03 พฤศจิกายน 2566

หนังสืออ่านยาก

 หนังสืออ่านยาก

ในวงการหนังสือ เชื่อว่าผมเองก็ผ่านตามาพอควร ทั้งการเป็นนักเรียนผู้ช่วยบรรณารักษ์ ชมรมหนังสือต่าง ๆ และด้วยความชอบส่วนตัว ในชีวิตนี้ก็อ่านหนังสือมาไม่น้อย วันนี้จะมาขอกล่าวถึงหนังสือที่ตัวเองเคยอ่านแล้วมีประสบการณ์ว่า มันอ่านยาก มันต้องอาศัยความคิด มันกินเวลา ถึงแม้กระนั้นก็ยังยาก
ผมเชิญชวนให้ทุกคนมาถ่ายทอดประสบการณ์กันนะครับ ผมเชื่อว่าหลายคนในนี้ 'ชอบท่ายาก'
1.Inferno โดย ดันเต้ อัลลิกรีลี ..สถานภาพ ไม่จบ.. รู้จักดันเต้ตอนเล่นเกม ดันเต้ อินเฟอโน และมาตื่นเต้นตอนอ่าน inferno ของแดน บราวน์ เลยซื้ออินเฟอโนของดันเต้ฉบับอังกฤษมาอ่าน ด้วยความที่แต่งเหมือนกวี แบ่งเป็นบทย่อย ๆ ในแต่ละบทใหญ่ และไม่ได้อธิบายเชื่อมต่อกัน ต้องใช้พลังงานมาก ต้องเขียนแผนภูมิตัวละครเหมือนตอนอ่านสามก๊ก ก็เลยพักไว้ก่อน
2.out of africa โดย เคเรน บริกซ์เซน..สถานภาพ จบแล้ว หกเดือน..ต้องบอกว่าเป็นสำนวนภาษายุคเก่า และเป็นคำศัพท์วรรณกรรมจริง ๆ เปิดพจนานุกรมถี่มาก อ่านไปได้ครึ่งนึง ถึงกับต้องไปดูหนังเพื่อนำทาง แต่พอผ่านครึ่งเล่มมาได้ คราวนี้เริ่มชิน ศัพท์และสำนวนเป็นแบบเดิม พอไหว เริ่มรู้ว่าบริกซ์เซนใช้คำคุณศัพท์เยอะมาก บรรยายได้ละเอียดยิบ นี่ถ้าผมเป็นอักษรศาสตร์หรือนิรุกติศาสตร์ คงอิ่มเอม
3.ปรัชญาชีวิต (the prophet) โดย คาลิล ยิบราน..สถานภาพ ไม่จบ..เล่มนี้อ่านแปลไทย อ่านเท่าไรก็เข้าไม่ถึง แปลความไม่ได้ ก่อนหน้านี้เคยอ่าน เมตามอร์ฟอซิสของคาฟกา ที่เขียนเป็นนัยคล้ายกัน แต่ปรัชญาชีวิตเล่มนี้ ผมเข้าไม่ถึงจริงครับ อ่านซ้ำสองสามรอบ แต่ไม่เกิดภาพในหัวเลย สงสัยประสบการณ์ยังไม่ถึง มันเป็นเชิงนามธรรมเอาเสียมาก ๆ ปัจจุบันนี้ห่อพลาสติก รอวันที่พร้อมจะกลับมาลุย
4.the lord of the ring โดย เจ อาร์ อาร์ โทลคีน..สถานภาพ ถูไถจนจบเล่มแรกแค่เล่มเดียว…ตั้งใจจะอ่านหลังดูหนัง เห็นความหนาฉบับแปลไทยเล่มแรกก็ขออ่านดูก่อน เผื่อไม่ไหว และจริงดังคาด เนื้อหามีบทเพลง บทกวี มากกว่าเนื้อหาหลักที่ผมพอจะเข้าใจ เลยลองไปโหลดอังกฤษมา (เถื่อน..กรุณาอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง) อ่านไม่เข้าใจเช่นเคย ไปดูใน goodreads มีคนไปให้ความเห็นว่าอ่านยาก เพราะคนแต่งเป็นคนเขียนพจนานุกรมสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และใส่ของเต็มที่
5.the theory of moral sentiments โดย อดัม สมิธ ..สถานภาพ ไม่จบและดองในคินเดิล..ผมอ่านเรื่องย่อของ the wealth of the nations ของอดัมสมิธ และได้รู้ว่าเขาเขียนต่อจากเล่มนี้ จึงได้รู้ว่าขนาดเราศึกษาประวัติศาสตร์มาพอตัวยังเป๋ เมื่อมาอ่านเรื่องราวที่ถ่ายทอดเรื่องสมัยนั้นอย่างลึกซึ้งถึง ความคิดที่สะท้อนความเป็นอยู่และสภาพสังคม ยุคเมื่อร้อยกว่าปีก่อนในสังคมปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคแรก ต้อง "set up" ความคิดตัวเองและมุมมองใหม่หมด ถือว่ายากแต่ตั้งใจจะอ่านให้จบ
ปล.
เล่มที่… ยาก อ่านจบแล้วคิดว่า ไม่น่าอ่านเลย ไม่มีอะไรเลยคือ Mein Kampf ของฮิตเลอร์ อันนี้จบทั้งอังกฤษและแปลไทย
เล่มที่ยาก แต่อ่านแล้วมีความสุขและคุ้มมาก ยังตรึงใจในสำนวนและคำอยู่จนวันนี้คือ กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน (เข้าใจว่ามีผู้แต่งหลายท่านในสมัยรัชกาลที่สอง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น