26 ตุลาคม 2562

เล่าเรื่องเกลือ 5

เล่าเรื่องเกลือตอนที่ 5
นี่เป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญที่สุดในสี่ตอนที่ผ่านมา (ที่ผ่านมาโดนอิทธิพลของ ยูวาล แฮร์รารี่, ฮารุกิ มูราคามิ และพี่หมอเอ้ว ชัชพล มาเป็นแกนในการเขียนเยอะเลย) ก่อนหน้านี้เราได้รู้จักความเป็นมาของเกลือ การล่มสลายของเกลือ บทบาทของเกลือเกี่ยวกับโรคและความสำคัญของการลดเกลือ ตอนสุดท้ายนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการลดเกลือ
สำหรับสี่ตอนที่ผ่านมาท่านสามารถอ่านย้อนหลังได้ที่นี่
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/10/1.html ตอนที่หนึ่ง มนุษย์และความโยงใยเกี่ยวเนื่องของเกลือ
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/10/2.html ตอนที่สอง ยุคทองของเกลือและการล่มสลายของเกลือ
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/10/3.html เหตุและผลที่เกลือเข้ามาสร้างความสุขในรสชาติ แต่แฝงมหันตภัยเงียบจากค่าความดัน
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/10/4.html ความสำคัญของการควบคุมเกลือ ส่งผลสำคัญต่อการควบคุมโรค
เกลือในชีวิตประจำวันปัจจุบันนี้ มาจากแหล่งสำคัญไม่กี่แหล่งแล้ว แหล่งที่สำคัญที่สุดคือ เกลือที่ถูกใส่มาในอาหารเรียบร้อยจากกระบวนการแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหารในร้านอาหาร อาหารสำเร็จในซูเปอร์มาร์เก็ต อาหารแช่แข็งอันแสนสะดวกสบาย อาหารกระป๋องสารพัดอย่าง อาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมและปรุงแต่งเช่น หม่ำหมู กุนเชียง ผักดอง ไส้กรอก ขนมขบเคี้ยวสารพัดยี่ห้อ เกลือที่มาจากอาหารผ่านกระบวนการนี้เป็นเกลือหลักในชีวิตและที่สำคัญเราแทบไปควบคุมไม่ได้เลย
การควบคุมเกลือส่วนนี้จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมาย ระบบระเบียบสังคม ปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมลดเค็ม มาตรการทางภาษี ทั้งหมดเป็นงานสำคัญในภาครัฐที่ต้องลงมาควบคุม หลายประเทศให้ความสำคัญและควบคุมตรงนี้เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา อินเดีย เมื่อบังคับการใช้การบริโภคเกลือในภาคอุตสาหกรรมและบริการ พบว่าการบริโภคเกลือลดลง ความดันโลหิตลดลง สุขภาพดีขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพลดลง ลงท้ายด้วยสุขภาวะของประชาชนดีขึ้น เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไป (แค่ลดเกลือ สะเทือนถึงดวงดาว)
แต่ประชาชนอย่างเราควรทำอย่างไร เราไม่สามารถไปออกกฎหมายหรือมีอำนาจบังคับ เราจึงได้แต่เรียนรู้และรู้ทันโภชนาการ เช่น เราเลือกอาหารที่เกลือไม่มากจากการอ่านสลากโภชนาการข้างบรรจุภัณฑ์ เราจะพอกะเกณฑ์เกลือต่อวัน สามารถลดเกลือและความดันโลหิตได้จริง
การเลือกรับประทานอาหารที่สดและมีการแปรรูปปรุงแต่งน้อย เช่นเลือกกินหมูทอดมากกว่าไส้กรอก ดีกว่าไส้กรอกกระป๋อง และดีกว่าไส้กรอกกระป๋องใส่ในพิซซ่า ยิ่งปรับเปลี่ยนแปรรูปเกลือจะเพิ่มขึ้น
หลีกเลี่ยงอาหารที่รู้แน่ว่าเค็ม หรือพูดให้ดีกว่านั้นคือรู้แน่ ๆ ว่าเกลือมากจากกระบวนการและวิธีทำ ไม่ตัดสินจากรสชาติเช่น ปลาร้า อันนี้เค็มแน่นอน ผักกาดดอง อันนี้เค็มแน่นอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อันนี้เค็มแน่นอน
รู้จักสังเกตฉลากโภชนการว่ามีเกลือเท่าไร (มักจะบอกเป็นโซเดียมมากกว่าเกลือ) เมื่อเลือกได้ให้เลือกที่มีเกลือน้อยกว่าและผลรวมเกลือต่อวันน้อยที่สุด
พยายามฝึกตัวเองให้ชินกับอ่อนเค็ม เมื่อเรากินเค็มไม่มากร่างกายเราจะค่อย ๆ ชินกับมัน อาตจะไม่ต้องตัดเค็มจากเกลือ 10 กรัมเป็นสองกรัมต่อวัน นอกจากทำไม่ได้ หรือทำได้วันเดียว อาจจะไปเพิ่มความอยากเกลือ มื้อต่อไปกินมากเกินทั้งวันก็ได้ ค่อย ๆ ลดเกลือดีกว่า แต่ขอให้ลดอย่างจริงจังสม่ำเสมอ
เริ่มจากลดและงดเครื่องปรุงรสที่จะใส่เพิ่ม อย่างที่เราอ่านมาจากตอนที่สี่ เรามีเกลือในอาหารปัจจุบันปกติสูงกว่ากำหนดเกือบสี่เท่าอยู่แล้ว ยิ่งเราใส่เพิ่มเข้าไปจะยิ่งเพิ่มเกลือเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว ซอส ผงปรุงรส
ลดขนมถุง ขนมขบเคี้ยว ลองไปอ่านข้างถุงจะพบว่ามีโซเดียมและเกลือสูงมาก ลองเปลี่ยนมาเคี้ยวฝรั่งหั่นเต๋า มันแกว หรือกินผลไม้ปริมาณไม่มากแทน หากอยากขบเคี้ยวจริง ข้าวโพดคั่วรสจืด (คือใส่เกลือหรือเนยปริมาณน้อยมากนั่นเอง) เป็นทางเลือกที่ดี
หากท่านมีฝีมือการทำอาหารหรือต้องเป็นผู้รับผิดชอบการปรุงอาหาร ให้ลดปริมาณเกลือ น้ำปลา ซ้อส ผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน ลดด้วยสายตาหรือปริมาตรชั่งตวงวัด อย่าลดด้วยการชิมเพราะลิ้นและการแปลผลสัมผัสแต่ละคนต่างกัน
อาหารที่เป็นซุป เช่น ก๋วยเตี๋ยว ต้มยำ แกงจืด (ที่ไม่เคยจืด) พยายามลดการกิน "น้ำ" ในจานหรือชามนั้น เกลือละลายน้ำได้ดีมาก ยิ่งซดน้ำมากจะยิ่งได้เกลือมาก รวมไปถึงน้ำส้มตำ น้ำปลาร้าที่เรามักจะชอบใช้ข้าวเหนียวจ้ำน้ำต่าง ๆ หรือบางคนยกซดเลย
*** หลักการเดียวกันกับการเลิกปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคทุกอย่างคือ รู้จักเข้าใจ อดทนทำสม่ำเสมอ เอาชนะใจตัวเอง ชนะความอยากอร่อย อยากเค็มให้ได้ ***
บางคนสงสัยว่าทำไมไม่กำหนดปริมาณเกลือคงที่แล้วใช้ยาขับเกลือคือยาขับปัสสาวะแทนไปเลย ขอตอบว่าทำไม่ได้ครับ ยาขับปัสสาวะมีข้อจำกัดการขับเกลือและหากใช้ยาขนาดสูงจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ความดันและผลข้างเคียงจากความดันโลหิตลดลงจริง แต่ต้องเจอผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์มากมาย (ที่รุนแรงเสียด้วย) เช่นกัน
ผมไม่ทราบว่ากฎหมายการควบคุมเกลือ ภาษีความเค็ม จะออกมาให้เมื่อไร จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไร หรือผ่านไปรัฐบาลอื่นต่อไปจะเข้มงวดแค่ไหน เราประชาชนอย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า หวังปลาบ่อใคร เราต้องลด ละ เค็มด้วยตัวของเราเอง อย่างเข้าใจ จริงจัง สม่ำเสมอ จึงสามารถลดอันตรายจากโรคความดันโลหิตสูงและผลจากโรค หากทำทุกคนต่อเนื่อง คุณว่าประเทศเราจะลดงบประมาณการรักษาโรคขนาดไหน ประชากรจะแข็งแรงมากเพียงใด ประเทศและสังคมไม่ต้องมากังวลจุดนี้ แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาตนเองและพัฒนาประเทศได้ขนาดไหน
ผมหวังว่า salt the series คงสร้างความเข้าใจเรื่องเกลือ มนุษย์ และโรคความดันโลหิตสูงได้ไม่มากก็น้อยครับ เอาไปปรับใช้ตามความเหมาะสม อย่าปล่อยให้ความเค็มต้องตกอยู่บนความรับผิดชอบของคนเพียงคนเดียว...หลวงปู่เค็ม
สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น