03 พฤศจิกายน 2566

สรุปการรักษาโควิดยุคปัจจุบัน

 สรุปการรักษาโควิดยุคปัจจุบัน

การศึกษาเกี่ยวกับยารักษาโควิดทั้งหมด ทำในกลุ่มประชากร อาการรุนแรงน้อยถึงปานกลาง และมีโอกาสการเกิดโรคโควิดรุนแรงเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะโรคร่วม ดังนั้นถ้าอาการรุนแรงจะเป็นการรักษาอีกแบบหรือแม้ใช้ยานี้ก็อาจจะไม่ได้ผลตามนี้
การศึกษาทั้งหมดเป็นการให้ยาอย่างรวดเร็วหลังจากมีอาการและตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR คำว่ารวดเร็วนั้นส่วนมากจะอยู่ภายใน 48 ชั่วโมง การรักษาช่วง 3-5 วันหลังเกิดอาการ ส่วนใหญ่จะไม่เห็นผลเนื่องจากใกล้จะหายอยู่แล้ว
โดยเป้าหมายของการให้ยาคือ ลดการป่วยหนักจนต้องรักษาในโรงพยาบาล และลดผลแทรกซ้อนโดยเฉพาะหัวใจล้มเหลวและหายใจล้มเหลว
ถึงแม้การศึกษาทั้งหมดจะเกิดก่อนยุคโอมิครอนและอัตราการรับวัคซีนยังไม่สูงขนาดนี้ แต่มีการเก็บข้อมูล (ไม่ใช่การทดลอง) ว่ายุคโอมิครอนแล้วและฉีดวัคซีนกันถล่มทลายแล้ว ยาก็ยังใช้ได้
โดยยาที่ใช้เรียงตามลำดับข้อมูล (จำนวนการศึกษา จำนวนประชากร ประโยชน์ต่อโทษ) ได้ดังนี้
ยาตัวแรกคือ Nirmatrelvir/ritonavir กินวันละสองเม็ดห้าวัน โดยมีข้อควรระวังคือปฏิกิริยาระหว่างยาที่มีมากเหลือเกิน และอาจมีการรับรู้รสชาติที่บกพร่องได้ และห้ามใช้ในกรณีไตเสื่อมรุนแรง แม้ไม่มีข้อมูลการศึกษาในคนท้อง แต่ที่ใช้มายังไม่เกิดปัญหาใด
ยาตัวที่สองคือยาฉีด remdesivir ฉีดห้าวันเหมือนกัน อาจจะใช้ได้ในกรณีการดูดซึมทางเดินอาหารไม่ดี ยาตัวนี้มีข้อมูลการใช้ในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ข้อเสียที่สำคัญคือมันเป็นยาฉีดแบบหยดเข้าหลอดเลือด ก็ต้องมาให้ยาที่โรงพยาบาลนั่นเอง
ส่วนยาตัวที่สามปัจจุบันถือเป็น alternative แต่ในบางประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ใช้เป็นยาหลัก คือยาเม็ด molnupiravir กินวันละแปดเม็ดห้าวัน ข้อมูลการรักษาในแง่ประสิทธิภาพก็ไม่ด้อยกว่ามากนัก มีข้อจำกัดและมีข้อมูลน้อยกว่าที่เหลือ และมีหลักฐานว่าห้ามให้ในหญิงตั้งครรภ์และไม่มีข้อมูลในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
แล้วในยุคสมัยที่การฉีดวัคซีนและการกระตุ้นอยู่ในเกณฑ์สูงมาก รวมทั้งกระแพร่ระบาดก็ไม่รุนแรง สถานการณ์เตียงก็ไม่เต็ม มีข้อมูลการศึกษาของยา nirmatrelvir/ritonavir มากที่สุดว่าใช้ได้ดี ในทุกกลุ่มอายุและสถานะภูมิคุ้มกัน เป็นยาที่มีข้อมูลในผู้สูงวัยมากที่สุด
ส่วนยา molnupiravir มีข้อมูลในยุคหลังโอมิครอนน้อยกว่า จึงเลื่อนลำดับความสำคัญของ molnupiravir ลดลงมาก ใช้ในกรณีไม่มี nirmatrelvir/ritonavir เท่านั้น
จากการศึกษาของทั้ง nirmatrelvir/ritonavir และ molnupiravir จะพบการกลับมาเป็นซ้ำได้หลังรักษาแต่ก็ไม่ได้มีคำแนะนำให้ใช้ยาซ้ำอีกนะครับ
Chew KW, Malani PN, Gandhi RT. COVID-19 Therapeutics for Nonhospitalized Patients—Updates and Future Directions. JAMA. 2023;330(16):1519–1520. doi:10.1001/jama.2023.19542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น