30 เมษายน 2562

lubiprostone [อาการท้องผูกเรื้อรัง

จากการบรรยายเรื่องยา chloride channel activator : lubiprostone ในการรักษาโรคท้องผูกเรื้อรัง โดย อ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์
(การบรรยายนี้เป็น symposium ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้จำหน่ายยา ผมหยิบมาแต่เนื้อหาเชิงวิชาการครับ ไม่มีส่วนได้เสียกับอาจารย์ผู้บรรยายหรือบริษัทผู้ให้การสนับสนุนการบรรยายแต่อย่างใด)
1. ปัญหาท้องผูกเรื้อรังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ซับซ้อนและพบบ่อย ความสำคัญของปัญหานี้คือจะต้องแยกสาเหตุอันพึงรักษาได้เช่น เนื้องอกลำไส้ใหญ่ ผลข้างเคียงจากยา โรคระบบประสาทและไขสันหลัง โรคไทรอยด์ต่ำ หากไม่พบสาเหตุแล้วจึงจะเรียกว่าท้องผูกแบบปฐมภูมิ (functional dyspepsia)
2. เกณฑ์การวินิจฉัยใช้เกณฑ์ล่าสุดที่เรียกว่า ROME IV criteria ที่เป็นการถามอาการเช้น ต้องเบ่ง ต้องล้วงอุจจาระ รู้สึกถ่ายไม่หมด รู้สึกลำไส้เคลื่อนไหวน้อยกว่าสามครั้งต่อสัปดาห์ อาการต้องเริ่มมาอย่างน้อย 3 เดือน เป็นต้น ควรไปดูเกณฑ์ละเอียดตาม pdf ฟรีที่ลิ้งก์มาให้
3. การรักษาในระดับอาการไม่รุนแรงมาก จะใช้การปรับอาหารที่มีกากใยมากขึ้น ดื่มน้ำมากขึ้นและออกกกำลังกาย หรือถ้าจำเป็นให้ใช้ยาที่ช่วยให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อนและไฟเบอร์ (bulk-forming agents) ถ้าอาการมากขึ้นจะใช้ยาที่ช่วยบีบตัวลำไส้หรือยาที่เป็นสารละลายคอยดูดน้ำออกมาที่ลำไส้ อุจจาระจะได้ออกมาได้ง่าย และถ้าหากรุนแรงมากจะใช้ยาที่ไปปรับแต่งการทำงานสารสื่อประสาท หรือยาตัวใหม่นี้ lubiprostone
4. ยา lubiprostone เพิ่มการขับคลอไรด์ออกทางเซลล์เยื่อบุลำไส้ จะขับเอาโซเดียมและน้ำออกมาด้วย ทำให้อุจจาระออกมาได้ง่าย และทำให้ผนังลำไส้ (tight junction) ชิดกันสนิทกันจากการบาดเจ็บต่าง ๆ การทำงานจึงเป็นปกติและขับถ่ายได้ดีขึ้น โดยที่ในการศึกษาและการใช้ยาจริงยังไม่พบความแปรปรวนของเกลือแร่และสารน้ำภายในและภายนอกเซลล์ อย่าลืมว่าไปยุ่งกับการขนถ่ายเกลือแร่และประจุไฟฟ้ามันอาจจะมีผลตามมา แต่ตอนนี้ยังไม่ปรากฏยังคงต้องติดตามกันต่อไป
5. การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังแบบปฐมภูมิ พบว่าลำไส้มีการขยับขับถ่ายมากขึ้น โดยเริ่มมีการตอบสนองตั้งแต่สองวันแรก (เฉลี่ยนะครับ) จะมักจะเห็นผลที่ต้องการใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าให้ไปนาน ๆ แล้วยังไม่เห็นผลในช่วงนี้คงต้องระวังว่ายาไม่ได้ผล อาการอื่น ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับท้องผูกก็พบว่าดีขึ้นด้วย
6. สำหรับการรักษาลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องผูกเด่น (irritable bowel syndrome-constipation) และการรักษาอาการท้องผูกอันเนื่องมาจากการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอนุพันธุ์ของฝิ่น (opioid-induced constipation) อาการทั้งสองประการนี้สามารถใช้ lubiprostone ช่วยเพิ่มการขยับขับถ่ายได้ดีเช่นกัน (แต่เทียบกับยาหลอกนะครับ)
7. มีการติดตามความปลอดภัยในการใช้ยาไปกว่าหนึ่งปี พบว่าปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบบ้างคือคลื่นไส้อาเจียนและถ่ายเหลว เมื่อใช้ขนาดยาสูงขึ้นผลข้างเคียงจะพบบ่อยขึ้น
8. ข้อใช้ในปัจจุบันคือ ท้องผูกเรื้อรังปฐมภูมิหรือจากยาแก้ปวด ขนาด 24 ไมโครกรัมวันละสองครั้ง ส่วนการรักษาลำไส้แปรปรวนใช้ขนาด 8 ไมโครกรัมวันละสองครั้ง ไม่ต้องปรับขนาดในไตเสื่อมแต่ต้องปรับขนาดในโรคตับเสื่อมตับแข็ง
9. ยานี้มีบรรจุในแนวทางการรักษาท้องผูกในประเทศไทยมาสักพักแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มียาใช้ ตอนนี้เริ่มมีวางจำหน่ายในประเทศแล้ว อีกไม่นานลุงหมอคงได้มีโอกาสใช้รักษาคนไข้บ้าง
10. การรักษาท้องผูกเรื้อรังต้องอาศัยการรักษาหลายมิติ ทั้งการประเมินสาเหตุ การรักษาแบบปรับชีวิตและไม่ใช้ยา การดูแลสภาพจิตใจ การฝึกการขับถ่าย การใช้ยาแบบต่าง ๆ คงยังไม่มีอะไรวิเศษที่รักษาได้หมด และต้องดูแลปรับแต่งเฉพาะคนในระยะยาวด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น