05 กันยายน 2562

Evidence-Based Medicine

ข้อสังเกต ที่ตัวเองสังเกตเห็นเองขณะเขียนงาน
ถ้าคุณสังเกตบทความเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรังที่ผมเผยแพร่เมื่อเช้า คุณจะพบว่าสิ่งที่ผมเขียนมันซ้ำกัน ตรงกันมาหลายครั้งและหลายปี
การปฏิบัติตัวเพื่อรักษาและป้องกันโรคไม่ติดต่อ ไม่ว่าเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตเสื่อมเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง หรือการปฏิบัติตัวเพื่อรักษาสุขภาพ จะออกมาเหมือนกันแบบนี้ทั้งสิ้น นั่นคือการศึกษาในปัจจุบันมีหลักฐานที่ชัดเจนและตรงกันว่า การปฏิบัติตัวแบบนี้มีประโยชน์สูงกว่าโทษมากๆ แนะนำให้ทำเป็นลำดับแรก ระดับคำแนะนำของทุกแนวทางคือ IA หมายถึงต้องทำด้วยระดับหลักฐานชั้นดีมากมายสนับสนุน มันก็เลยออกมาตรงกันแบบนี้
ไม่ว่าจะเป็นโรคใด การปฏิบัติตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก สำคัญที่สุด ต้องจริงจัง ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะใช้ยาหรือไม่ใช้ยาก็ตามที
ส่วนการใช้ยาเพิ่มเข้าไปในการรักษาหรือป้องกันโรค ที่บอกว่ามันได้ประโยชน์ มันลดอัตราตาย ไม่ได้หมายถึงเขาทำการศึกษาเทียบกับระหว่างปฏิบัติตัวกับกินยานะครับ เวลาเทียบกัน คนทั้งสองกลุ่มจะได้รับการปฏิบัติตัวพื้นฐานแบบนี้เต็มที่ สม่ำเสมอ ถึงขนาดการรักษาเหมือนกันทั้งสองกลุ่มเสมอ ที่ต่างกันคือกลุ่มหนึ่งใช้ยา อีกกลุ่มไม่ใช้ยา
ผลสรุปที่ออกมาว่าใช้ยาแล้วได้ประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ปฏิบัติตัว แต่คือยาจะได้ประโยชน์ในกลุ่มที่ระบุ **และ และ และ** ปฏิบัติตัวเต็มที่แล้วนั่นเอง
เป็นคำอธิบายว่าทำไมบางคนใช้แค่การปฏิบัติตัวอย่างเดียวไม่พอ ประโยชน์มันเกิดครับ แต่การใช้ยาจะเกิดประโยชน์มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยอันตรายจากยาไม่มากไปกว่ายาหลอกหรือการไม่ใช้ยา การศึกษาต้องพิสูจน์ให้เห็นแบบนี้ชัดเจน หลายการศึกษา ตรงกันในหลายกลุ่มคน จึงสามารถสรุปได้ว่ายาเกิดประโยชน์ และแนะนำในแนวทาง
เราไม่ได้พึ่งพายาแบบหน้ามืดตามัว แต่ให้ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมก่อน แล้วคัดเลือกเฉพาะคนที่จะได้ประโยชน์จากยาเท่านั้นมาให้ยาเพื่อรักษาและป้องกันครับ
ขอยืนยันว่าในการแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้ Evidence-Based Medicine เราพยายามลดความแปรปรวนอันเกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะประโยชน์ทับซ้อนจากบริษัทยา มีการวิเคราะห์อย่างเคร่งครัดว่าไม่ให้มีผลประโยชน์ถึงแม้ว่างานวิจัยและการศึกษาจะมีทุนสนับสนุนจากบริษัทยาก็ตามที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น