03 มีนาคม 2565

คาบสมุทร "ไครเมีย"

 น่ารู้ก่อนนอน

นั่งอ่านข่าวและฟังวิทยุมาสองชั่วโมง นึกได้ถึงเกร็ดความรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับภูมิภาคทะเลดำ อันเป็นที่ตั้งของยูเครนในปัจจุบัน บริเวณนั้นคือคาบสมุทร "ไครเมีย"
เรื่องแรก ... ปี 1853-1856 มีสงครามที่นี่ระหว่างพันธมิตร อังกฤษ ฝรั่งเศส ออตโตมาน (ตอนนั้นอาณาจักรออตโตมานยังอยู่ และใกล้พังเต็มที) และซาร์ดีเนีย ซาร์ดีเนียเป็นเมืองอิสระเมืองหนึ่ง สมัยก่อนอิตาลียังไม่ได้รวมเป็นประเทศ แต่จะแยกปกครองเป็นเมือง เช่น ฟลอเรนซ์ เวนิส สี่ชาตินี้ทำสงครามกับอาณาจักรรัสเซียของซาร์นิโคลัสที่หนึ่ง
สงครามไครเมียนี้ถือเป็น สงครามยุคใหม่สงครามแรกของยุโรป มีการจัดทัพ การใช้อาวุธ การลำเลียง การรักษาผู้บาดเจ็บแบบใหม่ จากเดิมที่เป็นสงครามยุคเก่าเช่น สงครามนโปเลียน สงครามปลดปล่อยอเมริกา มีความเสียหายจากสงครามสูงมากกว่าสมัยเดิม
เรื่องที่สอง ... คาบสมุทรไครเมีย มีพระราชวังของจักรพรรดิรัสเซียหลายวัง เอาไว้ตากอากาศ หนึ่งในวังที่มีชื่อเสียงมากคือ วังลิวาลเดีย บริเวณเมือง Yalta ความสำคัญของวังนี้คือ มันสวยและอากาศดี เป็นสถานที่ประสูติของกษัตริย์ซาร์นิโคลัสที่สอง แห่งราชวงศ์โรมานอฟ กษัตริย์คนสุดท้ายของรัสเซีย หลังจากสงครามโลกยังได้รับรองผู้มีชื่อเสียงมากมายเช่น มาร์ค ทเวน, เนวิลล์ เชมเบอร์เลน อดีตนายก ฯ อังกฤษ
แต่ที่ดังที่สุดคือเป็นที่จัดประชุมสุดยอดสามผู้นำสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ในเดือนกุมพาพันธ์ 1945 ใกล้จะสิ้นสุดสงครามในภาคพื้นยุโรปแล้ว สามผู้ยิ่งใหญ่ ..วินสตัน เชอร์ชิลแห่งสหราชอาณาจักร, โจเซฟ สตาลิน จากกองทัพแดงแห่งโซเวียต และ ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ จากสหรัฐอเมริกา มาประชุมเพื่อจัดการนาซีเยอรมันที่นี่ ภาพถ่ายที่ทุกคนเคยเห็นสามคนนี้ชักภาพด้วยกันก็ที่วังลิวาลเดีย ในไครเมีย ในการประชุมสุดยอด the Yalta conference
เรื่องที่สาม ... จากเรื่องแรกของสงครามไครเมีย ที่นี่เป็นต้นกำเนิดของตะเกียงเล่มน้อยที่สว่างสุกใส อยู่ในใจพี่น้องพยาบาลทั่วโลก เพราะสงครามครั้งนี้เป็นต้นกำเนิด ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล พยาบาลอาสาสมัครจากฟลอเรนซ์ ที่มาปฏิบัติงานที่นี่
เธอพลิกโฉมการพยาบาล จัดการดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา มีเวรยาม ทำให้การดูแลต่อเนื่อง ลดอัตราตายและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลอย่างพลิกหน้ามือเลยทีเดียว จึงกล่าวว่านอกจากยุทธวิธีอันใหม่ในสงครามไครเมียแล้ว การจัดการรักษาพยาบาล แพทย์สนาม ก็พัฒนาอย่างมากที่สงครามไครเมียนี้เอง
และทุกค่ำคืน ทีมพยาบาลของไนติงเกลจะถือตะเกียงไปดูแลทหารผู้บาดเจ็บโดยไม่เลือกข้าง เหล่าทหารผู้บาดเจ็บจึงเรียกขานเธอว่า "lady with the lamp" ตะเกียงไนติงเกลนั่นเอง
ปล. ไครเมียอยู่ยูเครน ใครไม่มีเมีย ...ไหนยกมือสิ
อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น