11 กันยายน 2563

งูกัดต้องให้ยาฆ่าเชื้อป้องกันการติดเชื้อแต่แรกเลยหรือไม่

 งูกัดต้องให้ยาฆ่าเชื้อป้องกันการติดเชื้อแต่แรกเลยหรือไม่ จากข่าวเด็กถูกงูฉกขณะนั่งโถส้วม (อีกแล้ว)

ในปากและน้ำลายงูมีเชื้อโรคสารพัดครับ การถูกงูกัดนั้น ไม่ว่าจะเป็นงูพิษหรืองูไม่มีพิษก็ตามที ปัญหาที่ต้องดูแลเสมอคือ แผลงูกัด

แน่นอนต้องล้างแผล ตรวจแผล ต้องให้ยาฉีดป้องกันบาดทะยัก แล้วต้องให้ยาฆ่าเชื้อไหม เพราะในปากงูมีเชื้อก่อโรคมากมายเช่น Salmonella, Pseudomonas, Staphylococcus และเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนอีกมาก

เนื่องจากการศึกษาเรื่องนี้ ส่วนมากเป็นงานวิจัยแบบเก็บเคส เพราะงูกัดมันไม่มาก แถมมีความแปรปรวนสูง เพราะแต่ละพื้นที่งูก็ต่างกัน แผลที่ถูกกัดก็รุนแรงต่างกัน งานศึกษาวิจัยเชิงคลินิกนั้นมีน้อยและขนาดการศึกษาเล็กมาก

ส่วนมากของการศึกษาวิจัยทางคลินิกและการเก็บข้อมูลไปข้างหน้านั้น พบว่า การให้ยาฆ่าเชื้อตั้งแต่แรกเพื่อป้องกันการติดเชื้อนั้น ไม่ได้ลดการติดเชื้อไปมากกว่าการทำความสะอาดและดูแลแผลมาตรฐาน โดยไม่ให้ยาฆ่าเชื้อตั้งแต่แรก (จะไปให้ยาเมื่อมีหลักฐานการติดเชื้อ)

ข้อมูลการศึกษาของประเทศไทยในปี 1999 ศึกษาในคนที่ถูกงูเขียวหางไหม้กัด แบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม คือดูแลแผลปรกติไม่ให้ยาฆ่าเชื้อ มีกลุ่มที่ให้ยา Amoxicillin เพื่อป้องกันการติดเชื้อ มีการให้ยาสองตัวคือ Amoxicillin ร่วมกับ Prednisolone แล้วดูผลลัพธ์ว่าติดเชื้อมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่าการติดเชื้อไม่ได้แตกต่างกัน

การศึกษาในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าอัตราการติดเชื้อระหว่างให้ยากับไม่ให้ยานั้น ไม่ต่างกัน แต่ส่วนมากแผลไม่ได้รุนแรงมากเช่นกัน

แต่ในรายงานข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียและแอฟริกานั้น กลับพบการให้ยาฆ่าเชื้อสูงมาก ตัวเลข 60%-95% ด้วยสาเหตุต่าง ๆ นานา

เนื่องจากข้อมูลที่ได้มันยังไม่ชัดเจนจนถึงขั้นได้ข้อสรุปว่าควรหรือไม่ควรให้ยาฆ่าเชื้อก่อนติดเชื้อ สำหรับผู้ป่วยงูกัด (ข้อมูลส่วนมากมาจากงูพิษ) หลายที่ก็แนะนำ หลายที่ก็ให้รอก่อนได้ หลายที่ก็ให้พิจารณาแผลเป็นกรณีไป แต่ส่วนใหญ่แนะนำว่า ไม่ให้ทุกราย ให้พิจารณาเป็นรายไปครับ

สำหรับส่วนตัว ผมยังคิดว่าควรพิจารณาตามความรุนแรงของบาดแผลครับ ถ้าบาดแผลสกปรกมากและไม่แน่ใจว่าทำความสะอาดแผลได้ครบถ้วน อาจจะให้ยา หรือในผู้ป่วยที่เสี่ยงติดเชื้อสูงเช่น ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้สูงวัย อาจจะให้ยา แต่ถ้าแผลไม่รุนแรง (ส่วนมากงูกัดจะแผลไม่รุนแรง เว้นงูเห่าและจงอาง)หรือผู้ป่วยสุขภาพดี อาจจะทำความสะอาดแผล ฉีดยาบาดทะยัก แล้วเฝ้าติดตามไปก่อนได้ครับ

งูกัดมันน่ากลัว ก็ไม่เท่างูแก่ ๆ บนหัวที่น่าเกรง

ที่มา
Harrison G Weed. Non Venomous Snakebite in Massachusetts : Prophylactic Antibiotic Are Nessessary?. Annals of Emergency Med. 1993,Vol 22.issue 2

Issarang Nuchprayoon. Management of Venomous Snakebite. in A Systematic Review for the Health System Reseatch Institute. Thai, June 1999

Jessica A August, et al. Prophylactic Antibiotic Are Not Need following Rattlesnake Bite. Am J Med, 2018; vol 131: issue 11

Dextor D Togwireyi. Routine Prophylactic Antibiotic Use in the Management of Snakebite. BMC Clin Pharmacolol, 2001;1:4

Dhanya Sasidharan Palapoallil. Pattern of Use of Antibiotics Following Snakebite in a Tertiary Hospital. J Clin Diagn Res, 2015 Aug; 9(8): oc05-oc09

WHO recommendations for snakebite

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, ข้อความพูดว่า "月 月"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น