11 กุมภาพันธ์ 2563

ยาถ่ายสมุนไพรแบบไทย .. มะขามแขก

ยาถ่ายสมุนไพรแบบไทย .. มะขามแขก
มะขามแขก สามารถใช้ใบมาต้มดื่มหรือฝักมาต้มดื่มเพื่อใช้เป็นยาระบายได้ ปัจจุบันมียาระบายหลายชนิดที่มาจากสารสกัดมะขามแขก ยาที่มีศัพท์ --senna--หรือ --seno-- อยู่ในชื่อยา เพราะ senna คือมะขามแขกนั่นเอง
ข้อมูลการใช้มะขามแขก ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้
การใช้มะขามแขกรักษาอาการท้องผูก ใช้ใบแห้ง 1-2 กำมือ (หนัก 3-10 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้วิธีบดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือใช้ฝัก 4-5 ฝัก ต้มกับน้ำดื่ม บางคนดื่มแล้วเกิดอาการไซ้ท้อง (ฝักจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าใบ) แก้ไขได้โดยใช้ร่วมกับยาขับลมจำนวนเล็กน้อย
มะขามแขก มีสารที่ชื่อว่า sennoside เมื่อเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์มากมายในลำไส้ใหญ่ บางเอนไซม์มาจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เปลี่ยนเป็นสารที่ออกฤทธิ์คือ sensidin A, sensidin B และ Rheinanthrone สารนี้สามารถไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ที่ชั้นกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้
ลำไส้มีระบบประสาททำหน้าที่เฉพาะอยู่ที่ลำไส้เรียกว่า myenteric nervous system ควบคุมการเคลื่อนที่ของลำไส้ คิดดูว่าทางเดินอาหารยาวมากตั้งแต่หลอดอาหารไปจนถึงทวารหนัก ต้องมีการประสานงานและศูนย์สั่งการเฉพาะจึงสามารถทำงานบีบคลายให้สอดคล้องกัน (peristalsis)
สารจากมะขามแขกไปกระตุ้นตรงนี้แหละครับ ทำให้ลำไส้บีบตัวรุนแรง ผลคือขับอุจจาระออกมานั่นเอง นั่นคือถ้าไม่มีอุจจาระ ก็จะไม่ได้ผล ถ้าลำไส้แข็งก็ถ่ายลำบาก ดังนั้นการใช้ยาระบายที่ออกฤทธิ์บีบตัวลำไส้ ก็จะต้องมีอุจจาระพอสมควรและอ่อนนุ่ม ... มันก็ต้องกินอาหารที่มีกาก ดื่มน้ำมากพอ..ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการรักษาอาการท้องผูก
*** อย่างไร การกินอาหารที่ทีกากใย การดื่มน้ำมาก ๆ ยังเป็นข้อปฏิบัติสำคัญของอาการท้องผูกปฐมภูมิ คือ ไม่ได้มีสาเหตุอื่น ๆ เช่นอุดตัน ผลจากยาบางอย่าง ***
ข้อเสียของการใช้ยาที่มีผลบีบลำไส้แบบนี้คือ หากมีอาการอุดตันหรือลำไส้บีบตัวแรงอยู่แล้ว อาการบีบจะรุนแรงขึ้น และเมื่อใช้ไปนาน ๆ ลำไส้จะเริ่ม "ขี้เกียจ" ตอบสนองต่อการสั่งงานลำไส้แบบปรกติ(ที่ไม่ใช้ยา)ลดลง เป็นผลให้ต้องใช้ยาต่อไปเรื่อย ๆ
ข้อเสียอีกอย่างของยาระบายมะขามแขกที่อาจพบได้จากการส่องกล้องทางเดินอาหารคือ melanosis coli มีจุดสีดำ ๆ กระจายอยู่ทั่วไปในลำไส้ใหญ่ เพราะสาร sennoside เป็นสารที่สามารถเกิดสีได้นั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพร หรือ ยาแผนปัจจุบัน ทุกอย่างมีข้อบ่งชี้ ข้อห้าม และข้อควรระวังในการใช้ยาเสมอ อย่าใช้โดยไม่จำเป็นอย่างเด็ดขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น