24 มิถุนายน 2562

HLA C*03:02 กับ MMI

ในอนาคตข้างหน้า precision medicine จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน มาดูตัวอย่างนี้
โรคทัยรอยด์เป็นพิษ มียาที่นิยมใช้รักษาอยู่สองชนิด คือ propylthiouracil (PTU) และ methimazole (MMI) ยาทั้งสองตัวรักษาได้ดีพอกัน ประเด็นเรื่องของผลข้างเคียงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกันในการเลือกยา ตัวยา MMI มีลักษณะผลข้างเคียงคล้าย PTU แต่เรานิยมใช้ MMI มากกว่าเพราะผลข้างเคียงของ MMI จะเกิดเมื่อใช้ยาขนาดสูง ส่วน PTU จะเกิดผลข้างเคียงได้โดยไม่ได้ขึ้นกับขนาดยาที่ใช้ หากเราใช้ยาในขนาดต่ำโอกาสเกิดผลเสียจาก MMI น้อยกว่านั่นเอง
ยังไม่งงนะ คราวนี้เรามาดูผลงานวิจัยอันนี้
นักวิจัยจากจีน (จากเซี่ยงไฮ้ ไม่ใช่จากเสิ่นเจิ้นนะ) ศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดผลข้างเคียง methimazole ในแง่เกิดตับอักเสบแล้วพบแบบนี้ ในคนที่มีผลข้างเคียง พบความถี่ของยีน HLA C*03:02 สูง 6.7% ดูไม่เยอะนะ แต่ถ้าไปดูกลุ่มที่ใช้ methimazole แล้วไม่เกิดอาการ พบความถี่ของยีนนี้เพียง 0.4% เท่านั้น ประมาณ 17 เท่า
นั่นหมายถึงอนาคตเราอาจจะตรวจ HLA C*03:02 ก่อนจะเลือกใช้ยา เพื่อเลือกได้แม่นยำมากขึ้น คล้ายกับปัจจุบันที่เรามีการตรวจ HLA B*58:01 สำหรับยา allopurinol มีการตรวจ HLA B*57:01 สำหรับยา abacavir และ HLA B*15:02 สำหรับยา carbamazepine (สามารถส่งตรวจได้ที่โรงเรียนแพทย์ และศูนย์ตรวจภูมิภาคของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ)
ยังไม่นับการตรวจยีนเพื่อบ่งบอกการรักษาสำหรับโรคมะเร็ง การบอกการพยากรณ์โรค การวินิจฉัยโรคอีกหลายชนิด
อนาคตมาเร็วกว่าที่รอ เร็วกว่า ครม. ที่ยังไม่มา
ที่มา
Biomedicine & Pharmacotherapy Volume 117, September 2019, 109095

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น