16 พฤศจิกายน 2563

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน แบบที่ทุกคนน่ารู้ จาก Thai Osteoporosis Foundation Statement 2016

 ยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน แบบที่ทุกคนน่ารู้ จาก Thai Osteoporosis Foundation Statement 2016

น่าจะเป็นการเล่าเรื่องอันสุดท้ายจาก statement นี้แล้วนะครับ

ก่อนที่จะกล่าวถึงยาที่ใช้ ก็ต้องบอกก่อนว่า การใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนจะต้องเริ่มที่มีข้อบ่งชี้การใช้ยาที่ชัดเจน มีการวัดผลและติดตามประสิทธิภาพของการรักษาด้วย หากไม่มีประสิทธิผลมากเท่าที่คาดจะต้องเปลี่ยนการรักษาหรือยุติการรักษา เพราะผลแทรกซ้อนของยาที่ใช้ก็มีพอสมควรเช่นกัน

การพิจารณาใช้ยานอกจากข้อบ่งชี้ที่กล่าวมาแล้ว ตำแหน่งของกระดูกที่จะรักษาก็สำคัญ เพราะยาแต่ละตัวจะมีข้อมูลการรักษาที่กระดูกส่วนต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกันครับ

🚩🚩bisphosphonate

ยาหลักที่ใช้ในประเทศไทยคือยากลุ่ม bisphosphonates เพราะประสิทธิภาพดี สามารถรักษาได้ทั้งกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพกและกระดูกส่วนอื่น และได้รับการบรรจุบัญชียาหลักแห่งชาติปี 2562 คือ alendronate ขนาด 70 มิลลิกรัมยาฉีด zoledronic ขนาด 4 มิลลิกรัม

ยากลุ่มนี้มีทั้งแบบยากินวันละครั้ง ยากินสัปดาห์ละครั้ง หรือกระทั่งเดือนละครั้งหรือสามเดือนครั้ง ที่ออกแบบมาหลากหลายแบบนี้เพราะต้องการเพิ่มอัตราความต่อเนื่องของการรักษา ส่วนประสิทธิภาพถือว่าพอกันในทุก ๆ แบบ ส่วนยาฉีด zoledronic จะให้ยาปีละหนึ่งครั้งครับ

ข้อสำคัญของการรักษาคือ แสบท้อง กรดไหลย้อน ที่อาจจะเกิดได้ และอาจเกิดกระดูกกรามอักเสบขาดเลือดได้โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาฟันผุอยู่เดิม ก่อนใช้ยานี้ควรตรวจฟันเสมอ และห้ามใช้ในผู้ป่วยไตเสื่อมที่มีค่า GFR น้อยกว่า 35

สำหรับเรื่องการกินยาไปสักพักแล้วหยุดยาชั่วคราว (drug holiday) ก็มีการใช้อยู่บ้าง แต่ในกรณีนี้ให้ปรึกษาคุณหมอเป็นกรณีไปครับ

🚩🚩Strontium ranelate

เป็นยาที่มีข้อมูลมากในการรักษากระดูกสะโพกหญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้ชายที่ต้องรับการรักษา จึงเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ กลุ่มอื่นหรือกระดูกตำแหน่งอื่นก็รักษาได้นะครับ เพียงแต่ข้อมูลในกลุ่มที่กล่าวมามันเด่นมากกว่า

ข้อระมัดระวังที่ห้ามใช้ที่สำคัญคือ โรคของหลอดเลือด ไม่ว่าจะหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงตีบตัน กระทั่งคนที่ขยับเคลื่อนที่ไม่ได้ที่เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันก็ห้ามใช้

🚩🚩Denozumab

เป็นยาฉีดทุก 6 เดือน มีจุดเด่นการใช้ในสตรีวัยหมดประจำเดือน การรักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีที่ใช้ยาต้านฮอร์โมนรักษามะเร้งเต้านมชนิด aromatase inhibitor(ซึ่งใช้ในสตรีหมดประจำเดือนอยู่แล้ว) และสุภาพบุรุษที่ต้องรักษาโดยการเอาฮอร์โมนเพศออก เช่น การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

🚩🚩Raloxifene

ยานี้จะมีข้อมูลสนับสนุนแค่กระดูกสันหลังเท่านั้นนะครับ และด้วยตัวยาที่จัดกลุ่มเป็น Selective estrogen receptor modulator (SERM) ที่เรามาใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมคือยา tamoxifen ทำให้ยานี้มีประสิทธิภาพของแถมคือช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมในกลุ่มเสี่ยง (ที่ต้องรักษากระดูกพรุนด้วยนะ อย่าลืม มันคือยารักษากระดูกพรุน)

🚩🚩Menatetrenone

ยานี้ใช้น้อยนะครับ มันคือวิตามินเค ชนิดหนึ่ง คือวิตามิน K2 ที่ส่งผลต่อกระบวนการทำงานของแคลเซียมในร่างกาย เราจะใช้แต่ในกลุ่มที่กระดูกพรุนและตรวจระดับ osteocalcin ในปัสสาวะสูง (ที่เป็นตัวบ่งชี้การสร้างและสลายกระดูก)

🚩🚩Teriparatide

เราจะใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่ใช้ยา bisphosphonate ไม่ได้ผล ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีและวัดค่ามวลความหนาแน่นกระดูกแล้วพบว่าพรุนมาก หรือเคยมีกระดูกหักจากกระดูกพรุนมาแล้วหลายที่

ต้องมีข้อบ่งชี้ชัดและติดตามใกล้ชิด เพราะอาจเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงมากได้ และเรามักจะใช้ยาในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น

ไม่ว่าการใช้ยาชนิดใด จะต้องมีข้อบ่งชี้ชัดเจน ไม่มีข้อห้าม ติดตามผลการรักษาและข้อควรระวังจากยา รวมทั้งใช้การรักษาด้วยวิธีไม่ใช้ยาคือ การออกกำลังกาย รักษาภาวะโภชนาการให้อุดมสมบูรณ์ จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบตัวให้อย่าเสี่ยงหกล้มง่าย จะช่วยลดอันตรายและความพิการจากกระดูกหักกระดูกพรุนได้มากครับ

ในภาพอาจจะมี อาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น