18 กุมภาพันธ์ 2562

สเตียรอยด์กับกระดูกสะโพกขาดเลือด

สเตียรอยด์กับกระดูกสะโพกขาดเลือด
สำหรับคนที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ไม่ว่าจะใช้ประจำหรือใช้เป็นครั้งเป็นคราวในขนาดสูง ๆ จะต้องระมัดระวังปัญหาที่พบพอสมควรคือกระดูกขาดเลือด (avascular necrosis, osteonecrosis) มีการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ชัดเจนว่าการใช้สเตียรอยด์สัมพันธ์กับภาวะดังกล่าว นอกเหนือจากสเตียรอยด์แล้ว ยังสัมพันธ์กับแอลกอฮอล์อีกด้วย
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด สมมติฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือการที่ยาไปกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อไขมันและมีการกระจายของเนื้อเยื่อไขมันผิดปกติ ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูก และอีกสมมติฐานคือทำให้มีการตายของเซลล์กระดูก แต่ว่าอย่างไรก็ยังไม่ชัดเจนจนสรุปได้ ตอนนี้บอกได้แค่ว่าหากใช้สเตียรอยด์นานหรือใช้ขนาดสูงคงต้องระวัง
ตัวเลขในอเมริกาจากวารสาร NEJM ปี 1992 พบว่า 10% ของผู้ป่วยที่เข้ามาเปลี่ยนข้อสะโพกเกดจากสาเหตุนี้ ส่วนตัวเลขความชุกของโรคแปรปรวนมากเพราะการใช้สเตียรอยด์มันเยอะมาก ตั้งแต่ 3%-30% แล้วแต่โรค
โรคทางอายุรกรรมที่ต้องใข้สเตียรอยด์บ่อย ๆ ไม่ว่าจะใช้ขนาดไม่สูงแต่ยาวนาน หรือขนาดสูงเป็นเวลาสั้น ๆ ได้แก่ โรคเอสแอลอี, โรคไตอักเสบลูปัส, โรคหลอดเลือดอักเสบ นี่คือการใช้สเตียรอยด์ในข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ได้มีการคิดผลดีผลเสียและติดตามผลข้างเคียงแล้ว ยังไม่นับการใช้ยาสเตียรอยด์ผิดประเภท หรือยานอกตำรับที่แอบผสมสเตียรอยด์อีก
ไม่มีตัวเลขระยะเวลาว่ากินนานแค่ไหนหรือขนาดมากเพียงใดจึงจะเกิด ในทางเวชปฏิบัติหากต้องใช้ยาสเตียรอยด์สิ่งที่เรามักจะทำคือ ให้เมื่อจำเป็นและพยายามลดขนาดให้น้อยที่สุดเท่าที่ใช้ได้ ใช้เวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะควบคุมโรคได้
การสังเกตอาการตัวเองจึงสำคัญ การปวดข้อสะโพกเรื้อรัง เริ่มจากยืน ออกแรง ต่อมาก็ปวดตอนไม่ออกแรง ต่อมาก็รับน้ำหนักไม่ได้ แย่สุดคือข้อทรุดกระดูกพังและอาจหักได้ เพราะเสื่อมมาก การตรวจที่ไวที่สุดคือการทำเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ที่ตรวจจับได้ในระยะต้น แต่ก็อย่างที่กล่าวอาการมันไม่ชัดและไม่รู้เมื่อไร จะมาทำ MRI บ่อย ๆ ก็ใช่ที่ มันแพง
ส่วนใหญ่มักจะวินิจฉัยได้ในระยะหลัง ๆ ที่ภาพเอ็กซเรย์ธรรมดาตรวจพบความผิดปกติได้ (มี 4-6 ระยะ แล้วแต่จะอ้างอิงตำราใด แต่ว่าทุกอัน ระยะต้น ๆ จะตรวจยากมาก ภาพเอ็กซเรย์ก็ดูยากถ้าไม่สงสัยจริง ๆ จากประวัติ)
การป้องกันที่ดีคือ ใช้สเตียรอยด์ให้ถูกต้อง ติดตามการรักษา ระวังและหมั่นติดตามอาการปวดข้อ ในระยะแรก ๆ อาจใช้การกายภาพได้ แต่หากระยะท้าย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ระยะนี้มักจะต้องใช้การผ่าตัดรักษา เดี๋ยวนี้ก็มีหลายวิธี ไม่ใช่แค่เปลี่ยนข้อสะโพกเท่านั้น แต่ละวิธีนี้คงต้องไปคุยกับคุณหมอศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ครับ
คนที่ใช้ยาสเตียรอยด์ส่วนใหญ่จะได้รับคำแนะนำและคิดตามอย่างถูกต้อง ห่วงก็แต่คนที่ได้รับสเตียรอยด์โดยผิดข้อบ่งชี้ หรือได้รับสารสเตียรอยด์จากยาชุด ยาผสมเองนอกตำรับ ที่ไม่รู้แม้แต่ว่าตัวเองได้รับสเตียรอยด์ กว่าจะรู้ก็ข้อเสี่อมมากหรือกระดูกสะโพกหักไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น