03 มิถุนายน 2563

แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคหืดประเทศไทย ปี 2562

สรุปสิ่งที่ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปควรทราบ จาก แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคหืดประเทศไทย ปี 2562 จากความร่วมมือทุกสมาคมการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคหืด
1. โรคหืดมีความแปรปรวนมาก : ทั้งอาการที่อาจจะดีขึ้นเป็นปรกติจนถึงอาการหายใจล้มเหลว รวมถึงการวัดสมรรถภาพปอดที่แปรปรวนตามอาการและการควบคุม ดังนั้นการวินิจฉัยและติดตามรักษาจะต้องติดตามในระยะยาวเสมอ
2. อาการแปรปรวน อาจเป็นได้ทั้งไอ เหนื่อยง่าย มีเสียงวี้ด อาการไอหอบกลางคืน จะมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คน ตรวจร่างกายมักปรกติถ้าโรคไม่กำเริบ การวัดสมรรถภาพปอดก็อาจปรกติได้ และต้องมีการวัดสมรรถภาพก่อนและหลังพ่นยาขยายหลอดลม 15 นาที หรือรักษาไปแล้วหนึ่งเดือน
3. การตรวจที่ง่ายและเหมาะสมกับความแปรปรวนตามข้อหนึ่ง คือ วัดแรงลมโดยใช้ peak expiratory flow (เครื่องเป่าหลอดกระบอกที่เราเห็นบ่อย ๆ) วัดเช้าเย็นสักหนึ่งสัปดาห์แล้วมาคำนวณค่าความแปรปรวน ถ้าแปรปรวนมากกว่า 10% ก็น่าจะเป็นโรคหืด
4. แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ อาการเข้าได้ อาจจะรักษาไปก่อนแล้วดูการตอบสนองหรือส่งไปวัดสมรรถภาพปอดภายหลังได้ ดังนั้นอาการและการตรวจร่างกายจึงยังใช้ได้ เมื่อเพิ่มการติดตามระยะยาวแล้ว ยังใช้ได้ดี (มี asthma clinic ทุกโรงพยาบาลแล้ว)
5. คำถามที่บอกว่าการควบคุมยังไม่ดี 4 คำถาม มีเพียงอันใดอันหนึ่งก็คือยังคุมได้ไม่ดี
มีอาการเวลากลางวันมากกว่าสัปดาห์ละสองครั้ง
มีอาการเวลากลางคืนจนต้องตื่น
ใช้ยาสูดเพื่อแก้ไขอาการมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
เหนื่อยหรืออาการมากจนจำกัดกิจวัตรประจำวัน
6. และยังต้องประเมินโอกาสที่โรคจะแย่ลง ประเมินการใช้ยา ประเมินโรคร่วมโดยเฉพาะภูมิแพ้ ผลแทรกซ้อน การปฏิบัติตัวอื่นๆ เช่น ออกกำลังกาย เลิกบุหรี่ เลี่ยงสารกระตุ้น และที่สำคัญคือ เทคนิคการสูดพ่นยา
7. การใช้ยา จะใช้ตามลำดับขั้น ลำดับขั้นขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อยา ส่วนมากจะใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในการควบคุมอาการ และไม่แนะนำให้หยุดยา จะมีเพียง step 1 คือมีอาการเล็กน้อยและไม่มากกว่า 2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น ที่จะใช้แค่ยาแก้ไขอาการเป็นครั้งคราวไป
8. ยาที่แนะนำคือ ยาขยายหลอดลม formoterol คู่กับยาสูดสเตียรอยด์ budesonide หรือ beclomethasone เพราะสามารถใช้ได้ดีทั้งควบคุมและแก้ไข ตัวอื่นก็ใช้ได้นะครับ แต่คงต้องแยกตัวควบคุมกับตัวแก้ไขออกจากกันและสอนวิธีใช้ให้ชัดเจน
9. ขนาดของยาสูดสเตียรอยด์จะใช้ขนาดต่ำถึงปานกลาง หากไปถึง step 5 จะใช้ยาขนาดสูง และอาจต้องใช้ยาอื่น ๆ หากทนยาสเตียรอยด์ไม่ได้หรือใช้เต็มที่แล้วยังคุมอาการไม่อยู่ เช่น theophylline, montelukast หรือยาฉีดมุ่งเป้า anti-IgE, anti IL-5 อันนี้ต้องไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่
10. เมื่อรักษาดีขึ้น จะมีการลดขนาดยาให้ต่ำที่สุด ย้ำว่าในผู้ใหญ่จะไม่หยุดยาสูดสเตียรอยด์ เมื่อลดยาลงจะต้องคุยกับหมอว่าหากอาการแย่ลงจะทำอย่างไร เพิ่มยาได้ไหม อาการที่มักแย่ลงก่อนคือ อาการจะกำเริบเวลากลางคืน **ห้ามลดยาหยุดยาเอง โดยไม่ประเมินและติดตามอย่างเด็ดขาด**
11. การจี้หลอดลมด้วยความร้อน thermal bronchoplasty ใช้ในรายที่อะไร ๆ ก็ไม่ตอบสนอง สามารถทำได้ในประเทศไทย แต่มีแค่บางสถาบันเท่านั้น
12. ถ้าหืดกำเริบ เมื่อเราทำตามแผนในข้อ 10 แล้วไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาล คุณหมอจะให้พ่นยา ทั้งยาขยายหลอดลมและยาต้านโคลิเนอร์จิก (ipratopium) ให้ยาฉีดหรือยากินสเตียรอยด์ สังเกตอาการ ถ้าไม่ดีขึ้นจึงให้พักรักษาในโรงพยาบาล ถ้าไม่เคยได้ยาสูดสเตียรอยด์ คราวนี้จะได้แน่นอน หากใช้มาแล้วจะปรับขนาดยาขึ้น ส่วนยาสเตียรอยด์กินจะใช้เวลากิน 5-10 วันเท่านั้น
13. หากอาการหนัก เข้าไอซียู ให้ออกซิเจนถ้าขาดออกซิเจน ใส่ท่อช่วยหายใจหากจำเป็น (โรคนี้มักใส่ไม่นาน วันสองวันก็ถอดได้) หากอาการไม่ตอบสนองจะใช้ยาแมกนีเซียมฉีด ไม่มีการใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจแบบหน้ากาก (non-invasive ventilator) และมาทบทวนแผนการรักษาใหม่ทุกครั้ง
14. คนท้อง รักษาได้ตามปรกติเหมือนคนไม่ท้อง แนะนำคุมโรคให้ได้ก่อนท้อง
15. แนะนำคุมโรคให้ได้ก่อนผ่าตัดแบบรอได้ ก่อนผ่าตัดควรประเมินการควบคุมโรคและอาการ วัดสมรรถภาพปอด แนะนำ FEV1 มากกว่า 80% หากไม่ควบคุมหรือคุมไม่ได้ อาจเกิดกำเริบในห้องผ่าตัดและหลังผ่าตัดได้ รวมทั้งควรหยุดบุหรี่ก่อนผ่าตัดด้วย
16. ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี
17. ควรทำ asthma action plan เสมอ เพื่อลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น โรคกำเริบได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ย้อนกลับไปอ่านข้อสิบด้วย และอย่าลืมความแปรปรวนของอาการในข้อหนึ่ง
18. ไม่ใช้ชื่อโรค "หอบหืด" อีกต่อไป เหลือแค่ "โรคหืด" เท่านั้น
19 เอกสารดาวน์โหลดได้ฟรี บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับควรอ่าน และพิมพ์ asthma control test ไว้รักษาผู้ป่วย ทบทวนขนาดและวิธีการใช้ยาสูดพ่นด้วยเสมอ
http://www.tac.or.th/index.php/en/download
20. เมื่อยนิ้ว ไปนวดล่ะนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น