07 มีนาคม 2562

มหันตภัยร้ายอันดับสองของโลก : โรคอ้วนลงพุง

มหันตภัยร้ายอันดับสองของโลก : โรคอ้วนลงพุง
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต คุณภาพชีวิต และงบประมาณในการรักษามากที่สุดสามลำดับ ตามการจัดลำดับขององค์การอนามัยโลกคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง และ การสูบบุหรี่
โรคอ้วนลงพุง ไม่ได้เป็นโรคใดโรคหนึ่งแต่เป็นกลุ่มอาการที่มีหลายข้อรวมกัน หากใครมีอาการเหล่านี้และเข้าได้กับโรคอ้วนลงพุง จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นกว่าคนที่ไม่เป็น การตรวจพบปัจจัยเสี่ยงจึงถือว่าช่วยเตือนเราก่อนเกิดโรค ให้เราได้เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและเสริมปัจจัยทางบวกได้เร็ว
โรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) มีคำจำกัดความหลายหลากที่มีความต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละภูมิภาคในโลก ในปี 2009 สมาคมแพทย์ต่าง ๆ ได้ปรับปรุงแนวทางการวินิจฉัยไปในทางเดียวกันดังนี้
1. central obesity คืออ้วนจากส่วนกลางลำตัว ใช้การวัดเส้นรอบเอวหรือดัชนีมวลกาย ในกรณีดัชนีมวลกายเกิน 30 ไม่ต้องมาวัดเส้นรอบเอวอีก ถือว่าได้เกณฑ์อ้วนส่วนกลางไปเลย แต่หากดัชนีมวลกายน้อยกว่า 30 ให้วัดเส้นรอบเอว ตำแหน่งที่วัดคือ จุดกึ่งกลางระหว่าง ซี่โครงที่ล่างสุดกับขอบบนสุดของกระดูกเชิงกรานตรงข้างลำตัว ผู้ชายนับที่มากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร ผู้หญิงนับที่มากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร
2. ความดันโลหิต ตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ (systolic) 130 mmHg หรือตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 85 mmHg (diastolic) หรือเข้ารับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ...แนวทางนี้ออกมาก่อนการปรับค่าตัวเลขความดันโลหิตสูงของสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกา ในอนาคตเราอาจต้องติดตามว่าจะยังใช้เกณฑ์นี้ไหม...
3. ผลเลือดระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร fasting blood glucose มากกว่าหรือเท่ากับ 100 mg/dLและในคำแนะนำของ international diabetes federations แนะนำว่าหากมีค่าเกิน 100 ควรไปทำการกินน้ำตาลแล้ววัดความทนน้ำตาล (oral glucose tolerance test) เพื่อตรวจหาเบาหวาน
4. ผลเลือดระดับค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 150 mg/dL ในที่นี้ไม่ได้ระบุว่าต้องอดอาหารหรือไม่ เพราะตอนนี้เราไม่ต้องอดอาหารมาตรวจแล้ว ยกเว้นค่าไตรกลีเซอไรด์สูงมากจนสงสัยว่าอาจเป็นเพราะอาหาร หรือเครื่องดื่ม ก็จะให้งดอาหาร 10 ชั่วโมงมาตรวจ หรืออีกกรณีคือได้รับการรักษาไขมันในเลือดผิดปกติอยู่แล้ว
5. ผลเลือดค่าไลโปโปรตีน HDL น้อยกว่า 40 mg/dL ในผู้ชายและน้อยกว่า 50 mg/dL ในผู้หญิง ค่านี้ไม่ต้องงดอาหารนะครับ หรืออีกกรณีคือได้รับการรักษาไขมันในเลือดผิดปกติอยู่แล้ว
เรานับเกณฑ์ สามข้อจากห้าข้อ จึงถือว่ามีภาวะอ้วนลงพุง และควรเข้ารับคำแนะนำการปฏิบัติตัวกับแพทย์ต่อไป หลักการการปฏิบัติตัวจะคล้ายกัน ไม่ว่าจะมีโรคอ้วนลงพุงหรือไม่ก็ต้องปฏิบัติอยู่ดี (แล้วจะตรวจทำไมล่ะเนี่ย) คือ ควบคุมน้ำหนัก รักษาสมดุลอาหารที่กินตามคำแนะนำโภชนาการมาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ลดการบริโภคเค็ม นอนพักผ่อนเพียงพอ รักษาสุขภาพใจให้สดชื่น จัดการความเครียดให้ดี หรือหากเกิดโรคแล้วต้องรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำควบคู่ไปด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น