29 มิถุนายน 2563

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง colonoscopy

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง colonoscopy
ปกติเราจะทำการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่างเพื่อตรวจรักษาโรค เช่น ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรือเพื่อการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ แน่นอนว่าการทำหัตถการนี้บางครั้งต้องใช้ยากล่อมประสาท อาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ อาจมีปฏิกิริยาต่อระบบประสาท และรุนแรงมากคือลำไส้ทะลุ
ถ้าเราคิดด้วยตรรกะง่าย ๆ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ย่อมมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากกว่าผู้แข็งแรงใช่ไหมครับ นั่นคือตั้งพื้นฐานที่ว่าผู้ที่ทำการส่องกล้องและทีมดูแลพร้อมมาก
แต่ทว่าผู้ป่วยส่วนมากที่ต้องเข้ารับการทำส่องกล้องตรวจก็มักเป็นผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวมากเสียด้วย เอาล่ะสิ ... ไม่เป็นไร
ตามข้อมูลการสำรวจของ อเมริกาและแคนาดา พบว่าในภาพรวมผลแทรกซ้อนของการทำส่องกล้องนี้อยู่ที่ประมาณ 2 เหตุการณ์ต่อการตรวจ 1000 ครั้ง ส่วนมากคือเลือดออก เหตุแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ พบน้อยมาก และสำหรับการศึกษาที่ทำในผู้สูงวัย (อายุ 50 ขึ้นไป) พบว่าผลแทรกซ้อนอยู่ที่ 2.6% (จำนวนคน) และถ้าไปคิดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 75 ปี ผลแทรกซ้อนจะอยู่ที่ 6.8% ส่วนมากคือเลือดออกเช่นกัน
และทุกผลแทรกซ้อนสามารถดูแลและจัดการได้ดี ... !!! โอกาสทะลุมีไม่ถึง 1% และไม่ถึง 0.2 ครั้งต่อการส่องกล้อง 1000 ครั้ง
หากไปดูอัตราการเสียชีวิตหรือผลเสียจากการเกิดมะเร็ง จะมีตัวเลขสูงกว่าอันตรายแทรกซ้อนจากการตรวจรักษามากมาย
ก็จะพอสรุปได้ว่าด้วยเทคโนโลยีการรักษาและตรวจ colonoscopy ในยุคปัจจุบันนั้นปลอดภัยมาก และคุ้มค่าหากทำตามข้อบ่งชี้ และยิ่งคุ้มค่าหากได้พบโรคในระยะแรก โดยเฉพาะมะเร็งระยะแรก ตามเป้าวัตถุประสงค์ของการส่องกล้องครับ
ลองอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
Causada-Calo N, Bishay K, Albashir S, Al Mazroui A, Armstrong D. Association Between Age and Complications After Outpatient Colonoscopy. JAMA Netw Open. 2020;3(6):e208958. doi:10.1001/jamanetworkopen.2020.8958
Ko CW, Riffle S, Michaels L, et al. Serious complications within 30 days of screening and surveillance colonoscopy are uncommon [published correction appears in Clin Gastroenterol Hepatol. 2010 Dec;8(12):1100]. Clin Gastroenterol Hepatol. 2010;8(2):166-173. doi:10.1016/j.cgh.2009.10.007

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น