20 เมษายน 2562

Latent Tuberculosis Infection การติดเชื้อวัณโรคแอบแฝง

Latent Tuberculosis Infection การติดเชื้อวัณโรคแอบแฝง มีความสำคัญอย่างไร
การติดเชื้อวัณโรคที่เราเคยเห็นไอคุ้ก ๆ จะเป็นวัณโรคชนิด active หรือบางครั้งเชื้อแอบแฝงในตัวแล้วกำเริบเวลาร่างกายอ่อนแอเป็นชนิด reactive ทั้งสองแบบคือมีอาการให้ตรวจพบ แต่ถ้ามันเล่นซ่อนแอบกับเราอยู่ เราจะรู้ได้อย่างไร และต้องจัดการฆ่าเชื้อนั้นไหม
มีการติดเชื้ออีกอย่างที่เราจะกล่าวถึง คือการติดเชื้อวัณโรคที่ร่างกายเราสามารถควบคุมได้ ไม่มีอาการ ตรวจเอ็กซเรย์หรือเสมหะปรกติ ไม่แพร่กระจายสู่คนอื่น เรียกว่าไม่มีอาการอะไรเลยและไม่มีทางรู้หากไม่ตรวจด้วยการทดสอบทุเบอร์คูลินหรือตรวจ interferon
ไม่มีอาการและไม่ติดต่อ ทำไมจะต้องไปตรวจและรักษาด้วย ... ในกลุ่มคนบางกลุ่มหากเชื้อเปลี่ยนจากสงบเป็นกำเริบอาจจะอันตราย เช่น ผู้ที่เป็นเอชไอวี ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ก็อาจจะทำการตรวจและรักษา
กลุ่มคนที่ต้องการความมั่นใจว่าไม่มีเชื้อในตัวแน่ ๆ เช่นคนที่จะต้องทำงานในงานปลอดเชื้อ บุคลากรทางการแพทย์ในบางประเทศบางสาขา หรือบางประเทศที่ต้องการลดการเกิดวัณโรคอย่างเข้มข้น
ในคนไทย จะมีผลบวกปลอมจากการตรวจได้มาก เพราะประเทศเรามีวัณโรคอยู่ทั่วประเทศ แถมเชื้อ mycobacterium สกุลอื่นที่อาจมีผลบวกด้วย หรือการฉีดวัคซีนบีซีจีที่จะมีผลบวกปลอมกับการทดสอบทุเบอร์คูลินได้
เวลาตรวจจึงอาจต้องตรวจสองครั้ง หรือสองวิธี บางแล็บจะมีค่าการทดสอบอินเตอร์เฟอรอนที่ชัดเจนว่าเท่าไรน่าจะเป็นการติดเชื้อ latent TB
หากจำเป็นต้องให้การรักษา แนะนำยาวัณโรค isoniazid ตัวเดียวกิน 6-9 เดือน สำหรับเด็กจะมีสูตร isoniazid+rifampicin ที่ใช้เวลาสั้นกว่าคือสามเดือนได้
การใช้ยาตัวเดียวรักษาวัณโรคแอบแฝงแบบนี้ ยังไม่มีบทพิสูจน์ว่าทำให้เกิดเชื้อดื้อยาครับ การดื้อยาส่วนมากเกิดในโรคที่กำลังเป็นมากกว่าและผู้ป่วยกินยาไม่ครบ
สามารถดาวน์โหลดคู่มือการจัดการวัณโรคแอบแฝงขององค์การอนามัยโลกได้ที่นี่
https://www.who.int/…/pub…/latent-tuberculosis-infection/en/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น