15 มีนาคม 2564

สรุปเรื่องวัคซีนไข้เลือดออก จากงานประชุม short course ของสมาคมโรคติดเชื้อ 2021

 สรุปเรื่องวัคซีนไข้เลือดออก จากงานประชุม short course ของสมาคมโรคติดเชื้อ โดย อ. ศศิโศภิณ เกียรติบูรณกุล เป็น industrial symposium สนับสนุนโดยบริษัทซาโนฟี่-ปาสเตอร์ (ผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีนไข้เลือดออก)

จากข้อมูลเดิม การศึกษาวัคซีนในผู้ที่อายุ 9-16 ปีในเขตประเทศเอเชียและอเมริกาใต้ พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนคือลดการติดเชื้อ ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการป่วยรุนแรง ในสี่สายพันธุ์พบว่าประสิทธิภาพอยู่ที่ 65-70% โดยความสำคัญอยู่ที่หากคิดแยกในคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 80% ในกลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ประสิทธิภาพจะเหลือแค่ 50%

ในการศึกษาทางคลินิก พบมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเกิดขึ้นจริง และพบในกลุ่มที่ *ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน* อย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขจากการศึกษา ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจะมีการป่วยเข้าโรงพยาบาลที่ 4.8 รายต่อประชากรพันราย ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนจะอยู่ที่ 4 ต่อประชากรพันราย เรียกว่า ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าจะตกอยู่ในกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาแล้วอย่างชัดเจน

นอกจากนี้หลังจากฉีดวัคซีนจริงไปแล้วมีผู้ที่ป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งสองกลุ่ม (ไม่มีวัคซีนใดได้ผล 100%) โดยพบกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อก่อนรับวัคซีนมากกว่า จนในบางประเทศถึงกับขอหยุดการฉีดเพื่อศึกษาก่อนว่าจะเอาอย่างไร

จากข้อมูลที่กล่าวมา คำแนะนำปัจจุบันจึงแนะนำวัคซีนไข้เลือดออกสำหรับคนอายุ 9-45 ปี ที่เคยมีหลักฐานว่าติดเชื้อมาก่อน และไม่แนะนำหากไม่เคยติดเชื้อมาก่อน เราจะมาขยายความเข้าใจตรงนี้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเคยติดเชื้อมาแล้ว ..?

ถ้ามีประวัติชัดเจน เป็นไข้เลือดออกมาแล้ว เคยรักษามาแล้ว อันนี้ไม่ต้องสงสัยไม่ต้องตรวจเพิ่มใด ๆ ฉีดได้เลย ปัญหามีสองอย่าง อย่างแรกคือการติดเชื้อไข้เลือดออกส่วนมากเป็นแบบอาการน้อยแบบไข้หวัด หรือไม่มีอาการเลย คนที่เคยได้รับการยืนยันว่าป่วยจะมีแค่ 30% เท่านั้น นำมาถึงปัญหาอย่างที่สองคือ ในคนที่ไม่เคยมีประวัติว่าป่วยจากไข้เลือดออก เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเคยติดเชื้อมาแล้วหรือยัง

การตรวจยืนยันที่แน่นอนชัดเจนเรียกว่า PRNT ที่เป็นการตรวจแอนติบอดีแบบหนึ่ง ที่ราคาแพงมาก ทำยาก รอผลนาน ใช้ในงานวิจัยเท่านั้น ส่วนการตรวจแอนติบอดีที่เราใช้เพื่อวินิจฉัย ..ย้ำเพื่อวินิจฉัย..โดยการดูอัตราการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีอย่างน้อยสี่เท่าในเวลาที่ต่างกัน ก็ใช้เวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์ แถมแอนติบอดีพวกนี้ก็ลดลงตามกาลเวลา การตรวจไม่พบอาจจะหมายถึงเคยติดเชื้อแต่ระดับมันลดลงก็ได้ แต่ก็ใช้เวลานานอีกเช่นกัน

เพื่อตอบโจทย์ในการค้นหาคนที่จะมารับวัคซีน (และอาจเพื่อผลทางธุรกิจด้วย) ทางบริษัทซาโนฟี่-ปาสเตอร์จึงพัฒนาชุดตรวจที่จำเพาะและไวมากพอที่จะบอกว่า คนที่ไม่มีอาการหรอไม่มีประวัติคนใด ที่ยังไม่เคยรับเชื้อมาก่อนและไม่แนะนำวัคซีน เรียกว่า rapid diagnostic test ที่เป็น point of care test คือ เจาะเลือด หยดใส่ชุดทดสอบ รอยี่สิบนาทีแล้วแปลผล บอกได้เลยจะฉีดได้หรือไม่ควรฉีด การทดสอบนี้มีการศึกษาทางคลินิกเปรียบเทียบและได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของไทยเรียบร้อยแล้ว

การทดสอบที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นี้มีความไวและความจำเพาะอยู่ที่ประมาณ 95% และไม่พบว่ามีปฏิกิริยาข้ามการทดสอบกับเชื้อโรคตัวอื่น ตึงนำมาใช้เพื่อคัดเลือกคนที่ควรรับและไม่ควรรับวัคซีนได้ดีครับ

ข้อต่อมาที่ต้องบอกคือ แม้การศึกษาทำในคนอายุ 9-16 ปี แต่ข้อบ่งชี้ให้ฉีดได้ถึง 45 ปี มาจากการศึกษาเชิงคณิตศาสตร์ ถึงความสัมพันธ์ของระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพในการปกป้อง พบว่าระดับภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูง สัมพันธ์กับการปกป้องที่ดี ในผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 16-45 ปีก็มีการเก็บข้อมูลว่าระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่าตอนอายุน้อยกว่า 16 ปีเสียอีก ดังนั้นเราจะแปลความว่าประสิทธิภาพการปกป้องสามารถทำได้ถึง 45 ปี (การศึกษาติดตามระยะยาว 16-45 ปีมันทำยากมาก)

สุดท้ายคือ องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า ในประเทศที่มีการระบาดของโรคชุกชุม อาจไม่จำเป็นต้องตรวจแอนติบอดีก็ได้ สามารถพิจารณาฉีดภายใต้ข้อมูลการระบาดของประเทศนั้น ๆ ได้เลย

ในประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลในผู้ใหญ่พอสมควรว่า ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่มีการติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้วกว่า 80% ด้วยข้อมูลอันนี้พบว่า เราจะคัดกรองโดยการทำ rapid diagnostic test หรือไม่ จะไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการป้องกัน และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการคัดกรองด้วย

แต่หากมีข้อกังวลสงสัยจะใช้การทดสอบคัดกรองก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

ร่ายมาเสียยาว สรุปว่า

👉เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ฉีดได้

👉ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ อายุมากกว่า 16 ทำการทดสอบก่อน ถ้าเคยติดเชื้อมาแล้วฉีดได้เลย

👉อายุที่ฉีดคือ 9-45 ปี

👉สามเข็มห่างกันทุกหกเดือน

👉วัคซีนตัวเป็นนะครับ คนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องห้ามฉีด

อย่าลืมกำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันยุงกัด และเข้ารับการรักษาหากสงสัยไข้เลือดออก ร่วมกับพิจารณารับวัคซีนครับ

ปล. การศึกษาและการบรรยาย สนับสนุนโดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีน

อาจเป็นภาพระยะใกล้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น