01 สิงหาคม 2563

Centor's Criteria

วันนี้เป็นวันสำคัญของ Centor

Centor ที่กล่าวถึงไม่ใช่ครึ่งคนครึ่งม้า (centaur) ผู้เชี่ยวชาญศิลปวิชาในตำนานกรีกแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม Centor คนนี้ก็ไม่ได้สำคัญน้อยกว่าเจ้าม้าผยองแต่อย่างใด

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้วในปี 1979 ที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกเต็มไปด้วยผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่กำลังระบาด แพทย์ประจำบ้านคนหนึ่งได้ถามคำถามนี้กับ Robert M. Centor

"อาจารย์ครับ เรามีวิธีง่าย ๆ ที่จะพอแยกการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอกับการติดเชื้อไวรัสออกจากกันไหมครับ จะได้คัดเลือกคนที่ต้องได้ยาฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม"

ตอนนั้นเรารู้แล้วว่า การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจส่วนบนหรือไข้หวัดที่เรารู้จักกันดีนั้น ร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัสไม่ว่าจะเป็น ไวรัสอดีโน ไวรัสไรโน ไวรัสโคโรนา หรือกระทั่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีบางส่วนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ เจ้าการติดเชื้อแบคทีเรียนี้แม้ว่าจะหายเองได้ แต่มีการศึกษาว่าหากเราให้ยาฆ่าเชื้อเพนิซิลินจนสามารถกำจัดเชื้อได้หมด ผลแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้เกิดความพิการและบกพร่องจะลดลงมาก ไข้รูห์มาติก โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก ไตอักเสบ

แล้วใครล่ะ ที่ควรได้ยา ... คำตอบง่ายมากคือคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียไงล่ะ แต่ในยุคนั้นการพิสูจน์การติดเชื้อแบคทีเรียมีอยู่วิธีเดียวคือ การเพาะเชื้อ ป้ายเอาเชื้อจากลำคอไปลงจานเพาะเชื้อ เลี้ยงให้โตแล้วเอาแบคทีเรียไปดูรูปร่าง ไปทดสอบชนิด ไปทดสอบความไวของยา กว่าจะรู้ผลประมาณ 7-10 วัน ซึ่งช้าเกินไป บางทีก็หายจากการป่วยไปแล้ว ข้อจำกัดนี้คุณหมอเซ็นทอร์ก็ทราบเช่นกัน

คุณหมอจึงได้ทำการศึกษา เอาเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้จากการซักประวัติตรวจร่างกาย มารวมเป็นคะแนน แล้วทดสอบว่าระดับคะแนนต่าง ๆ จะสัมพันธ์กับโอกาสเพาะเชื้อแบคทีเรียได้มากน้อยเพียงใด

โดยงานวิจัยทำในผู้ใหญ่เป็นหลักและใช้สำหรับอาการไข้เจ็บคอที่เป็นมาไม่เกินสามวัน ลงตีพิมพ์วันนี้เมื่อ 39 ปีที่แล้ว ในวารสาร Medical Decision Making ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 1981 บอกว่าถ้าระดับคะแนน 0-1 โอกาสเพาะเชื้อขึ้นมีแค่ 2-6% แต่ถ้าระดับคะแนนตั้งแต่ 4 ขึ้นไปนั้นโอกาสเพาะเชื้อขึ้นสูงถึง 56%

ระดับคะแนนนั้น ในปัจจุบันได้นำมาใช้เป็นแนวทางการพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อในโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ที่เรียกว่า "Centor's Criteria" ประกอบด้วย

👉ถ้าไม่มีอาการไอ ได้ หนึ่งคะแนน

👉ถ้าต่อมน้ำเหลืองที่คอด้านหน้าโตและเจ็บ ได้ หนึ่งคะแนน

👉อุณหภูมิกายมากกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 38 องศาเซลเซียส) ได้ หนึ่งคะแนน

👉ทอลซิลมีจุดเลือดออกหรือมีหนอง ได้ หนึ่งคะแนน

👉อายุน้อยกว่า 15 ปี ได้อีกหนึ่งคะแนน แต่ถ้าอายุเกิน 44 ปี หักลบหนึ่งคะแนน

การใช้ Centor's Criteria เป็นที่แพร่หลายในห้องตรวจผู้ป่วยนอกเพราะใช้ง่ายมาก หรือใช้ในร้านขายยา แต่ว่า Centor's Criteria ไม่ได้บอกชัดเจนว่าระดับคะแนนเท่านี้เท่านั้น ควรได้ยาหรือไม่ได้ยา

อย่าลืมว่า หาก Centor's Criteria ตั้งแต่ 4 คะแนนขึ้นไป โอกาสเพาะเชื้อขึ้นมีเพียง 56% คำแนะนำปัจจุบันคือ หากระดับคะแนน 3 หรือ 4 แนะนำให้ส่งตรวจหาแอนติเจนของแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัส ที่เรียกว่า Rapid Antigen Detection Test ก็คล้าย ๆ ตรวจโควิดนั่นแหละครับ อ้าว...แล้วแบบนี้จะช่วยการวินิจฉัยอย่างไรล่ะ

🚩ถ้าเราคิดว่าโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียไม่มาก และระดับคะแนน 0-1 จะช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าไม่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ ณ เวลานั้น

🚩ถ้าเราคิดว่าโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียไม่มาก แต่ระดับคะแนนสูง อาจต้องนัดมาติดตามอาการ หรือถ้าเสี่ยงเกิดผลเสียหากติดเชื้อรุนแรง อาจเริ่มยาฆ่าเชื้อ

🚩ถ้าเราคิดว่าโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียสูง และระดับคะแนนสูง เราอาจให้ยาฆ่าเชื้อ หรือจะส่งตรวจเพิ่มก้ได้

🚩ถ้าเราคิดว่าโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียสูง แต่ระดับคะแนนต่ำมาก ให้ฉุกใจและกลับไปถามประวัติใหม่ หรือนัดมาติดตามไปก่อน

ทั้งหมดนี้เพื่อลดการใช้ยาฆ่าเชื้ออันไม่จำเป็น ลดโอกาสการเกิดผลเสียจากยาฆ่าเชื้อและลดการเกิดเชื้อดื้อยาด้วย

อย่าให้คำถามของแพทย์ประจำบ้านคนนั้นเมื่อสี่สิบปีก่อน และอย่าให้ความพยายามของคุณหมอเซ็นทอร์ต้องสูญเปล่านะครับ

😅😅วันนี้ในอดีตกับลุงหมอ 😅😅

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น