12 พฤษภาคม 2565

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน : การเดินได้ประโยชน์กว่าที่คิด

 โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน : การเดินได้ประโยชน์กว่าที่คิด

การเดินออกกำลังกาย เป็นการออกกำลังกายที่ง่าย สะดวก ราคาไม่แพง ทำได้ทุกที่และได้ประโยชน์มากมาย หนึ่งในประโยชน์อันนั้นคือ ช่วยลดอาการของหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีนตันชนิดเรื้อรัง เกือบทั้งหมดเกิดจากการอุดตันของตะกรันไขมันและเกล็ดเลือดในหลอดเลือด กลไกการเกิดโรคก็คล้ายกับหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดแดงที่หัวใจตีบ ปัจจัยการเกิดโรคก็คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็น อายุ อ้วน บุหรี่ ความดัน เบาหวาน ไขมัน
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่เราพบบ่อย (เพราะอาการในส่วนนี้ชัดกว่าที่อื่นและตรวจได้ง่าย) คือ หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขาตีบแคบลง อาการที่พบบ่อยคือ เดินไกลไประยะทางหนึ่งแล้วจะปวดขามาก ต้องพักสักครู่ จึงเดินต่อได้ และเมื่อไปในระยะทางพอกับของเดิมก็จะกลับมาปวดซ้ำอีก เรียกว่า intermittent claudication
หากตรวจโดยการคลำชีพจรก็จะพบชีพจรเบาลงโดยเฉพาะในข้างที่มีอาการ หรือการตรวจคัดกรองที่ดีอันหนึ่ง และได้รับคำแนะนำจากสมาคมแพทย์หลออดเลือดทั่วโลกคือการตรวจเทียบความดันโลหิตของแขนและขา (ankle-brachial index) หากมีค่าต่ำกว่า 0.9 น่าจะเป็นโรคนี้แล้ว
ถ้าต้องการยืนยัน (ส่วนมากทำเพื่อวางแผนผ่าตัด) คือการฉีดสีและถ่ายภาพหลอดเลือด หรือสามารถใช้เทคโนโลยีการทำเอ็มอาร์ไอ ที่ไม่ต้องฉีดสีได้ ซึ่งการรักษาโดยการผ่าตัดหรือการใส่สายสวนรักษา แนะนำทำเมื่อไม่สามารถออกกำลังกายโดยการเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ เกิดอันตรายที่ต้องผ่าตัดจึงจะหาย
"การเดินออกกำลังกายอย่างมีประสิทธิภาพ" น่าสนใจนะ เป็นการรักษาลำดับแรกและแนะนำทุกคน ประโยชน์สำคัญคือลดอาการปวดจากการเดิน (intermittent claudication) แถมยังได้ประโยชน์ต่อหัวใจอีกด้วย อย่าลืมว่าโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายก็คือกลุ่มโรคเดียวกันกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอัมพาต การออกกำลังกายจึงได้ประโยชน์มากทีเดียว แล้วจะออกกำลังแบบไหนล่ะ
ถ้าเราอ้างอิงตามแนวทางการตรวจวินิจฉัยและรักษาของสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกาและยุโรป เขาจะแนะนำ supervised exercise program ถ้าเราลงรายละเอียดจะประมาณมีเทรนเนอร์คอยควบคุมข้างตัวเลย เดินจนปวดขนาดนี้ พักแล้วปรับเพิ่มขนาดการเดินใหม่ มีการปรับความชัน ความเร็วของลู่เดิน จนได้เป้าหมายที่ต้องการ โดยทำอย่างน้อย 60-90 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์
ทำแบบนี้จะช่วยลดปวด เดินได้ไกลขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น (แต่การตีบแคบไม่เปลี่ยนมากนัก) เป็นวิธีการรักษาที่ต้องทำ และใช้เป็นวิธีแรกเสมอหากไม่มีข้อห้าม
แต่ประเด็นคือ คนที่ supervised จะว่างตรงกับเราไหม ต้องไปในที่มีอุปกรณ์รักษาที่ดี การติดตามต้องดีพอ มันเป็นอุปสรรคอย่างมาก
ทำแบบ home-based ทำที่บ้าน ทำฟรอมโฮม ได้ไหม คำแนะนำเดิมก็เขียนว่าเป็นทางเลือกที่ทำได้ เดินครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่หลักฐานที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของการเดินแบบ home-based ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดประโยชน์หนักแน่นเหมือน supervised exercise program
ปัจจุบันเรามีการศึกษามานำเสนอเรื่องการใช้ home-based ในชื่อการศึกษา MOSAIC ลงตีพิมพ์ใน JAMA เมื่อ 12 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา เรามาอ่านแบบคร่าว ๆ นะครับ
การศึกษาทำที่ประเทศอังกฤษ โดยนำผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 50 ปีที่มาตรวจรักษาในคลินิกหลอดเลือดอยู่แล้ว ได้รับการวินิจฉัยหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขาตีบตันและมีอาการปวดขาจากการเดิน จำนวน 190 คนมาแบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มควบคุมก็ให้ทำตามคำแนะนำปกติในคลินิก ส่วนกลุ่มทดลอง ให้มีนักกายภาพบำบัดที่ทั้งสอนและทั้งสร้างแรงจูงใจให้ออกกำลัง มาสอนเดิน 30 นาที ด้วยกลยุทธ์จูงใจและมีตัวชี้วัดทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
มีการนับก้าว มีการกำหนดเป้าหมายเส้นชัย มีคำแนะนำการก้าวเดินแต่ละครั้ง และมีการจูงใจตลอดระยะเวลาการเดิน โดยสอนตัวต่อตัวในครั้งแรก ช่วงสัปดาห์ที่หนึ่งและสอง ครั้งละ 60 นาทีสองครั้ง และมีการสอนอีกครั้งแต่เป็นทางโทรศัพท์ ในสัปดาห์ที่หกและสิบสอง ครั้งละ 30 นาทีสองครั้ง
ให้ผู้ป่วยทั้งหมดทำตามแนวทางของแต่ละกลุ่มแล้วมาวัดผลหลักที่สามเดือน ผลหลักคือระยะทางที่เดินได้ในหกนาที (6-minutes walk test) ส่วนผลย่อยอื่น ๆ เช่นความพึงพอใจ ความปวด
ผลปรากฏว่า กลุ่มทดลอง มีระยะทางการเดินที่หกนาทีเพิ่มจากเดิม ได้มากกว่ากลุ่มควบคุม ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (เฉลี่ยคือ มากกว่าถึง 16.7 เมตร) โดยที่ไม่ได้มีอันตรายจากการเดินแบบนี้ ไปมากกว่ากลุ่มควบคุม
หมายความว่า การเดินออกกำลังกาย แบบเข้ารับการอบรมและเอาไปทำต่อที่บ้าน ถ้าทำได้จริงจังและต่อเนื่อง มันก็มีประสิทธิภาพเพิ่มระยะการเดินได้เช่นกัน ดีกว่าฟังเฉย ๆ แต่ไม่มีการอบรมหรือฝึกฝน
แม้ว่าจะไม่เท่ามาตรฐาน คือการมีเทรนเนอร์ส่วนตัว ในสถานที่ที่มีความพร้อมสูง แต่การศึกษานี้ก็ได้ตอบคำถาม pain-point ที่สำคัญ คือ หากไม่มีเวลาหรือไม่มีอุปกรณ์ดีมาก จะทำอย่างไร ก็ได้คำตอบว่า หากผู้ป่วยพร้อมและสามารถทำตามได้ การเรียนอบรมวิธีที่ถูกและเพิ่มแรงจูงใจ นำกลับไปทำต่อที่บ้านอย่างสม่ำเสมอโดยมีอุปกรณ์ติดตามเพื่อคอยฟีดแบ็ค ก็ได้ประโยชน์ดีเช่นกัน ดีกว่าให้คำแนะนำเฉย ๆ โดยที่ไม่มีเวิร์กช็อปที่จับต้องได้
ชอบการศึกษาแบบนี้ ไม่ต้องลงทุนมากมาย ใช้จุดที่เป็นปัญหาจากการรักษาแบบเดิม มาแก้ไขและพิสูจน์ ให้ง่ายขึ้นและทำได้จริง มันทรงคุณค่ามากเลยครับ
อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ สถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น