เรารักษากรดไหลย้อนไม่ได้ผลจริงหรือ ??
ข้อคิดอันหนึ่งจากการอ่านวารสารนี้คือคำถามนี้แหละ มันมาจากงานวิจัยนี้ครับ งานวิจัยที่เปรียบเทียบการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดสำหรับโรคกรดไหลย้อนที่รักษายากและไม่ค่อยตอบสนอง ผลออกมาว่าหากคัดเลือกคนไข้เหมาะสมแล้ว การรักษาด้วยการผ่าตัดได้ผลดีกว่า ก็ดูตรงไปตรงมาดี แต่ประเด็นมันอยู่ที่นี่ คนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ที่เราคิดว่าเรารักษาแล้วไม่ดีไม่เวิร์กนั้น พอมาพิจารณาดี ๆ แล้วไอ้ที่เรียกว่า ไม่ตอบสนองหรือรักษายาก มันมีน้อยมากครับ
ทำไมถึงน้อย วารสารนี้ให้คำตอบสองอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับพวกคุณ
หนึ่ง ... การใช้ยา proton pump inhbitor (PPI) ที่ผ่านมานั้นเรายังไม่ได้รีดประสิทธิภาพของมันออกมาเต็มที่ ปัญหาส่วนมากที่พบคือ ไม่ได้กินก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ทำไมต้องกินก่อนอาหาร การออกฤทธิ์ของยาอธิบายได้ คือว่าเซลล์ที่หลั่งกรดในกระเพาะอาหารจะเข้าสู่ระยะ "แอคทีฟ" มากที่สุดคือช่วงก่อนกินอาหาร ไอ้เจ้ายา PPI นี้มันจะทำงานตอนที่เซลล์อยู่ในภาวะแอคทีฟนี่แหละ ถ้าเวลากินยาผิดเวลาที่เหมาะสม แน่นอนการออกฤทธิ์ย่อมไม่ดี การรักษาจะไม่ได้ผล
ถ้าใครกินยาตระกูลนี้อยู่นะครับ omeprazole, lansoprazole, esomeprazole, rabeprazole, pantoprazole, dexlansoprazole หากเดิมใช้ไม่ได้ผลหรือต้องการผลที่ดี ควรรับประทานยาก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงครับ
สอง ... แต่ละคนมีการตอบสนองต่อ PPI แต่ละตัวไม่เหมือนกัน เพราะสมบัติของ PPI แต่ละตัวไม่เท่ากัน สรีรวิทยาของแต่ละคน ยาที่กินที่อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา หรือมีพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้การออกฤทธิ์ของยาทำได้ไม่ดี ดังนั้นถ้าเรากินยาตัวนี้แล้วตอบสนองไม่ดี ลองเปลี่ยนตัวยา ยี่ห้อยาครับ แต่ราคาไม่เท่ากันนะครับ และสิทธิการรักษาก็ไม่เท่ากันด้วย
จากการศึกษานี้เมื่อปรับข้อด้อยสองข้อนี้ พบว่าคนที่จะถูกจัดมาอยู่ในกลุ่ม "ไม่ตอบสนองต่อการรักษา" มีน้อยมากเลยครับ การศึกษานี้นอกจากบอกประโยชน์ของการผ่าตัดรักษาโรคกรดไหลย้อนในบางกรณีแล้ว ยังบอกเราด้วยว่าการใช้ยาที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพยังเป็นปัญหาในการรักษานะครับ
"อยากเป็นกรดให้ไหลย้อนกลับ อยากถูกกินตับให้ไหลไปกอด"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น