โรคไม่แย่ (แต่ก็อาจไม่ดี)
ใช้ภาพ CT หรือ MRI ประมาณที่หนึ่งสัปดาห์เพื่อดูความเสียหาย แนะนำควรเป็น MRI เพราะบอกรายละเอียดได้มากกว่า
ใช้สารที่บอกถึงการบาดเจ็บของสมอง neuron specific enolase ในเลือด ถ้าค่าน้อยกว่า 17 ไมโครกรัมต่อลิตรในวันที่สามหลังจากกู้ชีพได้ ก็บอกว่าพอมีหวังในระบบประสาท
การใช้คลื่นไฟฟ้าสมอง EEG ที่ 72 ชั่วโมงหลังกู้ชีพได้ หากคลื่นที่ได้เรียบดีไม่มีการกระตุกของชัก พอบอกแนวโน้มที่ไม่แย่ได้
อยากบอกว่าแนวโน้มที่ดี คือแนวโน้มของ neurological outcome ที่ดีกว่าการเป็นผักหรือ brain death
○ แนะนำให้นำญาติเข้ามาร่วมตัดสินใจในทีมตลอด ไม่ใช่ซีพีอาร์ดุ่ย ๆ พอไม่ขึ้นแล้วค่อยโทรแจ้งข่าวร้าย คำแนะนำนี้ให้นำญาติมาร่วมปรึกษาตั้งแต่แรก โดยมีบุคลากรคนหนึ่งในทีมคอยสื่อสารไปตลอดการซีพีอาร์
ยังมีหัวข้อของเด็กและทารก อันนี้ผมยังไม่ได้อ่าน แกะมาแต่ส่วนของผู้ใหญ่มาแนะนำกันก่อนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น