21 กันยายน 2563

ดื่มไวน์แดงปริมาณน้อย ๆ ดีต่อสุขภาพหัวใจ ตกลงว่าจริงหรือไม่

 จากคำถามจากทางบ้านว่า เคยได้ยินคำแนะนำว่าดื่มไวน์แดงปริมาณน้อย ๆ ดีต่อสุขภาพหัวใจ ตกลงว่าจริงหรือไม่อย่างไร


เรื่องนี้เป็นเรื่องของความจริง การตีความ และความเห็น ผมไปอ่านและค้นคว้ามาจากหลาย ๆ ที่ที่คิดว่าน่าเชื่อถือ และตามไปดูข้อมูลเปเปอร์ที่มาว่าเป็นอย่างไร และมาสรุปให้เป็นกลางที่สุด มุ่งหวังจะบอกเล่าให้ทราบ ส่วนจะนำไปปฏิบัติอย่างไร อันนี้ขึ้นกับวิจารณญานของแต่ละท่านครับ

สิ่งที่คำแนะนำเรื่องโภชนาการและอาหารเพื่อสุขภาพหัวใจทั้งยุโรปและอเมริกา ได้กล่าวตรงกันเป็นข้อความจริงว่า

1. ถ้าไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์มาก่อน ไม่แนะนำให้เริ่มดื่มแอลกอฮอล์

2. การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณสูง มีผลเสียชัดเจน ถ้าจะนับในเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ
2.1เพิ่มความดันโลหิต อันตรายสำหรับความดันโลหิตสูง
2.2 เพิ่มน้ำหนัก โรคอ้วนจะตามมา
2.3 การดื้ออินซูลิน เกิดสารพัดโรคอันเกี่ยวกับเบาหวาน
2.4 โอกาสเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น
2.5 โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการจากแอลกอฮอล์ (alcoholic cardiomyopathy)

3. ถ้าหากดื่มแอลกอฮอล์อยู่ แนะนำให้ดื่มไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้ชาย และไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์

4. หากมีข้อห้ามหรือข้อระวังสำหรับการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์

🚩🚩ประเด็นที่หยิบยกมาพูดกันคือ ดื่มไม่เกินปริมาณที่กำหนดต่อวัน มีผลดีต่อร่างกายหรือไม่

การศึกษารวบรวมข้อมูล (ไม่ได้เป็นการศึกษาทดลอง) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์กับผลลัพธ์การเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิต เราพบว่า ถ้าหากดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน x กรัมต่อวัน อัตราการเสียชีวิตจะน้อยกว่ากลุ่มที่เลิกแอลกอฮอล์ และหากดื่มเกินค่า X กรัมต่อวัน อัตราการเสียชีวิตจะไต่เพิ่มขึ้น และหากเราวาดกราฟ แกนนอนคือปริมาณการดื่มต่อวัน แกนตั้งคืออัตราการเสียชีวิต เราจะพบกราฟเป็นรูปเครื่องหมายถูก (checkmark) หรือ ตัว "J" ที่เราเรียกว่า J-curve phenomanon

ค่า X ที่ว่าคือ 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้ชาย และ 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้หญิง

จึงออกมาเป็นคำแนะนำว่า ค่า X คือค่าดื่มที่น่าจะปลอดภัยถ้าคุณยังดื่มอยู่ ไม่สามารถแปลผลได้ว่า การดื่มไม่เกินค่า X จะทำให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลงหรือทำให้สุขภาพดีขึ้น

🚩🚩ประเด็นต่อมาที่มีปัญหาต้องขบคิดถกเถียงกับข้อมูลชุดนี้คือ การดื่มปริมาณไม่เกิน x มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าหยุดไปเลย (abstinence) ย้ำว่า ไม่ได้ไปเทียบกับคนที่ไม่เคยดื่มนะครับ ข้อมูลส่วนมากไปเทียบกับคนที่เคยดื่มมาแล้วและหยุดแอลกอฮอล์ไปแล้ว

** จึงไม่สามารถกล่าวว่า หากไม่เคยดื่มเลย ให้มาดื่มจะดีต่อสุขภาพมากกว่า**

ข้อสำคัญสองประการที่น่าสังเกตในข้อมูลชุดนี้ที่สำคัญมีสองประการ

1. abstainers คือคนที่เลิกนั้น เป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงหรือเกิดโรคแล้วจึงเลิก คนกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดโรคและอัตราตายสูงอยู่แล้วไงครับ และเมื่อไปเทียบกับคนที่ยังดื่มในขนาดไม่เกิน X กรัม นั่นคือเขายังสามารถดื่มได้ โอกาสเกิดโรคและโอกาสเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะน้อยกว่ากลุ่มที่ต้อง "abstain" เมื่อติดตามไประยะยาว กลุ่ม abstinence จึงเกิดโรคหรือเสียชีวิตมากกว่านั่นเอง

2. กลุ่ม abstainers มีข้อมูลกลุ่มที่เคยเป็นกลุ่มดื่มหนัก กลุ่มที่เกิดโรคมากมายตามที่มีข้อมูลชัดเจนมาแล้ว เรียกว่าข้อมูลมี contamination จากกลุ่มดื่มหนักมาด้วย โอกาสการเกิดโรคและเสียชีวิตจึงสูงกว่ากลุ่มที่ดื่มไม่เกิน X กรัมต่อวัน

ระดับคำแนะนำของคำแนะนำดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินมาตรฐานต่อวัน เป็นข้อมูลที่มีความแปรปรวน มีการปนเปื้อน มีความโน้มเอียงของข้อมูลสูงมาก ระดับคำแนะนำจึงเป็น level of evidence "C" เป็นคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ มากกว่ามาจากหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ดี

** คำแนะนำคือ หากดื่มอยู่ ไม่ควรดื่มเกินนี้ ไม่ใช่แนะนำให้ดื่มเท่านี้ **
เหมือนบอกว่า ถ้าจะกู้เงิน ดอกเบี้ยไม่ควรเกินเท่านี้ ไม่ใช่สนับสนุนให้ไปกู้เงิน การไม่มีหนี้ย่อมดีกว่าการมีหนี้ดอกเบี้ยต่ำ

🚩🚩ประเด็นต่อมาที่สำคัญคือ เมื่อดื่มเกิน X กรัมต่อวัน ความเสี่ยงของการเกิดโรคและเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มเป็นเส้นตรง แต่เพิ่มขึ้นเป็นเส้นที่ชันขึ้นมาก หมายความว่าเกิน X กรัมต่อวัน ผลเสียจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คิดอย่างมากมาย

มันก็จะสำคัญว่าปริมาณการดื่มไม่เกิน X กรัมต่อวัน คือ ดื่มไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้ชาย และไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ เมื่อคิดเป็นชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปริมาณแล้วนั้น มันน้อยมากนะครับ

* หนึ่งดื่มมาตรฐานของเบียร์ ประมาณหนึ่งกระป๋อง (320ml)

* หนึ่งดื่มมาตรฐานของวิสกี้หรือเหล้าขาว ประมาณครึ่งขวดยาคูลท์ (40ml)

โอกาสที่จะดื่มเกินมาตรฐานมันสูงมากครับ หรือโอกาสจะลดมาเป็นต่ำกว่าที่กำหนด ..สำหรับคนที่ดื่มอยู่..มันไม่ง่ายครับ เลิกเลยจะดีกว่า ง่ายกว่า

🚩🚩ส่วนที่กล่าวเรื่องไวน์แดง มีประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นนั้น มาจากข้อเท็จจริงในเชิงชีวเคมีของเครื่องดื่มแต่ละชนิด ไวน์แดงนั้นพบว่ามีสาร flavonoids และสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ...เอาล่ะ ต่อไปนี้สำคัญนะครับ

สาร flavonoids และสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เหล่านั้นมีข้อพิสูจน์ว่าช่วยลดการอักเสบ ส่งผลให้ biological marker หลายชนิดของโรคหัวใจและหลอดเลือดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ยังไม่มีบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า หากเป็น "ไวน์แดง" ไม่ใช่ "สารที่อยู่ในไวน์แดง" ผลจะเป็นอย่างไร อาจจะดีขึ้นเพราะใช้สารนี้ที่มีรูปแบบเฉพาะในไวน์แดง หรืออาจจะแย่ลงเพราะจากน้ำตาลในไวน์แดงที่มากขึ้น เรียกว่ายังมีตัวแปรอื่นที่ส่งผลต่อผลลัพธ์นี้อีกมากมาย (confounder factors)

มีผลดีที่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงชีวเคมี แต่ยังมีข้อมูลไม่พอในการพิสูจน์ทางคลินิกที่มีน้ำหนักมากพอว่าดื่มไวน์แดงแล้วดี หรือดื่มไวน์แดงดีกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น

น่าจะพอตอบข้อสงสัยอันนี้ได้นะครับ

ที่มา
-Nutrients. june 2016,8(6):363
-Alcohol Res Health. 200; 24(1): 5-11
-Addiction. 2019 Sep :114(9); 1670-78
-PATHs study in Arch Intern Med. 1998;158(11): 1197-1207
-seminars in thrombosis and hemostasis. 37(8); 875-84
-AHA dietary guidelines 2000
-www.heart.org : Is drinking alcohol part of healthy lifestyle?
-esc : Nutrition : changing diet and alcohol consumption
-2012 ESC guidelines for Cardiovascular prevention
-2013 AHA/ACC Guideline on Lifestyle Management to Reduce Cardiovascular Risk
-2015-2020 dietary guidelines for americans

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น