17 ธันวาคม 2564

Trigeminal neuralgia

 Trigeminal neuralgia เป็นหนึ่งในโรคปวดหัวที่แสบที่สุดโรคหนึ่ง

Trigeminal เป็นชื่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า ทำหน้าที่หลักคือรับสัมผัสพื้นที่ใบหน้า ส่วนคำว่า neuralgia แปลว่าปวดตามแนวเส้นประสาท ดังนั้นน่าจะเดาได้ว่าโรค trigeminal neuralgia ก็จะมีอาการปวดศีรษะในบริเวณที่รับสัมผัสด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้านั่นเอง (จะยกเว้นส่วนหลังของหนังศีรษะที่ไม่ได้รับสัมผัสด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า)

อาการที่พบ แน่นอนมันเป็นโรคปวดหัวนี่นะ อาการหลักคือปวดหัวเหมือนโรคหัวหัวอื่น ๆ แต่ก็จะมีลักษณะร่วมที่ทำให้เราคิดถึงอาการปวดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้าดังนี้

1. ปวดหรือรู้สึกแสบ แปลบ ตามแนวเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า เอ๊ะ แนวไหน ผมนำภาพมาให้ดูนะครับ จริง ๆ มีรายละเอียดเชิงลึกมากกว่านี้ แต่คร่าว ๆ แบ่งเป็นสามส่วน อาการปวดหรือแสบ มักเป็นข้างเดียว และปวดตามแนวส่วนที่สอง (maxillary division) และแนวส่วนที่สาม (mandibular division)

2. อาการปวดมักจะมาเป็นพัก ๆ รุนแรงแต่ไม่นาน และมาพร้อมอาการแสบแปลบ ที่เป็นลักษณะเดียวกัน คือ เร็ว แรง แป๊บเดียวเสร็จ

3. มักจะเกิดร่วมกับสิ่งกระตุ้น สิ่งมักเป็นกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันที่เกิดการรับสัมผัสที่ใบหน้า และการกระตุ้นนี้ก็มักจะเกิดซ้ำ ๆ (แต่ก็ไม่ได้เป็นทุกครั้งที่เกิดการกระตุ้น) เช่น ทาลิปสติก เช็ดหน้า หรือจากการกระตุ้นในเยื่อบุช่องปาก เช่น อมน้ำแข็ง และก็บริเวณที่ถูกกระตุ้นก็ไม่จำเป็นต้องตรงกับบริเวณที่ปวด

สามลักษณะนี้ช่วยบ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรค trigeminal neuralgia ส่วนการตรวจร่างกายมักไม่พบอะไร ยกเว้นโชคดีสุด ๆ เห็นกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกเล็กน้อย เพราะเรามักจะไปหาหมอตอนที่หายปวดแล้ว การตรวจร่างกายจะทำเพื่อหาโรคร่วมอื่น ๆ เป็นหลักครับ

เมื่อเราตรวจร่างกายเรียบร้อยว่าไม่น่าจะมีโรคอื่นทางระบบประสาทหรือผิวหนัง ถ้าพบหรือสงสัยอาจต้องตรวจต่อ โรค trigeminal neuralgia อันนั้นจะเรียกว่ามีเหตุจากโรคอื่น (secondary type)

หากไม่มีเหตุอื่นร่วม ส่วนมากจะเป็น classic type เกิดจากการตีบแคบหรือวางตัวผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้าและเซลล์ต้นกำเนิดเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า (ส่วนมากคือ superior cerebellar artery) ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ กระตุ้นมากเกินไป ของปลอกหุ้มเซลล์ประสาทและเซลล์ที่ผลิตปลอกหุ้มนั้น เป็นเหตุผลว่าหากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล เราจะไปจัดการตรงหลอดเลือดตรงนี้ครับ

สุดท้ายหากหาเหตุไม่พบจริง ๆ จะเรียกว่า idiopathic หลายโรคทางการแพทย์หากไม่มีเหตุจริง ๆ คือ หาจนครบแล้วเราจะเรียกว่า อิดิโอพาธิก นี่แหละครับ

....แต่ถ้าเลิกกันโดยไม่มีสาเหตุ จะเรียกว่า “เพราะเธอดีเกินไป”....

เมื่ออาการเหมือน ตรวจหาเหตุอื่นแล้ว สืบค้นเท่าที่จำเป็นแล้ว คุณหมอลงความเห็นว่าเป็นโรคนี้แหละ คุณหมอจะให้ยาเพื่อรักษาครับ และยาที่ใช้ได้ดีมากจะเป็นยากันชัก carbamazepine และ oxcarbamazine

แน่นอว่ามันเป็นยากันชักจึงต้องดูแลการใช้ยาและติดตามผลข้างเคียงเสมือนยากันชักทุกตัว ต้องปรับยาอย่างระมัดระวัง เพราะหากระดับยามากไปหรือน้อยไปก็จะเจอผลอันไม่พึงประสงค์ ไม่ว่า วิงเวียน เดินเซ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และที่สำคัญคือ อาการแพ้ยารุนแรงที่สัมพันธ์กับยีน HLA-B*15:02

ปัจจุบันแนะนำให้ตรวจหายีนนี้ก่อนการให้ยา หากมียีนนี้จะไม่แนะนำให้ใช้ยา สิทธิบัตรทองของไทยเราสามารถตรวจหายีนนี้ได้ฟรีครับ

หากใช้ยาหลักไม่ได้ อาจใช้ยา gabapentin, pregabalin หรือยาต้านซึมเศร้าตัวอื่น ๆ ได้ (หรือใช้เสริมกับยาหลัก) และหากการใช้ยาไม่ได้ผลก็อาจใช้การผ่าตัดไปทำลายปมประสาทสมองหรือแยกหลอดเลือดกับเส้นประสาทไม่ให้เกิดปฏิกิริยาต่อกัน ถึงกรณีนี้ก็ปรึกษาคุณหมอเป็นราย ๆ ไปครับ

เป็นไง แสบไหมครับ ไม่เชื่อลองไปถามแฟนบอลนิวคาสเซิลดูนะครับ

อาจเป็นรูปภาพของ หนึ่งคนขึ้นไป และ ข้อความพูดว่า "V1 Ophthalmic n. V2 V3 Maxillary n. 1 Mandibular"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น