04 พฤษภาคม 2565

มะเร็งเต้านม : ยีน : พันธุกรรม

 มะเร็งเต้านม : ยีน : พันธุกรรม

BRCA germline mutation
1.มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดอันหนึ่ง ปัจจุบันการรักษาโรคนี้พัฒนาไปมาก จนแทบจะไม่มีใครเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมแล้ว หากตรวจพบและรักษาตั้งแต่เริ่ม ซึ่งเราก็ได้พัฒนาการตรวจตั้งแต่เริ่มไปไกลมาก ทั้งการทำแมมโมแกรม การทำอัลตร้าซาวนด์ การใช้เข็มเจาะชื้นเนื้อแบบไม่รุกล้ำมาก การรักษาก็พัฒนาถึงยาฮอร์โมน ยาพุ่งเป้ากันแล้ว
2.แต่การตรวจรักษาทั้งหมด เป็นการตรวจที่เรียกว่า early detection คือต้องเกิดโรคก่อน จึงจะมีร่องรอยหลักฐานให้ตรวจเจอ แล้วเราจะมีวิธีคัดกรองและเฝ้าระวังก่อนเกิดโรคไหม ในอดีตไม่มี แต่ตอนนี้เรามีการตรวจยีน
3.ปกติโรคมะเร็งเต้านมเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน somatic คือเกิดเฉพาะคนคนนั้นและสิ่งแวดล้อมถึง 80-90% แต่มีบางส่วนสัมพันธ์อย่างมากกับการกลายพันธุ์ของยีนที่ถ่ายทอดได้ (germline) แม้จะมีไม่มากแต่สำคัญและน่าจะป้องกันได้
4.หากใครเป็นมะเร็งเต้านม ก็ควรได้รับการซักประวัติและจัดทำแผนผังโรคทางพันธุกรรมและประเมินความเสี่ยง (พงศาวลี) ว่ามีโอกาสเกิดโรคในเครือญาติเพียงใดและเข้ารับการประเมิน germline หรือหากตรวจทางพันธุกรรมในผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมแล้ว มีการกลายพันธุ์ของ germline ที่ชัดเจนว่าก่อโรค (pathogenic germline mutations) อันนี้ญาติสายตรงควรคัดกรองด้วยการตรวจหา geemline mutation
*** ก่อนไปต่อ ต้องบอกว่าการกลายพันธุ์ของยีน แบ่งคร่าว ๆ เป็น pathogenic คือ สัมพันธ์ชัดเจนกับการเกิดมะเร็ง, non-pathogenic คือ การกลายพันธุ์แบบนี้ไม่เกิดมะเร็งชัดเจน กรุณาไปพิจารณายีนอื่นหรือเหตุอื่น, และ varient of uncertain significance คือ กลายพันธุ์แน่แหละ แต่ตอนนี้ข้อมูลยังไม่ชัดว่า การกลายพันธุ์นี้เกิดมะเร็ง หรือไม่เกิดมะเร็ง ต้องรอต่อไป
5.มะเร็งเต้านม จะมียีนที่เราใช้คือ BRCA1 และ BRCA2 (มียีนอื่นอีกนะ แต่ใช้น้อย) ถ้าเราพบว่าตำแหน่งของยีนอันใดอันหนึ่งหรือทั้งสองของเรา เกิดกลายพันธุ์ไปเป็นแบบ pathogenic โอกาสเกิดมะเร็งค่อนข้างแน่ ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้เรายังไม่เป็นมะเร็ง เราจะคัดกรองแบบไหน หรือทำอย่างไร ต่างจากการทำแมมโมแกรม คลำเต้านม ที่เป็นการคัดกรองแบบปกติมาตรฐานหรือไม่
6.หากมีการกลายพันธุ์ germline ที่ก่อโรคชัดเจน ในคนที่ยังไม่มีมะเร็ง อาจหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยยาเอสโตรเจน เพราะเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็ง ฝึกคลำเต้านมตั้งแต่เด็ก ให้หมอตรวจนมตั้งแต่อายุ 25 และแนะนำใช้การทำเอ็มอาร์ไอเต้านมแทนแมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 25 เพราะแมมโมแกรมไม่ไวพอในการตรวจจับมะเร็งในคนอายุน้อย จะเห็นว่าเราจะใช้วิธีที่ไวขึ้นและเริ่มทำเร็วขึ้น
7.หรือหากใครเป็นมะเร็งแล้วหนึ่งข้าง แล้วพบ germline mutation ที่เป็นมะเร็งชัดเจน จะได้รับคำแนะนำเพื่อตัดเต้านมอีกข้าง ผ่าตัดรังไข่ เพราะโอกาสเกิดมะเร็งสูงมากในห้าปี ส่วนคนที่ไม่เป็นมะเร็งแต่ไปตรวจเจอ germline mutation ต้องคุยกับหมออย่างละเอียด ว่าจะตัดเต้านมทิ้งก่อนเกิดโรคหรือไม่ (เพราะ germline เป็นความเสี่ยงมะเร็งเต้านมแค่ 10% แต่มันก็หนักแน่นมาก)
8.จะเห็นว่า คนที่มีการกลายพันธุ์ มีการจัดการต่างจากคนที่ไม่มียีนกลายพันธุ์ จึงออกแบบการตรวจการเฝ้าระวังที่ต่างกัน ถ้าเลือกใช้ผิดวิธี แม้จะราคาถูกกว่า แต่อาจเป็นการคัดกรองที่ประสิทธิภาพต่ำและโดยรวมสิ้นเปลืองมากกว่าด้วย การตรวจยีนจึงเป็นการคัดกรองและจัดการมะเร็งแบบ personalized หรือ precise ที่ดี
9.แต่อย่าลืมว่า ข้อมูลและการพัฒนายังไม่สิ้นสุด มียีนอื่นที่เราไม่ได้ตรวจ มีปัจจัยอื่นนอกเหนือจาก germline อีกมากมายที่ทำให้เกิดมะเร็ง ความเข้าใจอันดีของหมอและคนตรวจเป็นสิ่งสำคัญ ต้องคุยกัน ปรึกษากันดี ๆ ก่อนจะตรวจยีน ข้อนี้สำคัญที่สุด
** ปัจจุบัน มีชุดตรวจยีนก่อนเกิดโรคมากมาย หลายบริษัท เพื่อมาบอกโอกาสการเกิดโรคที่แม่นยำ จะได้วางแผนที่ถูก ไม่เปลืองเงิน เปลืองเวลาไปกับการตรวจที่ไม่จำเป็น ดังนั้นต้องเข้าใจประเด็นข้อ 9 ให้ดี และต้องคุยกันให้ดีทั้งก่อนตรวจและหลังตรวจ ค่าตรวจก็หลักสองหมื่นสามหมื่นนะครับ**
10.สุดท้ายคือ การตรวจใด ๆ และแม่นยำเพียงใด ก็มีข้อผิดพลาดได้ และไม่สามารถนำผลไปใช้แบบตรง ๆ ทื่อ ๆ ได้ ต้องมีการแปลผลอย่างดี ถึงการตรวจจะแม่นยำมาก แต่ถ้าคนแปลไม่แม่น หรือทราบผลแล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา ก็ไม่มีประโยชน์ครับ
ที่มา : บทความเรื่อง การคัดกรองยีนมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดบ อ.โอบจุฬ ตราชู ในหนังสือเรื่อง ความก้าวหน้าและการประยุกต์ใช้ของจีโนมทางการแพทย์ โครงการตำรารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งที่ 1
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น