17 มกราคม 2562

Air Pollution

Air Pollution อ่านกันมาหลายมุมแล้วก็สรุปว่าไม่ดีจริง ๆ ครับและควรหลีกเลี่ยงป้องกัน ผมมาเสนอของผมบ้าง มุมมองจากคนที่ไม่ได้สัมผัสมลภาวะพร้อมพวกท่าน
ในมุมมองของผมนะ....แต่ละการศึกษาส่วนมากจะใช้ air pollution โดยรวมมากกว่าจะเป็น PM 2.5 หรือ PM 10 โดยตรง เหตุผลเพราะมันไม่สามารถแยกทดสอบเดี่ยว ๆ ได้ เว้นแต่จะเป็นการใส่ PM 2.5 โดยตรงในสัตว์ทดลองซึ่งปริมาณและความเข้มข้นมันต่างจากที่เราได้รับ ดังนั้นอันตรายที่เกิดจะต้องคิดรวมมลพิษอื่น ๆ ด้วย แก๊สพิษอื่น ๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ดีเมื่อผลรวมมลภาวะทางอากาศมันส่งผลเสียต่อสุขภาพ ต่อให้แยกส่วนวิเคราะห์ไม่ได้ก็ควรเลี่ยงอยู่ดี
การศึกษามีทั้งการวัด biomarker ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคและ อัตราการเกิดโรคหรืออัตราการเสียชีวิต ทั้งสองอย่างนี้มีข้อมูลไปในทางเดียวกันว่ามลภาวะทางอากาศทำให้สุขภาพแย่ลงแน่นอน การศึกษาในระดับ biomarker จะมีมากกว่าอัตราการเกิดโรคและตาย เพราะการหาอัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตต้องอาศัยระยะเวลาติดตามข้อมูลยาวนาน แถมมีตัวแปรปรวนมากมายด้วย
biomarker หรือ intermediate outcome อาจจะไม่ได้หมายถึงการก่อโรคโดยตรง อาจเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง น้ำหนักปัจจัยนั้นจะมากหรือน้อยก็ได้ สามารถอธิบายด้วยกลไกการเกิดโรคได้ชัดเจน เช่น เราทราบว่าสาร polonium 210 เป็นสารก่อมะเร็งปอดที่สำคัญ แล้วต่อมาเราพบว่า ควัน A มีสาร polonium 210 มากกว่าปกติหลายเท่า การที่เราจะไปสรุปว่า ควัน A ก่อมะเร็งแน่ ๆ อาจจะด่วนสรุปไปหน่อย เพราะควัน A อาจมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ทำให้ polonium 210 หมดประสิทธิภาพ หรือ ควัน A อาจมีสารอย่างอื่น ๆ ที่มีความชัดเจนและน้ำหนักมากที่จะก่อมะเร็งมากกว่าก็ได้
โรคที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับมลภาวะ และระบุ PM 2.5 คือโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคใหม่เช่นภูมิแพ้หรือหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง การพัฒนาการของปอดที่ผิดปกติในเด็ก หรือการทำให้โรคเดิมกระตุ้นกำเริบได้เช่นหอบหืด สภาพโรคจึงแย่ลง หมายความว่าคนที่เป็นโรคต่าง ๆ เหล่านี้หรือเสี่ยงอยู่ต้องหลีกเลี่ยงมลภาวะแน่ ๆ ส่วนคนที่ยังไม่เป็นก็สมควรเลี่ยงเช่นกัน
โรคอื่น ๆ ก็พบมีความสัมพันธ์กัน แต่ว่าบางข้อมูลก็ไม่ชัด บางข้อมูลก็ขั้นตอนการเก็บข้อมูลมีอคติมาก บางข้อมูลก็มีตัวแปรปรวนมาก บางข้อมูลก็เห็นความสัมพันธ์ชัดเจน ได้แก่โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคระบบประสาท บางทีหัวข้อข่าวกล่าวว่า มลภาวะทางอากาศทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ พอลงไปดูในรายละเอียดที่อ้างอิง พบว่าเก็บมาจากกลุ่มคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว และคนแข็งแรงมาไล่ข้อมูลย้อนหลังเทียบสองกลุ่มกัน หรือเก็บข้อมูลแล้วเป็นจริงชัดเจนเฉพาะในกลุ่มคนที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมาแล้วหรือเสี่ยงมาก ๆ เท่านั้น
แนวโน้มโดยรวมและส่วนใหญ่ ออกมาว่ามลภาวะทางอากาศทำให้โรคเดิมแย่ลง
**** ถึงข้อมูลจะยังไม่หนักแน่นชัดเจนว่าเกิดโรคชัด ๆ แต่ก็มีน้ำหนักพอที่จะบอกว่าควรหลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ ****
ยังจำเป็นต้องอาศัยการวิจัยอีกมาก ด้วยข้อแปรปรวนมากมาย เช่นบอกว่าสัมผัสมลภาวะนาน ๆ แล้วก่อโรค นานแค่ไหน ต่อเนื่องตลอดปีหรือบางช่วงของปี คิดปริมาณสะสมหรือไม่ ผลระยะสั้นที่เกิด มันเป็นผลจากมลภาวะโดยตรงหรือจากโรคเดิมที่กำเริบในช่วงนี้พอดี
การป้องกันฝุ่นโดยวิธีนั้นหรือวิธีนี้ สามารถลดปริมาณฝุ่นลงได้กี่เท่ากี่เปอร์เซนต์ แล้วไอ้ที่กันฝุ่นได้เท่านั้นเท่านี้ มันลดโรคได้มากน้อยเท่ากันหรือไม่
**** ถึงข้อมูลยังจะต้องวิจัยเพิ่มอีกมาก แต่เท่าที่มีในปัจจุบันก็เพียงพอที่จะบอกว่าควรป้องกันมลภาวะทางอากาศ ****
ข้อมูลคงจะไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาแน่นอนในอีกสองถึงสามปีนี้ หลาย ๆ เมืองประสบปัญหานี้ เป็นโอกาสที่จะศึกษาวิจัย เราจะมีข้อมูลมากขึ้น อย่าไปคาดหวังการศึกษาแบบทดลองเพราะถ้าให้แบ่งกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุมสูดอากาศบริสุทธิ์หรือใส่อุปกรณ์ป้องกันเต็มที่ ส่วนกลุ่มทดลองให้สูดฝุ่น PM 2.5 หากผมเป็นคณะกรรมการวิจัยผมคงไม่ให้ผ่านจริยธรรมแน่ ๆ ข้อมูลจะน่ามาจากการศึกษาแบบเฝ้าดูเฝ้าสังเกตในกลุ่มต่าง ๆ และจากการทดลองในสัตว์ทดลอง การตัดชิ้นเนื้อ การชันสูตร ซึ่งยอมรับได้ในการพิสูจน์ความสัมพันธ์การเกิดโรค
การสะสมเงิน เราสะสมวันละน้อยต่อเนื่องสักวันเราก็รวย การหลีกเลี่ยงสารอันตราย เราก็ควรทำทุกวันต่อเนื่องเช่นกัน จึงจะลดการสะสมในระยะยาวได้ ให้โอกาสนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาเรื่องการดูแลตัวเองให้หลีกหนีมลภาวะ ร่วมด้วยช่วยสังคมในการลดมลภาวะ และฝากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เมื่อฝุ่นมันตกตะกอนนอนก้น ก็ต้องป้องกันไม่ให้มันฟุ้งมาอีกนะครับ
ห่วงใยคนกรุง ...จากลุงใจดี
วังน้ำเขียวที่นี่....อากาศดี๊ดี ชื่นนนนจายยยยย
นำมาฝากสำหรับคนที่ต้องการหาข้อมูลของ air pollution ในขณะนี้ สองวารสารรีวิวนี้เขียนได้ดี อ่านง่าย และมีอ้างอิงที่สามารถโยงไปหาการศึกษาที่ใช้เขียนรีวิวสองฉบับนี้
ปัจจัยที่ส่งผลต่อ COPD มีเรื่องในเรื่องมลภาวะทางอากาศ ที่เป็นที่มาของคำแนะนำใน GOLD guideline ...ฟรี
https://www.atsjournals.org/…/f…/10.1164/rccm.200811-1757ST…
สรุปผลของ air pollution ต่อระบบต่าง ๆ สรุปรวมกันของสมาคมทางเดินหายใจอเมริกาและยุโรป..ฟรี
https://erj.ersjournals.com/…/2016/12/19/13993003.00419-2016
อันนี้ข้อมูลสิบปีของอัตราการเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศ...ฟรี
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa1702747

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น