20 มกราคม 2563

สาร gadolinium ใหม่กับ nephrogenic systemic fibrosis (NSF)

การถ่ายภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ้ามีภาวะไตเสื่อม...ทำอย่างไร
แน่นอนว่าสารทึบรังสีนั้น มีผลต่อไตแน่นอน ถึงกับมีแนวทางของสมาคมรังสีแพทย์เรื่องการจัดการเพื่อป้องกันไตบาดเจ็บจากสารทึบรังสีเช่น ใช้สารทึบรังสีที่ปลอดภัยมากขึ้น การให้สารน้ำให้พอก่อนฉีดสาร แต่โอกาสจะเกิดไตบาดเจ็บก็ยังไม่เป็นศูนย์
แล้วถ้าเปลี่ยนไปทำ MRI แทนล่ะ
แน่นอนว่าตัวเลือกของการทำ MRI สามารถจัดการภาพได้มากกว่าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยที่ไม่ต้องฉีดสี เราก็สามารถจัดการความเสี่ยงจากสารทึบรังสีได้ระดับหนึ่ง แต่การทำ MRI บางครั้งก็ต้องฉีดสารที่ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น สารที่นิยมคือ gadolinium
แต่ gadolinium ก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แม้จะไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงที่ไต แต่ก็จะเกิดในคนที่ไตเสื่อม คนที่มีปัญหาที่ต้องเลี่ยงใช้สารทึบรังสีมาทำ MRI ผลข้างเคียงนั้นคือ nephrogenic systemic fibrosis (NSF) มีพังผืดแข็งที่อวัยวะต่าง ๆ เห็นชัดที่ผิวหนัง ผลข้างเคียงนี้เกิดน้อยมากนะครับ จากรายงานของอเมริกาที่ทำ MRI กันอย่างมากมาย 500 รายในระยะ 10 ปี เป็นคำแนะนำให้ระมัดระวังการใช้สารแกดโดลีเนียม ในผู้ป่วยไตเสื่อม
มีการพัฒนาสารแกดโดลิเนียมให้มีพิษลดลงเรียกว่า Group II GBCA (gadolinium-based constrast agents) ได้แก่ gadobenate dimeglumine, gadobutrol, gadoterate meglumine, or gadoteridol และมีเป้าหมายมาใช้ในผู้ป่วยไตเสื่อมระยะสี่และห้า อันเป็นเป้าหมายหลักที่ฉีดสารทึบรังสีในการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ไม่ได้ และต้องการลดความเสี่ยง NSF ที่มีน้อยอยู่แล้วให้ลดลง
มีการรวบรวมงานวิจัยทั้งหลายมาวิเคราะห์ที่เรียกว่า meta-analysis และ systematic review ลงในวารสาร JAMA internal medicine เมื่อ 9 ธันวาคม 2562 รวบรวมผลการใช้ group II GBCA ในผู้ป่วยไตเสื่อมระยะสี่และห้า ดูว่าผลข้างเคียงลดลงจริงไหม
พบว่ารวบรวมมา 4931 ราย ไม่พบผลข้างเคียง NSF เลย และจากภาพรวมการใช้งานทั้งหมด (ที่ไม่ได้มาจากงานวิจัยด้วย) พบว่าโอกาสเกิด NSF น้อยกว่า 0.07% (0.006-0.02) ซึ่งเท่ากับโอกาสแพ้สารรุนแรงโดยทั่วไป เรียกว่าโอกาสเกิด NSF ที่น้อยมากอยู่แล้ว ก็ลดลงมากขึ้นไปอีก
แนวทางรังสีแพทย์ทั้งยุโรปและอเมริกา แนะนำให้ใช้ GBCA ที่ความเสี่ยงต่ำ และ Group II GBCA น่าจะมาตอบโจทย์ตรงนี้ ให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจที่ปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าจะไตเสื่อมมากก็ตาม
ขอบคุณความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ เวอจิล ฟาน ไดค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น