20 กรกฎาคม 2562

ชีวเคมีของไขมัน ตอนที่ 2

ชีวเคมีของไขมัน ตอนที่ 2
ตอนที่หนึ่งเราได้ทราบถึงการเดินทางของไขมันจากลำไส้เข้าสู่ร่างกายและไปที่ตับเรียบร้อยแล้ว แต่ตอนที่ผ่านมาเราทิ้งท้ายว่า โคเลสเตอรอลจากอาหารนั้นไม่ได้มีส่วนในการใช้งานเท่าไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นและร่างกายทำอย่างไร
** วัตถุประสงค์ เพื่อให้เข้าใจว่าการจัดการไขมันในร่างกายมีที่มาคร่าว ๆ อย่างไร บางทีมีชื่อสารที่ไม่คุ้นหูบ้าง ถือว่าเรียนรู้ศัพท์ใหม่นะครับ **
ร่างกายควบคุมการสร้างและดูดซึมไขมันด้วยระดับไขมันในเซลล์ ถ้าไขมันในเซลล์ลดลง ร่างกายจะต้องใช้เพิ่ม เราจะเพิ่มการผลิตและดูดซึมด้วยกลไกระดับเซลล์ทีเดียว เมื่อร่างกายต้องการไขมันทั้งกรดไขมันและโคเลสเตอรอลร่างกายจะเก็บเกี่ยวจากกระแสเลือดและส่งสัญญาณให้อวัยวะต่าง ๆ สร้างและส่งไขมันออกมาเพิ่ม อวัยวะหลักคือ ตับ
ถ้ายังจำได้ ไขมันจากอาหารที่มาในรูป ไคโลไมครอนที่ยังเหลือกลับมาที่ตับ (chylomicron remnent) ตับจะดูดเข้ามาโดยใช้ตับรับพิเศษ เมื่อเข้ามาก็จะแยกส่วนอีกครั้ง แยกไขมันต่าง ๆ ออกไป แยกกลีเซอรอล แยกโคเลสเตอรอลเอสเทอร์ แยกอะโปออกจากกัน เมื่อร่างกายต้องการไขมัน ตับจะสร้างโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ขึ้นมาใหม่ โดยติดอะโปเป็น tag เช่นเดิม มีอะโป B-100 อะโป C-III อะโป E คราวนี้สัดส่วนไตรกลีเซอไรด์ลดลงและโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมแล้วไตรกลีเซอไรด์ยังมากกว่าอยู่ดี เรียกก้อนไขมันที่ผสมโปรตีนนี่ว่า VLDL (very low density lipoprotein)
สังเกตว่าการขนส่งไขมันในร่างกายจะอยู่ในรูปไลโปโปรตีนครับ ความผิดปกติของไขมันในร่างกายจึงไม่ได้มีแค่ปริมาณเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคุณภาพของการผลิตและจัดการโปรตีนพวกนี้ด้วย
การสร้างโคเลสเตอรอลขึ้นมาใหม่ในเซลล์นี้ ร่างกายจะใช้เอนไซม์ที่สำคัญตัวหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดการสร้างที่สำคัญ ชื่อว่าเอนไซม์ HMG-CoA Reductase การยับยั้งเอนไซม์นี้จึงทรงพลังอย่างยิ่งในการลดสร้างโคเลสเตอรอล (ที่เป็นสัดส่วนโคเลสเตอรอลหลักในร่างกาย) ยาที่ไปยับยั้งเอนไซม์นี้เรียกว่า HMG-CoA Reductase Inhibitor หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายา statin นั่นเอง
VLDL ที่ออกจากตับจะทำหน้าที่ส่งไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลให้เซลล์ต่าง ๆ คล้ายไคโลไมครอน เมื่อส่งไขมันในตัวออกตัวมันจะเล็กลงเรียกว่า IDL (intermediate density lipoprotein) ไตรกลีเซอไรด์จะลดลง ทำให้สัดส่วนโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น เจ้า IDL จะกลับเข้าสู่ตับเพื่อเข้าสู่กระบวนการสร้างใหม่อีกครั้ง คราวนี้จะเข้าคนละช่องทางกับไคโลไมครอน จะเข้าช่องทางที่มีตัวรับสำคัญที่เรียกว่า LDL receptor เข้า LDL receptor จะคอยดู tag สำคัญที่จะรับเข้าสู่ตับคือ อะโป B-100 นั่นเอง
เจ้า LDL receptor มันจะคอยดึงเอา LDL และ IDL เข้ามาที่ตับตลอดเวลาเลย ถ้ามันทำงานมากเกินไป มันก็จะดึงไขมันและโคเลสเตอรอลเข้ามาที่ตับหมด เซลล์ต่าง ๆ จะอดได้กรดไขมันและโคเลสตอรอลไปใช้ ร่างกายจึงต้องใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า PCSK9 เพื่อทำลาย LDL receptor ให้สมดุล
** ถ้าเจ้า PCSK9 มันบกพร่องไป LDL และ IDL คงจะลดลงมาก ๆ เป็นแน่แท้ เราจึงใช้ยาตัวหนึ่งไปยับยั้ง PCSK9 ในการรักษาโรคไขมันในเลือดสูงชนิดที่ยาอะไรก็เอาไม่ลง และเป็นหนึ่งในยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดจากไขมันสูง คือยา alirocumab และ evolocumab นั่นเอง ***
เห็นสมดุลการทำงานของร่างกายอันยอดเยี่ยมหรือยัง ยัง..ยังไม่พอ ถ้ายังจำได้ว่าเจ้าไคโลไมครอนและ VLDL นั้นมีสัดส่วนของโคเลสเตอรอลน้อยมากอยู่ที่ถ้าเทียบกับไตรกลีเซอไรด์ ตับจึงทำการสร้างและส่งบุรุษไปรษณีย์คนสุดท้ายที่ชื่อ LDL (low density lipoprotein) เพื่อไปส่งโคเลสเตอรอล คราวนี้มีโคเลสเตอรอลในก้อนไขมันนี้สูงถึง 50% จะได้โคเลสเตอรอลสมน้ำสมเนื้อเสียที
ตับจะใช้เอนไซม์ที่ชื่อ hepatic lipase จัดการ IDL ให้กลายเป็น LDL แล้วส่งออกไปส่งของอีกครั้ง ในอีกทางหนึ่งตับก็สร้าง LDL ขึ้นมาเองเลย เอาโคเลสเตอรอลเน้น ๆ ชุ่ม ๆ เต็มคำ มีไตรกลีเซอไรด์แซมบ้าง ใส่อะโป C อะโป E และที่สำคัญคือ อะโป B-100 จำเขาได้ไหม
อะโป B-100 ที่คอยจับ LDL receptor เพื่อเอา IDL และ LDL ที่เหลือมาทำลายที่ตับไง พูดง่าย ๆ ว่าตับสร้าง VLDL ไปส่งไตรกลีเซอไรด์เป็นหลัก สร้าง LDL ไว้ขนส่งโคเลสเตอรอลเป็นหลัก มี อะโป B-100 เหมือนกันและเมื่อทำงานเสร็จก็รับกลับมา ยินดีต้อนรับกลับบ้านเพื่อมาจัดการไขมัน ตัวรับส่งไขมัน จัดทรัพยากรให้เหมาะสมกับร่างกาย เป็นการควบคุมภายในที่ยอดเยี่ยมมาก หากกลไกเหล่านี้ผิดปกติ เราไม่ได้เรียกโรคนี้ว่าไขมันสูงเท่านั้น เราเรียกไขมันผิดปกติ dyslipidemia (dys ผิดปกติ.. lipid ไขมัน.. emia ...ในเลือด)
ดังนั้นการจัดการไขมันหลักคือการจัดการในร่างกายเราเอง ส่วนไขมันนอกร่างกายที่มาจากอาหารและการดูดซึมจึงส่งผลไม่มากนัก ไม่ได้หมายความว่ากินได้ตามใจนะครับ กินมากไปก็พลังงานสูง อ้วน เก็บสะสม ก่อโรคเหมือนกัน แต่หากไขมัน การสังเคราะห์ การขนส่ง มันผิดปกติและก่อโรคเราจึงจำเป็นต้องใช้ยานั่นเอง การลดปริมาณไขมันที่กินอย่างเดียวไม่อาจแก้ไขโรค dyslipidemia ได้ทั้งหมด
ตอนต่อไป เรามาพูดถึงว่าแล้วทำไม LDL จึงกลายเป็นผู้ร้าย และ HDL มีบทบาทอะไรและร่างกายหวงแหนไขมันมากเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น