19 กุมภาพันธ์ 2564

Sir William Gowers

 ค้อนส่วนตัว

ในโพสต์ก่อนหน้านี้ เราได้รู้จักค้อนเคาะรีเฟล็กซ์ในแบบต่าง ๆ รวมถึงค้อนคาโอริ (นี่ยังดีที่ไม่มีค้อนธอร์) ส่วนตัวผมใช้แบบ Taylor เพราะพกสะดวก หลายท่านในนี้คงพกหลายแบบ หรือโดนเคาะด้วยค้อนมาแล้วหลายแบบ แต่มีคุณหมอคนหนึ่งใช้ค้อนที่ต่างออกไป

Sir William Gowers คุณหมอชาวอังกฤษยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาที่หลายคนถือว่าเป็นนักประสาทวิทยาที่ยิ่งใหญ่มากของโลก และตำรา Manual of Disease of the Nervous System ที่ถือว่าเป็นอภิมหาตำราอมตะนิรันดร์กาลดาวล้านดวงของประสาทวิทยาในยุคนั้น และยังไม่นับชื่อ Gower ที่จารึกในโลกของประสาทวิทยาจำนวนมาก เช่น Gower’s sign ในโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือชื่อเส้นทางประสาทส่วนกลาง Gower tract

คุณหมอทำงานที่ ศูนย์ผู้ป่วยอัมพาตและลมชัก Queen Square เป็นตักศิลาของวิชาประสาทวิทยาในยุคสมัยนั้น จำได้ไหม ที่นี่เป็นที่กำเนิดค้อนเคาะรีเฟล็กซ์แบบ Queen Square ดังนั้นแน่นอนคุณหมอย่อมมีเทคนิคในการตรวจร่างกายระบบประสาทที่น่าตื่นตาแน่ ๆ

ผมไปอ่านพบใน footnote ของการตรวจร่างกายระบบประสาทของตำราชื่อดังเล่มหนึ่ง เขียนถึงอุปกรณ์การตรวจรีเฟล็กซ์ของคุณหมอกาวเวอร์ ก็ได้รับรู้ถึงปรัชญา “กระบี่อยู่ที่ใจ แม้กิ่งไผ่ก็ไร้เทียมทาน”

บันทึกกล่าวว่าคุณหมอกาวเวอร์ใช้ สันผ่ามือด้านนิ้วก้อย เคาะรีเฟล็กซ์ในการตรวจร่างกาย และบางครั้งก็ใช้หูฟัง (stethoscope) เพื่อเคาะรีเฟล็กซ์ก็ยังมี ที่สำคัญตรวจได้แม่นยำอีกด้วย จริง ๆ ถ้าเข้าใจในหลักการอย่างถ่องแท้ จะประยุกต์ใช้แบบใดก็ได้ (ประยุกต์นะ ไม่ใช่ ประยุทธ์)

แต่ผมไม่แนะนำนะครับ ควรใช้อุปกรณ์การตรวจให้เหมาะสมและถูกวิธีมากกว่า และขืนไปใช้วิธีของกาวเวอร์ไปสอบ รับรองสอบตกแน่นอนครับ เพราะอะไร ..เพราะกระบี่ไม่ได้อยู่ที่ใจ
...
แต่กระบี่อยู่ใต้สุราษฎร์ธานี

อาจเป็นรูปภาพของ หนึ่งคนขึ้นไป และกลางแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น