21 มิถุนายน 2564

ความดันโลหิตสูงชนิด resistant

 ความดันโลหิตสูงชนิด resistant

ความดันโลหิตสูง ถือเป็นโรคร้ายแรงเป็นอันดับหนึ่งของโลกยุคปัจจุบัน และเป็นมัจจุราชที่ไร้อาการ หากไม่วัดค่าความดัน เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูง

ปัจจุบันเราทราบธรรมชาติของโรค เราสามารถควบคุมความดันโลหิตสูงได้ดี ลดอัตราการเสียชีวิตและโรคแทรกลงได้มาก แถมยังรุกคืบไปถึงการป้องกันก่อนที่ความดันจะสูง ค้นหาคนที่มีโอกาสเกิดโรคแล้วป้องกัน

แต่จะมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงกลุ่มหนึ่ง ที่ควบคุมได้ยาก และต้องหาเหตุที่คุมยากนั้น ให้การรักษาให้ตรงเหตุ ไม่เช่นนั้นความดันโลหิตจะไม่ลดลง หรือแม้จะลดลงก็ยังมีความเสี่ยงสูงหากไม่กำจัดสาเหตุนั้น

Resistant Hypertension คือ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ใช้ยาลดความดันอย่างน้อย 3 ชนิดที่ต่างกลุ่มกัน แต่ค่าความดันโลหิตก็ยังสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยที่

1. หนึ่งในกลุ่มยานั้น จะต้องมียาขับปัสสาวะอยู่ด้วย

2. ยาที่ได้ทุกตัว จะต้องเป็นขนาดการรักษาที่ถูกต้อง ความถี่และช่วงเวลาที่ให้ยาต้องเหมาะสม

หากเราพบผู้ป่วยลักษณะนี้จะต้องสืบหาเหตุและรักษา เช่น ผู้ป่วยอาจมีก้อนที่ต่อมหมวกไต ที่จะหลั่งสารพัดฮอร์โมนทำให้ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยอาจมีโรคหลอดเลือดที่ไตผิดปกติ ผู้ป่วยอาจมีการหลั่งฮอร์โมนจากแหล่งต่าง ๆ ที่ผิดปกติ เราต้องผ่าตัด เราต้องใช้ยาอื่นด้วยจึงจะคุมความดันและลดผลแทรกซ้อนได้

แต่ก่อนที่จะไปถึงว่า... เอ๊ะ ตัวเราหรือคนไข้ของเราเป็น resistant HT หรือไม่ และต้องสืบค้นมากมายหรือไม่ ขอให้มาประเมินสิ่งเหล่านี้ และทุกท่านที่รักษาโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ลดลง คุมยาก ก็ขอให้มาพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ด้วย ปัจจัยที่ชื่อว่า pseudoresistant hypertenstion.. สูงปลอมนั่นเอง

Pseudo resistance

1. วิธีวัดความดันไม่ถูก โดยเฉพาะหากนั่งพักไม่นานพอ โดยปกติต้องนั่งพัก 15-20 นาที อย่าเพิ่งไปสรุปค่าตัวเลขที่ได้มาตอนที่ยังเหนื่อย หรือเพิ่งเดินมาว่าความดันสูง อีกประการคือ ขนาดของแถบวัดความดันที่เล็กเกินไป ไม่ว่าความกว้างไม่พอหรือไม่ยาวจนรอบแขน ค่าความดันที่ได้จะสูงกว่าปรกติ การเลือกขนาดแถบวัด (cuff) จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

2. การรักษาที่ไม่สม่ำเสมอ ทำบ้างไม่ทำบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดยา การกินยาไม่ตรงตามกำหนดเวลา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ความดันโลหิตควบคุมไม่ได้และค่าสูง ก่อนที่จะไปบอกว่าเป็น Resistant hypertension ต้องมาตรวจสอบเรื่องความสม่ำเสมอและการติดตามการรักษาและการกินยาเสียก่อน

3. White coat effect บางคนพอมาวัดค่าความดันที่คลินิกหรือที่โรงพยาบาลจะตื่นเต้นมาก นั่งพักก็แล้ว ดูทีวีก็แล้ว แต่ความดันโลหิตก็ยังสูง แต่พอไปวัดค่าความดันที่บ้าน กลับพบว่าค่าความดันปรกติ หรือหากเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงก็พบว่าไม่ได้สูงเหมือนกับมาวัดค่าที่โรงพยาบาล แม้ว่าอันตรายจาก white coat effect จะมีหลักฐานให้เห็นว่า อันตรายสูงกว่าคนที่ไม่เคยมีความดันโลหิตผิดปกติเลย แต่จะไปบอกว่าคนกลุ่มนี้เป็น resistant hypertension ไม่ได้

4. ยังปรับวิถีชีวิตเพื่อรักษาความดันโลหิตสูงที่ยังไม่ดีพอ ยังไม่ลดน้ำหนักตัว (ในกรณีน้ำหนักเกิน) ยังไม่สามารถลดความเค็ม ลดเครื่องปรุง ลดอาหารที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม ยังลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงไม่ได้ กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำให้ค่าความดันโลหิตไม่ลดลง และไม่สามารถประกาศว่าเป็น Resistant hypertension ได้ ให้ไปแก้ไขปัจจัยต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน

5. มีการใช้ยาที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงกว่าปรกติหรือไม่ ถ้ามีการใช้ยานั้นและคิดว่ายานั้นทำให้ความดันขึ้น จะต้องมาแก้ไข ปรับยาหรือหยุดยาถ้าทำได้ และประเมินความดันโลหิตซ้ำใหม่ ยาที่พบบ่อย ๆ ที่ทำให้ความดันโลหิตสูง

5.1 ยาต้านการอักเสบ NSAIDs ไม่ว่าจะเป็นยากลุ่มเดิมเช่น ibuprofen, diclofenac, ketolac, naproxen หรือยากลุ่ม coxib ที่ลดผลแทรกซ้อนระบบทางเดินอาหาร เช่น celecoxib, etoricoxib

5.2 ยาลดจมูกบวม ยาลดน้ำมูก

5.3 ยาเม็ดคุมกำเนิด

5.4 สารเสพติด โดยเฉพาะ ยาบ้าและโคเคน

5.5 ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง Erythropoietin

5.6 สารสเตียรอยด์ ทั้งในรูปแบบยาแผนปัจจุบัน หรือแฝงมาในรูปยาลูกกลอน ยาต้ม

สุดท้ายผมนำรูป white coat effect มาให้ดูครับ เจอแบบนี้ความดันคง.. พุ่งปรี๊ด

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และกำลังยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น