24 มกราคม 2562

กินแอสไพรินเพื่อป้องกันโรค อาจไม่ได้ผล

การใช้ยาเม็ดแอสไพริน เพื่อ ป้องกันโรคหลอดเลือด (กินป้องกันก่อนเกิด) มีการศึกษาที่รวบรวมงานวิจัยล่าสุดออกมาแล้ว
1. การใช้แอสไพรินเพื่อลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจซ้ำ คือเกิดโรคแล้วนะ กินเพื่อป้องกัน อันนี้มีงานวิจัยมากมาย การศึกษาเยอะมาก สรุปไปในทางเดียวกันว่าการกินแอสไพริน ช่วยลดการเกิดซ้ำได้จริง แล้วเลือดออกไหม ก็เลือดออกจริงเช่นกัน แต่เมื่อไปเทียบสัดส่วนแล้ว การปกป้องหลอดเลือดมีน้ำหนักมากกว่าเลือดออกหลายเท่า
2. สำหรับการกินเพื่อป้องกันหลังเกิดโรคแล้วนั้น ไม่มีคำถามอีกต่อไป สรุปว่ากินดีกว่าแน่ และต้องระวังเลือดออกต่อไปด้วย อ้าวแล้วถ้ายังไม่มีโรคล่ะ กินเลยได้ไหม กลัวมากโรคหลอดเลือดหัวใจกับอัมพาตเนี่ย
3. แบบนี้เรียกกินก่อนเกิดโรค ที่ผ่านมาก็มีคนศึกษาเช่นกัน แต่ก็ต้องบอกว่าเราไปศึกษาในกลุ่มที่เสี่ยงเกิดโรคน้อย กลุ่มที่โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย ก็ต้องใช้เวลาในการศึกษานานมากและขนาดตัวอย่างเยอะมาก การศึกษากินยาป้องกันก่อนเกิดโรคจึงมีน้อยกว่า แต่ก็มีคนทำ
4. ผลที่ออกมาในอดีต ยุคที่การปรับเปลี่ยนโรคด้วยยา ด้วยสายสวน ด้วยเอกซเรย์สารพัด ยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ บอกกับเราว่า ในคนที่ยังไม่มีโรคถ้าหากกินแอสไพรินก็สามารถช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดได้จริงนะ ลดได้นิดนึง แล้วเลือดออกมากขึ้นไหม ก็ออกมากขึ้นนะ มากขึ้นนิดนึง อย่างว่าไปทำในกลุ่มที่ความเสี่ยงไม่มากนัก
5. คำแนะนำต่าง ๆ ก่อนหน้านี้จึงบอกว่า ไม่ได้เป็นข้อบังคับเพราะผลการศึกษาไม่ชัดเจนฟันธงไม่ได้ ให้พิจารณาผลดีผลเสียเป็นราย ๆ ไป
6. กลับมาที่ยุคใหม่ การปกป้องหลอดเลือดมีหลายวิธี แถมประสิทธิภาพดีด้วย การใช้แอสไพรินเพื่อลดโอกาสเกิดโรคซ้ำยังแนะนำว่าต้องให้อยู่เช่นเดิม มาพร้อมมาตรการป้องกันเลือดออกที่หรูหราดูดีขึ้นอีก ก็ยิ่งต้องทำเข้าไปอีก แล้วการกินก่อนเกิดโรคล่ะ เปลี่ยนไหม
7. นี่แหละ ประเด็น การศึกษาแบบรวบรวมข้อมูลที่ลงใน JAMA เมื่อวานนี้ รวบรวมการศึกษาที่มีในอดีตและรวบรวมที่อยู่ในยุคใหม่ ตัวสำคัญสามการศึกษาคือ ASCEND, ASPREE, ARRIVE ที่ศึกษาในเบาหวาน ผู้สูงวัย และกลุ่มความเสี่ยงสูงตามลำดับ ที่เพจเรานำเสนอมาครบทั้งสามอัน
8. จะเห็นว่าหยิบคนที่เสี่ยงพอควรมาทำการศึกษานะครับ เพราะพวกที่ไม่เสี่ยง เสี่ยงน้อยนี่คงชัดเจน ไม่ให้แน่ ๆ คราวนี้รวบรวมของใหม่ผลจะต่างจากข้อสี่ไหม คำตอบคือ "เหมือนเดิม" ลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้จริง (ARR 0.38%, NNT 265) และเพิ่มโอกาสเลือดออกที่สำคัญด้วย ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กันเสียด้วย (ARR 0.47%, NNH 210)
9. นั่นคือต้องพิจารณาความเสี่ยงและพิจารณาให้ยาเป็นเฉพาะราย ๆ ไปนะครับ (ประโยชน์ไม่ได้เด่นชัดนัก) และหากเกิดเลือดออกควรหยุดเพราะเกิดโทษที่ชัดเจน แล้วอะไรที่เปลี่ยนไปหรือได้จากการศึกษาใหม่ ๆ ก็บอกว่าเป็นระดับความมั่นใจครับ ว่าเรากล่าวประโยคนี้ด้วยหลักฐานที่ดีมาก แน่นหนา ไม่ได้ยกมาลอย ๆ หรือใช้ข้อมูลระดับรองมาแนะนำ
10. ข้อนี้ส่วนตัวนะครับ แต่ผมคิดว่าคำแนะนำจะออกมาว่าไม่ใช้เพื่อป้องกันแน่ ๆ ด้วยระดับความมั่นใจว่ามีหลักฐานมาสนับสนุนดีมาก ๆ เพราะอะไร เพราะมีวิธีอื่นที่ทรงประสิทธิภาพและอันตรายน้อยกว่าไงครับ ไม่ว่าการปรับอาหาร ลดไขมันทรานส์ ลดไขมันอิ่มตัว ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ การควบคุมและคัดกรองเบาหวานความดันที่ดีขึ้น การใช้ยาลดไขมันเพื่อลดความเสี่ยง ดูปลอดภัยและได้ประโยชน์กว่ากินแอสไพรินแบบป้องกันเยอะเลย
ข้อสำคัญอีกประการคือในกลุ่มกินเพื่อป้องกันนี้ คนที่กินแอสไพรินไปจนครบตลอดการศึกษามีประมาณ 50-60% เท่านั้น เพราะเขาไม่มีโรคอะไรนะครับ ความรู้สึกต้องกินมันก็ลดลง นี่ขนาดควบคุมดี ๆ ในการศึกษายังกินไม่ครบมากมาย ในชีวิตจริงน่าจะกินไม่ครบมากกว่านี้ ผลที่ว่ามีประโยชน์จะยิ่งเจือจางลงไปอีก ไม่ว่าการศึกษายุคเก่ายุคใหม่ การไม่กินยาต่อเนื่องก็ยังเป็นปัญหาสำคัญ
ใครมีความเห็นเพิ่มเติม มาช่วยกันถกเถียงนะครับ จะได้เกิดแนวคิดและปัญญาเพิ่มพูนขึ้น ทั้งผู้ใช้ยา ผู้ที่ต้องได้รับยา ผู้ที่กังวลค่ายา และผู้ที่ต้องได้รับปรึกษาหากเกิดอันตรายจากยา
วารสารอันนี้ไม่ฟรีนะครับ
Zheng SL, Roddick AJ. Association of Aspirin Use for Primary Prevention With Cardiovascular Events and Bleeding Events: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA. 2019;321(3):277–287. doi:10.1001/jama.2018.20578
https://jamanetwork.com/journ…/jama/article-abstract/2721178

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น