17 เมษายน 2565

คุณหวังอะไรจากการตรวจสุขภาพ (2) : สิ่งที่น่าจะเกิด ตอนที่สามของหัวข้อ

 คุณหวังอะไรจากการตรวจสุขภาพ (2) : สิ่งที่น่าจะเกิด ตอนที่สามของหัวข้อ

6.ส่งตรวจเลือดประเมินตามความเสี่ยง มีคำถามมากมายว่าชุดการตรวจเลือดชุดใหญ่ที่จัดเป็นชุดขายตรวจสุขภาพ มันคัดกรองได้ครบหรือ และมันไวมากพอที่จะตรวจจับความผิดปกติหรือไม่ หรือเราควรยกเลิก one test for all แบบนี้แล้วออกแบบการตรวจคัดกรองและวางแผนแบบเฉพาะตัว
การใช้ชุดตรวจปัจจุบัน มีความง่าย ค่าใช้จ่ายต้นทุนไม่สูง บอกค่าความผิดปกติได้พอสมควร มีบางการทดสอบที่สามารถบอกความผิดปกติที่ควรสืบค้นต่อได้ เช่น การตรวจหลักฐานการติดเชื้อไวรัสตับอีกเสบบี
คำตอบที่เหมาะสมในปัจจุบันคือ มีการเจาะเลือดตรวจพื้นฐานในบางส่วน ไม่ใช่ครบทุกหัวข้อแล็บแล้วมากางแปลผลรายตัว พื้นฐานเช่น การตรวจนับเม็ดเลือด การตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหารเพื่อคัดกรองเบาหวาน
และใช้การตรวจเลือดตามความเสี่ยงการเกิดโรค เช่น ถ้าเราน้ำหนักเกินและมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในเครือญาติชัดเจน ก็ควรตรวจวัดระดับไขมันในเลือด (และเอาไปคำนวณความเสี่ยงการเกิดโรคด้วย) หรือหากประวัติมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนวัยอันควรหลายคน และหมอสงสัยเป็นโรคไขมันสูงทางพันธุกรรม นอกจากการตรวจวัดไขมันตามปรกติ อาจจะต้องตรวจหายีน LDLr ที่ผิดปกติ เพื่อออกแบบการดูแลรักษาไขมันที่แม่นยำขึ้น
จะออกแบบได้ ต้องผ่านการศึกษาเรียนรู้ประวัติส่วนตัวของผู้เข้ารับการตรวจมาพอสมควร คุณหมอที่จะออกแบบการตรวจต้องเข้าใจถึงหลักการการคัดกรอง ความไวความจำเพาะของการทดสอบด้วย การส่งตรวจชุดตรวจเดียวกันทุกคนแล้วมาแปลผล จึงอาจใช้คัดกรองและออกแบบได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้นครับ
7.การทดสอบอื่น ๆ ตามสถานการณ์ อายุ ของผู้เข้ารับการตรวจ การตรวจแบบนี้ไม่สามารถจัดชุดตรวจอายุมากกว่า 35 ปี มาตรวจเหมือนกันทุกคนและทุกกลุ่มอายุทุกปีได้แน่ ๆ เพราะชีวิตคนมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด
เช่น หากเป็นคู่แต่งงานที่ตั้งใจจะสร้างครอบครัว อาจจะต้องเข้ารับการประเมินโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไวมากพอ เช่นการตรวจซิฟิลิส ตรวจหาไวรัสเอชไอวี การตรวจหาโปรตีนและยีนของทาลัสซีเมีย ตรวจสอบการรับวัคซีนและการติดเชื้อหัดเยอรมันในว่าที่เจ้าสาว วางแผนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
เช่น หากพาคุณแม่อายุ 63 ปีมาตรวจ คงต้องประเมินพื้นฐาน ความอ้วน ความดันโลหิต เบาหวาน คัดกรองโรคไขมันในเลือดผิดปกติ คัดกรองมะเร็ง และเพิ่มเติมด้วย โอกาสจะล้มและกระดูกหัก ประเมินโรคกระดูกพรุน เพื่อวางแผนการเติมแคลเซียม การออกกำลังกาย การใช้ยาป้องกันกระดูกพรุน มีการประเมินภาวะสมองเสื่อมเบื้องต้น ตรวจหาโอกาสและวางแผนติดตามความผิดปกติทางสมอง พูดคุยเรื่องวัคซีนผู้สูงวัย ภาวะขาดสารอาหาร สุขภาพฟัน
จะเห็นว่าเมื่อทำการตรวจตามข้อบ่งชี้ ช่วงอายุ สถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต ก็จะไม่ต้องมาตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทุกปี หรือเอ็กซเรย์ปอดทุกปี ตรวจปัสสาวะทุกปี ตรวจการทำงานของตับทุกปี เอาเงิน เวลา ทรัพยากร ไปใช้กับส่งที่เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดผลลบปลอมที่สูงเกินเหตุ และความกังวลใจที่ไม่มีจริงด้วย
8.การตรวจสุขภาพและการวางแผนสุขภาพ จะต้องตามมาด้วยการปรึกษา (counseilling) ที่เหมาะสม มีเวลามากพอ ขั้นตอนนี้แหละที่เป็นเฉพาะตัวอย่างแท้จริง ไม่สามารถใช้คำแนะนำที่เหมือนกันได้เลย และไม่สามารถโยนผลสมุดตรวจให้ผู้เข้ารับการตรวจ แล้วเพียงบอกว่าสิ่งใดผิดปกติจาก 'ค่าอ้างอิง' เพียงเท่านั้น
คำแนะนำไม่เพียงแต่บอกว่าสิ่งที่เจอจากการคัดกรอง 'ที่ออกแบบมาแล้ว' ว่าพบอะไร แต่ต้องบอกด้วยว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรตามมา เช่น หากพบน้ำหนักตัวมาก ก็ต้องออกแบบคำแนะนำลดน้ำหนักให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิต หรือปรึกษาโภชนากรและนักกำหนดอาหารร่วมด้วย หรือตรวจพบชีพจรเต้นผิดจังหวะ ก็ควรแนะนำส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือการตรวจอื่น ๆ เพื่อประเมินรูปแบบความผิดปกติ โอกาสการเกิดโรคหัวใจและเสียชีวิต
หรือหากผลตรวจปรกติดี จะวางแผนเพื่อให้สุขภาพดีขึ้นและไม่ป่วยอย่างไร รวมทั้งนัดหมายเพื่อตรวจครั้งต่อไป ไม่จำเป็นต้องตรวจเหมือนกันทุกครั้งในทุกปี เช่น การตรวจไขมันในเลือด หากปรกติอาจติดตามอีกใน 5 ปีข้างหน้า หรือการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องก็ติดตามอีกครั้งในอีก 10 ปีข้างหน้า
การตรวจใด ๆ ที่ตรวจแล้วก็ไม่เกิดผลทั้งความคิดที่เปลี่ยน หรือการกระทำที่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเพื่อรักษา ตรวจเพิ่มเติม หรือเพื่อรักษาสิ่งที่ดีแล้วให้ดีต่อไป การตรวจสุขภาพใด ๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ขึ้นมาครับ
ในตอนสุดท้ายมาดูคำแนะนำ ถ้าคุณคิดจะตรวจสุขภาพ เพื่อคัดกรองโรคและวางแผนชีวิต จะทำอย่างไร
อาจเป็นรูปภาพของ แว่นกันแดด และ สถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น