07 พฤศจิกายน 2562

มลภาวะทางอากาศ กับ โรคถุงลมโป่งพอง

มลภาวะทางอากาศ กับ โรคถุงลมโป่งพอง : รายงานล่าสุดจาก GOLD 2020
โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หรือถุงลมโป่งพองที่เรารู้จัก มีการปรับปรุงแนวทางการรักษาทุก ๆ 3-4 ปี แต่ในระยะหลังมานี้ออกมาปรับปรุงฉบับเดิมแทบทุกปี หนึ่งในเหตุผลคือ ภัยร้ายที่เพิ่มขึ้นมากและเร็ว
จากการประมาณการณ์ขององค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก พบว่าโดยภาพรวมมีผู้ป่วยโรคนี้ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพตัวเองและสังคม 11.8% ในชาย และ 8.5% ในหญิง ตายปีละสามล้านคน และกำลังเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่สำคัญคือในกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นถึง 3-11%
แน่นอนความสูญเสียต่อตัวบุคคล ต้องเจ็บป่วย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทรมาน ทุพพลภาพ ขาดงาน ขาดรายได้ สภาพจิตใจแย่ลงอันนั้นหนักหนา ในสหรัฐอเมริกา ตัวเลขนี้คือ 32 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ที่น่าสนใจกว่าคือความสูญเสียทางอ้อม ผลผลิตที่หายไป เงินที่เสียโอกาสนำไปพัฒนาอย่างอื่นเพราะต้องมารักษา คนที่ต้องขาดงานมาดูแล คิดเป็น 20.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ถ้าเราป้องกันได้ เราจะดีขึ้นขนาดไหน
ความรู้ปัจจุบันทำให้เราทราบว่าคนบางคนเกิดมาด้วยพันธุกรรมที่เสี่ยงมากกับการเป็นโรคนี้ หรือมีการเจ็บป่วยที่ทำให้เพิ่มโอกาส ไม่ว่าการพัฒนาการของปอดไม่ดีในวัยเด็ก รอยแผลเป็นจากการเจ็บป่วยที่หลอดลม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ปรับเปลี่ยนยากมาก
แต่มีปัจจัยการเกิดโรคอีกชนิดที่เราสามารถควบคุมและช่วยให้ดีขึ้นได้คือปัจจัยด้านมลภาวะและสิ่งแวดล้อม เรามาไล่ไปตามลำดับ
1. บุหรี่และควันบุหรี่ นี่คือผู้ร้ายอันดับหนึ่งตัวจริง หลักฐานหนักแน่นชัดเจนว่าบุหรี่ทำให้เกิดโรคและเลิกบุหรี่โรคลดลง ไม่ว่ากี่การศึกษาวิจัยตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้ ทุกจุดในโลก บอกเหมือนกัน ถ้าเราไม่เริ่มสูบจะดีที่สุด ถ้าเราสูบแล้วควรเลิก เพราะไม่ใช่แค่ตัวเรา ควันมือสองยังส่งผลต่อคนรอบตัวอีกด้วย แม้อัตราการเกิดโรคจะไม่ชัดเจนเท่าผู้สูบ แต่หนักแน่นพอที่จะบอกว่า ควันมือสองทำให้โรคระบบทางเดินหายใจแย่ลงและเพิ่มการเกิดถุงลมโป่งพอง
*** เราต้องเคารพคนที่ไม่สูบด้วย ***
2. มลภาวะจากการทำงาน แม้ว่าจะมีผลการศึกษายืนยันแต่ว่าผลการเกิดโรค ผลกระทบไม่น่ากลัวนัก เพราะทุกคนตระหนัก ให้ความร่วมมือและป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นควันสารเคมี น้ำหอม ฝุ่นผงจากอุตสาหกรรมโรงงาน แต่ก็ต้องเตือนเพราะเมื่อไรละเลย โรคจะกลับมา
3. มลภาวะในบ้าน การเผาไหม้เพื่อหุงต้ม การจุดธูป ขนสัตว์เลี้ยง เตาผิง กลุ่มนี้มีงานวิจัยว่าหากมีการสัมผัสปัจจัยเสี่ยง เพิ่มโอกาสการเกิดโรคและหน้าที่การทำงานทางเดินหายใจแย่ลงเช่นกัน การจัดการถ่ายเทอากาศ พลังงานควันน้อย หรือการทำความสะอาดบ้านจึงสำคัญ
4. มลภาวะนอกบ้าน ที่กล่าวถึงมากคือ pm2.5 ทำให้โรคที่เป็นอยู่แล้วกำเริบหรือแย่ลง มีหลักฐานว่าทำให้การเจริญเติบโตของปอดไม่ดีนักในทารก แน่นอนในอนาคตย่อมเสี่ยงถุงลมโป่งพอง แม้หลักฐานชัด ๆ ตรง ๆ ว่าทำให้เกิดโรคจะไม่มี (เพราะมันวิจัยยาก ตัวแปรปรวนมาก) เราก็ควรหลีกเลี่ยง ไม่ใช่หน้าที่ของท่านประยุทธ์เท่านั้น แต่เราทุกคนต้องใส่ใจ ลดการใช้พลังงานน้ำมัน ใช้รถสาธารณะ ลดขยะ (ลดการเผาไหม้ไปด้วย) ปลูกต้นไม้ รักษาสิ่งแวดล้อม
ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราจะช่วยโลก เราจะช่วยลดโรค และสร้างสิ่งดี ๆ ให้ลูกหลานคนรุ่นหลังต่อไป การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่ตัวเรามีผลยิ่งใหญ่มหาศาล เหมือนกับคำกล่าว the butterfly effect อันลือลั่น
"หงส์แดงขยับปีกเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้เรือใบจมดับดิ้น ณ แอนฟิลด์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น