20 กันยายน 2563

13 กันยายน world sepsis day

 เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมาคือ world sepsis day


วันนี้ก่อตั้งขึ้นโดย Global Sepsis Alliance หน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไรในการพัฒนาดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด ในวันที่ 13 กันยายน 2012 หวังผลให้ทุกคนในโลกให้ความสำคัญกับ sepsis และ septic shock

ติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด หรือติดเชื้อแล้วเกิดปฏิกิริยารุนแรง คือ โรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากมาตั้งแต่อดีต แม้เราจะมีเทคโนโลยีและความรู้เกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคมากขึ้นกว่าอดีตก็ตาม

ต่างคนต่างรักษา รอดบ้างตายบ้างขึ้นกับแต่ละที่แต่ละคน จนมีจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2001

Emanuel Rivers ได้ตีพิมพ์งานวิจัยอันหนึ่งเกี่ยวกับการรักษาติดเชื้อในกระแสเลือดแบบใหม่ รักษาแบบมีเป้าหมายชัดเจน มีข้อกำหนดการรักษาและเป้าหมายแต่ละขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม วัดผลได้ เรียกว่า Early Goal directed Therapy ที่เป็นมาตรฐานการรักษาที่ใช้กันทั่วโลก

อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เมื่อเอาแนวทางนี้มาใช้ เวชบำบัดวิกฤตทั้งโลกเกิด concept disruption อย่างฉับพลัน แนวทางการรักษาและพยาธิสรีรวิทยาเรื่อง การไหลเวียนโลหิต การส่งออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อทุกส่วน การเพิ่มการไหบเวียนและกำซาบของเลือดไปสู่ทุกอวัยวะ อย่างรวดเร็วและได้ประสิทธิผล กลายเป็นวิชาใหม่ กลายเป็นแนวคิดหลัก โยนแนวคิดเดิมไปสิ้น

แต่หลังจากนั้น เราก็เริ่มเห็น "ความล้น" ในแนวทางของ Rivers

เมื่อใช้ goal directed therapy นี้ไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มพบว่ากระบวนการบางอย่างก็เกินจำเป็น กระบวนการบางอย่างก็ควรปรับตามปัจเจกคนและทรัพยากรของแต่ละที่ การใส่โปรโตคอลเดียวกันหมด อาจไม่ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าแนวทางของ Rivers ไม่ดีครับ แต่เมื่อเราศึกษาและใช้มากขึ้น เราเริ่มเห็นข้อบกพร่องที่จะเอามาปรับปรุงให้ better กลายเป็น best

เริ่มมีการเปลี่ยนแนวทางการให้สารน้ำที่ต้องได้ตามเป้าเดียวกันทุกคน มาเป็นปรับตามสภาวะผู้ป่วยและการตอบสนองแต่ละระยะ ซึ่งต้องติดตามบ่อยขึ้น

เมื่อต้องติดตามบ่อยขึ้น การใช้เครื่องมือติดตามที่ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องรุกล้ำร่างกายผู้ป่วยมากนักก็ถือกำเนิดขึ้น อดีตต้องใส่สานสวนหลอดเลือดดำวัดแรงดันหัวใจห้องขวาบนทุกราย ตอนนี้ใช้การวัดหลอดเลือดดำด้วยอัลตร้าซาวน์ การใช้ pulse pressure ที่แปรเปลี่ยนตามเวลามาช่วยวินิจฉัยและปรับการรักษา

การใช้ยาบีบหลอดเลือดเพื่อเพิ่มความดัน ปรับใช้เร็วขึ้นตามพยาธิสภาพของโรค ไม่ต้องทำตามขั้นเดิม ที่กว่าจะได้ยาอาจจะช้าไป

องค์ความรู้การใช้ยาฆ่าเชื้อแบบ loading แบะการปรับการให้ยาตามเภสัชกลศาสตร์มากขึ้น

การติดตามการไหลเวียนโลหิตระดับเซลล์และเนื้อเยื่อโดยการวัดค่าต่าง ๆ ช่วยให้เราสามารถกู้เก็บและช่วยชีวิตทุกเซลล์ได้อย่างแท้จริง

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้พัฒนามาจากการศึกษาพลิกโลกของ Rivers และจนมาถึงวัน world sepsis day 2020 ทางองค์การอนามัยโลกได้มาประกาศสถานการณ์ล่าสุดดังนี้

สถานการณ์ในปี 2017 ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากเหตุอันมาจาก sepsis ถึง 11 ล้านคนคิดเป็น 20% ของอัตราการเสียชีวิตโดยรวมต่อปีของทั้งโลก เทียบเท่ากับอุบัติเหตุทางถนนและโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย

คิดเป็น 27% ของอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยใน และกว่า 45% ของผู้ป่วยไอซียู ไม่ใช่น้อยนะครับ 😲😲

ที่น่ากลัวมากขึ้นคือ ข้อมูลนี้มาจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รายได้ระดับกลางถึงสูง ตัวเลขคร่าว ๆ ของกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลางจะสูงกว่านี้ ที่ประมาณ 80-85%

ประเทศไทยเราอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงครับ และอัตราการเสียชีวิตจาก sepsis ของประเทศเราไม่ได้สูงจนน่ากลัวครับ เพราะระบบการส่งตัวและการตระหนักรู้ของเราดีมากครับ

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าส่วนหนึ่งของความรุนแรงคือ การดื้อยาปฏิชีวนะ

จากข้อมูลของ Global Antimicrobial Resistance Surveillance System (GLASS)ระบุว่าเชื้อ Klebsiella pneumoniae โดยภาพรวมดื้อยา 3rd gen cephalosporins ถึงกว่า 60% แล้ว และเชื้อดื้อยาสำคัญคือ Acinetobactor ดื้อยาตัวแรงสุดคือ carbapenem ถึงกว่า 63% แล้ว

การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นและไม่มีข้อบ่งชี้ งดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่จำเป็นในสัตว์ ยังเป็นข้อสำคัญที่จะหยุดยั้งปัญหาการดื้อยาฆ่าเชื้อและอัตราการเสียชีวิตของ sepsis ลงได้

ปล. คริสตัล พาเลซ บุกไปชนะทีมเหย้าถึง 3-1

ที่มาข้อมูล
WHO 2020 reported, Global Report on the Epidemiology and Burden of Sepsis. Current Evidence, Identify My Gaps and Future Directions.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น