06 ตุลาคม 2564

แอนติบอดี กับไข้เลือดออก และ วัคซีนไข้เลือดออก

 แอนติบอดี กับไข้เลือดออก และ วัคซีนไข้เลือดออก

เรามาเปลี่ยนบรรยากาศโรคโควิดมาเป็นโรคไข้เลือดออกกันบ้าง ความจริงแล้วโรคไข้เลือดออกก็ยังระบาดนะครับ ในสถานการณ์โลกแล้วโรคไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาอีกมาก ด้วยความที่ความรุนแรงของโรคสูงมากและหากรับการรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้ เพียงแต่กันโรคได้ง่ายกว่า เพราะเรากันยุงไม่ได้กันคน

โควิดมีวัคซีน ไข้เลือดออกก็มีวัคซีน วัคซีนไข้เลือดออกมีมาหลายปีแล้ว เป็นวัคซีนเชื้อตัวเป็น ได้รับการรับรองให้ฉีดในคนที่อายุ 9-45 ปี โดยแนะนำฉีดในคนที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว หากไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน มีรายงานว่าอาจเกิดการป่วยแบบที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น (แต่สัดส่วนไม่มาก และความรุนแรงก็ไม่ได้สูง ใครต้องการฉีดให้ปรึกษาผลดีผลเสียกับคุณหมอเป็นกรณีไป)

ถามว่าวัคซีนไข้เลือดออกป้องกันอะไร คำตอบคือ ป้องกันโรคไข้เลือดออกรุนแรงและลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เหมือนวัคซีนโควิด จริง ๆ ก็เหมือนวัคซีนทุกประเภทนั่นแหละครับ แต่มันมีข้อขัดแย้งอยู่หนึ่งอย่าง คือ หากไม่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน การฉีดวัคซีน "อาจจะ" ทำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งมันขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของวัคซีน ที่ต้องการลดการรักษาในโรงพยาบาล

แสดงว่าเราควรฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ป่วยมาแล้ว ติดเชื้อมาแล้ว จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดเชื้อมาแล้ว

ง่ายมากและกำปั้นทุบดินมาก ๆ คือ ถามตรง ๆ จำได้ไหมว่าเคยเป็นไข้เลือดออก ถ้าจำได้ หรือมีประวัติการรักษาทางการแพทย์ อันนี้ก็ฉีดได้เลย แต่ถ้าจำไม่ได้หรือไม่แน่ใจล่ะ เพราะความจริงแล้วไข้เลือดออกส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงนะครับ บางทีอาการเหมือนหวัด ไข้วันสองวันก็หาย แต่เป็นไข้เลือดออกเดงกี่เรียบร้อยแล้วและหายแล้ว หรือบางคนป่วยบ่อย จำไม่ได้ เราจะทำอย่างไร ?

ถ้าจะให้ชัดเจนแน่นอน เราจะตรวจแอนติบอดีชนิด neutralizing antibody คือแอนติบอดีที่สามารถต่อต้านเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง (ที่ถูกทำให้ติดเชื้อไวรัส) แต่การทำไม่ง่ายนัก ราคาแพง ใช้เวลานาน และนิยมทำในการศึกษาวิจัยเท่านั้น จริง ๆ ก็เหมือนการตรวจแอนติบอดีต่อโควิดนะ ที่ต้องใช้การตรวจแอนติบอดีแบบนี้เท่านั้นจึงจะพอ "ประมาณการ" เรื่องการป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้

ขนาดเป็นการทดสอบที่แม่นยำที่เรายอมรับกันสำหรับแอนติบอดี อย่าง neutralizing antibody แต่มันยังเป็นเพียงตัวชี้วัดทางอ้อม surrogate endpoint สำหรับการติดเชื้อเท่านั้น

การตรวจหาระดับแอนติบอดีโดยวิธี ELISA และวิธีตรวจวัดเชิงคุณภาพ ที่บอกผลบวกหรือลบ (qualitative test) โดยวิธีการตรวจเร็ว rapid test ทั้งสองวิธีนี้ถือว่ามีความไวไม่มากพอ และแอนติบอดีที่วัดได้จากสองวิธีนี้ จะลดลงตามเวลาที่นานไป ดังนั้นถึงแม้เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ตรวจพบแล้วว่าระดับสูง แต่เมื่อผ่านไปจะพบว่าระดับลดลงจนตรวจไม่เจอก็เป็นได้

คำว่า 'ไม่ไวมากพอ' หมายความว่า ถ้าผลออกมาเป็นลบ ก็อาจจะเคยเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาแล้ว (อาจตรวจพบด้วยวิธี plaque neutralization antibody test : PRNT) หากเราใช้วิธี ELISA หรือ Rapid Test เพื่อคัดกรองว่า คนคนนี้เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วหรือเปล่า เราจะมีโอกาสผิดพลาดได้ และคนไข้ก็อาจเสียโอกาสการรับวัคซีนไข้เลือดออก เพราะผลอออกมาเป็นลบปลอมนั่นเอง (แต่ถ้าค่าเป็นบวก โอกาสเป็นบวกจริงสูงมาก)

การศึกษาที่ผมอ้างอิงมาด้านล่าง ทำในประเทศไทยนะครับ เพื่อตรวจวัดหาการติดเชื้อไข้เลือดออก ด้วยวิธี PRNT50 และวิธี ELISA กับ rapid test ว่าผลเป็นอย่างไร จริง ๆ แล้วเราเคยมีการศึกษาระดับแอนติบอดีแบบนี้มาหลายครั้ง แต่เป็นการวัดวิธีเดียว ไม่ได้มาเปรียบเทียบกันแบบนี้ ผลที่ผ่าน ๆ มาก็พบว่าในคนไทยจากกลุ่มตัวอย่าง กว่า 80% เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว เรามาลองดูการศึกษานี้กัน ผมเล่าคร่าว ๆ ให้เห็นภาพนะครับ ใครต้องการอ่านตัวเต็มก็ไปที่อ้างอิงด้านล่าง สามารถไปอ่านได้ฟรีครับ

การศึกษาทำในจังหวัดราชบุรี โดยกลุ่มศึกษาเป็นคนที่แข็งแรงดี ไม่มีไข้ ไม่เจ็บป่วยในเวลาที่เก็บข้อมูล ไม่ได้ระบุว่าเคยหรือไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน อายุ 9-22 ปี จำนวน 155 คน เก็บตัวอย่างในช่วงสิงหาคม 2019-2020 พบว่า เมื่อใช้วิธี PRNT50 (cut off value > 10) พบผลบวกคือเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้วเป็นจำนวน 81.7% แต่ถ้าเราใช้การตรวจแอนติบอดีด้วยวิธี ELISA และ Rapid Test จะพบผลบวก 71% และ 28.7% ตามลำดับ

และถ้าแบ่งกลุ่มตามอายุ พบว่ายิ่งอายุมากขึ้น จะพบผลการตรวจแอนติบอดีเป็นบวกมากขึ้นตามอายุอีกด้วย มีการติดเชื้อซ้ำและอยู่รอดปลอดภัยจนอายุมาก

และหากเรานำคนที่ได้ผลบวกจากการตรวจด้วยวิธี PRNT50 จำนวน 94 คน มาดูว่าเมื่อใช้วิธี ELISA และ Rapid Test จะได้ผลลบกี่เปอร์เซ็นต์ นั่นคือ ลบปลอม และอาจขาดโอกาสการรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรค เนื่องจากได้รับการแปลผลว่า..ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออก เราจะพบว่า

ด้วยวิธี Rapid Test พบผลลบ 64.9% เรียกว่า ลบปลอมสูงมากครับ

ด้วยวิธี ELISA พบผลลบ 12.8% ก็มีความผิดพลาดลบปลอม ไม่สูงเท่าไรครับ

ดังนั้น หากเราจะตรวจคนที่ไม่มีอาการ ไม่เคยรู้ว่าติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนหรือไม่ เพื่อพิจารณารับวัคซีนไข้เลือดออก เราควรตรวจแอนติบอดีด้วยวิธี ELISA จะแม่นยำมากกว่าการใช้ Rapid Test (ที่เราใช้บ่อย ๆ ในการวินิจฉัยโรคเฉียบพลัน)

เห็นไหมครับ เรื่องการตรวจแอนติบอดี ระดับแอนติบอดี วิธีตรวจ การแปลผล มันมากมายและซับซ้อนมากกว่าตัวเลขเท่าไร หรือผลเป็นบวกเป็นลบ ไข้เลือดออกเป็นเช่นนี้ และโควิดก็ไปในแนวทางนี้เช่นกัน

ที่มา

Limothai U, Tachaboon S, Dinhuzen J, Hunsawong T, Ong-ajchaowlerd P, Thaisomboonsuk B, et al. (2021) Dengue prevaccination screening test evaluation for the use of dengue vaccine in an endemic area. PLoS ONE 16(9): e0257182. https://doi.org/10.1371/journal. pone.0257182

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น