11 มีนาคม 2564

การจัดการเบาหวานในเดือนรอมฎอน 2021 ตอนที่ 1

การจัดการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในช่วงเดือนรอมฎอน 

ผมคิดว่าแนวทางนี้เขียนออกมาดีมาก เป็นของ International Federation of Diabetes ลงพิมพ์เมื่อ 17 กพ. 2021 ที่ผ่านมา เพราะมีข้อมูลใหม่ ๆ และปรับแนวทางเข้ากับยุคสมัย ที่สำคัญคือเป็นความร่วมมือกับองค์กรทางศาสนาอิสลามด้วย ทำให้แนวทางนี้ออกมาราบรื่น ไม่ขัดกับหลักการแพทย์และศาสนา ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้ได้สะดวกสบายขึ้น

ข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาบอกว่า การประเมินความเสี่ยงและการจัดการผู้ป่วยก่อนเข้าเดือนรอมฎอน ยังทำได้ไม่ดี บุคลากรทางการแพทย์มีการตระหนักรู้เรื่องนี้น้อยมาก ผู้ป่วยเองก็อยากที่จะถือศีลอดตามข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม แต่ก็ไม่มีแนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ทำให้ที่ผ่านมาเกิดปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย และความขัดแย้งในใจเรื่อยมา

ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขโดยองค์กรสำคัญทางศาสนา ได้เข้ามาร่วมการพัฒนาแนวทาง การประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง แจ้งข่าวที่จำเป็นร่วมกับ IDF ทำให้มีแนวทางชัดเจนครับ ท่านสามารถศึกษาฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์ของ IDF

ข้อสำคัญของแนวทางนี้คือ มีการประเมินความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรม มีตารางสรุปเป็นคะแนนออกมาเป็นเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ โดยที่หากคะแนนเกิน 6 จะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ทั้งแนวทางการแพทย์และแนวทางของศาสนา เห็นเหมือนกันว่าไม่แนะนำให้อดอาหาร (การถือศีลอดในกรณีไม่สามารถอดอาหาร อาจมีกิจกรรมอื่น ๆ ทดแทนและกิจกรรมศีลอดที่ไม่เกี่ยวกับอาหารสามารถทำต่อได้) ส่วนหากเสี่ยงปานกลาง ไม่สนับสนุนให้อดอาหาร แต่หากจะอดต้องเข้ารับการเตรียมตัวที่ดีก่อนและเลิกทันทีหากเกิดอันตราย  ส่วนเสี่ยงต่ำสามารถอดอาหารได้ (ทางศาสนาจะแนะนำหนักแน่นกว่าครับ ใช้คำว่า obligate)

ความเสี่ยงที่มีน้ำหนักมาก หากมีข้อต่าง ๆ เหล่านี้มักจะเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง คะแนนแต่ละข้อ 4-6 มีข้อเดียวก็เสี่ยงปานกลางแล้ว
  • Hypoglycemic unawareness คือน้ำตาลต่ำแบบไม่มีอาการ เพราะเกิดบ่อยจนชินและร่างกายไม่สามารถเตือนว่าน้ำตาลต่ำได้ (ระบบประสาทอัตโนมัติเสียหาย)
  • มีประวัติน้ำตาลต่ำรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมา
  • ต้องใช้อินซูลินชนิด basal หรือใช้ปั๊มอินซูลิน
  • มีโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดของเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้
  • สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ช่วยเหลือตัวเองหรือแก้ไขหากเกิดน้ำตาลต่ำไม่ได้
  • ไตเสื่อมเรื้อรังตั้งแต่ระยะ 4
  •  ตั้งครรภ์และยังไม่คลอดในช่วงศีลอด

ด้วยความที่มีการประเมินความเสี่ยงที่ชัดเจนมาก และมีการศึกษาเรื่องการจัดการเบาหวานตามความเสี่ยงเพื่อลดอันตรายจากการอดอาหารนี้ คำแนะนำจึงให้ผู้ที่เป็นเบาหวานและต้องการเข้าร่วมศีลอดเข้าประเมินความเสี่ยง และเตรียมตัวก่อนถึงวันศีลอด 4-6 สัปดาห์ เพราะกระบวนการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ต้องเริ่มทำและประเมินผลก่อนว่าปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการลดยา การเปลี่ยนชนิดอินซูลิน การเปลี่ยนเวลาฉีดยา หรือการตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว 

ก่อนหน้าจะมีแนวทางนี้ มีการศึกษาว่าบุคลากรการแพทย์มีการใช้แนวทางอันที่แล้วเพื่อดูแลคนไข้เพียง 63% ทั้ง ๆ ที่มีคนตั้งใจเข้าศีลอดถึง 83% ทำให้ตัวเลขการถือศีลอดจนครบโดยไม่เกิดอันตรายของเบาหวานชนิดที่สองอยู่ที่ 62% ส่วนเบาหวานชนิดที่หนึ่งมีเพียง 26%  แนวทางนี้เชื่อว่าจะปิดช่องว่างการดูแล และลดกำแพงขวางกั้นความเข้าใจ ทำให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้สบายใจและปลอดภัย

สำหรับการจัดการเรื่องทั่วไปและเรื่องอาหาร ที่ถือเป็นประเด็นหลัก ผมจะอธิบายเรื่องนี้มากกว่าการปรับยาที่คุณหมอสามารถไปศึกษาได้ฟรีจากเว็บไซต์ของ IDF ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น